นโยบายจอมพล ป. ให้ผู้หญิงเป็นทหาร พร้อมตั้งค่ายทหารหญิง กรมทหารหญิง

ว่าที่ร้อยตรีจันทนี นักเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรก ขณะรับกระบี่จากจอมพล ป. (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม)

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้นโยบายชาตินิยมและทหารนิยมในการปกครองประเทศ ทำให้กองทัพกลายเป็นกลไกหลักในการนำพาความภาคภูมิมาสู่บ้านเมือง ด้วยการทวงคืนดินแดนที่สูญเสียให้กับฝรั่งเศสกลับคืนมา พร้อมกับการปลุกเร้าประชาชนให้เกิดความภาคภูมิในชาติ และแนวคิดชาตินิยม

ในส่วนของกองทัพนั้น แนวคิดทหารนิยมที่ จอมพล ป. ใช้ปกครองประเทศ ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงกลุ่มผู้ชายเท่านั้น ทว่ายังมุ่งหมายให้ผู้หญิงรักและสนับสนุนทหารเช่นเดียวกัน อันนำไปสู่ถือกําเนิดของ “กรมทหารหญิง” ซึ่ง เทพ บุญตานนท์ ได้อธิบายไว้ใน “ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” (สนพ.มติชน, มีนาคม 2565) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

กรมทหารหญิง

นอกจากการปลูกฝังแนวคิดเรื่องชาตินิยมและทหารนิยมให้แก่ยุวชนชายผ่านการเป็นยุวชนทหารแล้ว จอมพล ป. ซึ่งต้องการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทหารยังก่อตั้งกรมทหารหญิงขึ้นใน พ.ศ. 2485 ด้วย อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นกองทัพไทย ยังไม่เคยมีทหารหญิงเข้าประจําการ อีกทั้งยังไม่เปิดรับให้ผู้หญิงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายสิบ

แผนการทั้งหมดจึงเริ่มต้นด้วยการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยสําหรับผู้หญิงขึ้นก่อนใน พ.ศ. 2485 เพื่อผลิตนายทหารหญิง พร้อมกันนี้รัฐบาลยังได้ก่อตั้งโรงเรียนนายสิบหญิงสําหรับผลิตทหารชั้นประทวนหญิงเข้าประจําการในกองทัพไทย [1]

ข้อกําหนดพื้นฐานสําหรับผู้หญิงที่จะสมัครเรียนโรงเรียนนายร้อยหญิงนั้นมุ่ง สมรรถภาพทางร่างกายเป็นสําคัญ โดยจะต้องเป็นผู้หญิงที่มีอายุ 18-24 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีร่างกายแข็งแรง หุ่นดี ยังไม่แต่งงาน และถือสัญชาติไทย เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่จอมพล ป. ให้ความสําคัญและต้องการใช้นโยบายดังกล่าวเพื่อส่งเสริมทั้งอํานาจทางการเมืองและการทหาร ทําให้การควบคุมดูแลโรงเรียนนายร้อยหญิงขึ้นตรงกับจอมพล ป. [2]

นักเรียนนายร้อยหญิงทุกนายจะต้องเข้ารับการศึกษาเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนขึ้นไปก่อนออกไปประจําการ โดยปีแรกนั้นจะมุ่งเน้นการเรียนการสอนภาคทฤษฎี และการส่งเสริมความแข็งแกร่งของร่างกายเป็นหลัก ดังนั้นนักเรียนนายร้อยหญิงจึงต้องเรียนวิชายุทธวิธีสงคราม จิตวิทยา สุขอนามัย และจริยธรรม เป็นต้น ขณะที่วิชายูโด ต่อยมวย ว่ายน้ำ และฟันดาบ ได้ถูกกําหนดให้เป็นวิชาที่นักเรียนนายร้อยหญิงจะต้องเรียนเช่นกันเพื่อการฝึกฝนร่างกาย [3] หลังจากผ่านพ้นปีแรกแล้ว การเรียนการสอนภาคปฏิบัติจะเริ่มต้นขึ้น โดยนักเรียนเหล่านี้จะต้องเรียนการยิงปืนประเภทต่างๆ ทั้งปืนสั้นและปืนกลๆ [4]

เฉกเช่นนักเรียนนายร้อยชาย เมื่อนักเรียนนายร้อยหญิงสําเร็จการศึกษา จะมีพิธีมอบประกาศนียบัตรและกระบี่ให้แก่นักเรียนนายร้อยหญิง โดยมีจอมพล ป. ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดและท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของจอมพล ป. และนายพันโทของกองทัพบก เป็นผู้มอบกระบี่ให้แก่นักเรียนนายร้อยหญิงที่สําเร็จการศึกษาและจะเข้าประจําการที่กองพันสุรนารี กรมสุริโยทัย ซึ่งสถาปนาขึ้นมาเพื่อเป็นกองพันสําหรับทหารหญิงโดยเฉพาะ [5]

แม้จะเป็นนโยบายของจอมพล ป. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอํานาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศขณะนั้น แต่ก็มีคนจํานวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยหญิง และวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยหญิงที่ใช้เวลาเข้ารับ การศึกษาและการฝึกเพียง 1 ปี 6 เดือนก่อนออกประจําการ ขณะที่นักเรียนนายชายต้องเข้ารับการศึกษาและการฝึกถึง 5 ปี ตามหลักสูตรการศึกษา

ซึ่งเมื่อออกไปรับราชการแล้ว นายทหารใหม่ทั้งหญิงและชายที่สําเร็จการศึกษาจากโรงเรียนายร้อยต่างได้รับเงินเดือน เดือนละ 80 บาทเท่ากัน ญาติของนักเรียนนายร้อยชายจำนวนหนึ่งจึงมองว่านโยบายดังกล่าวนั้นไม่ยุติธรรมสําหรับนักเรียนนายร้อยชาย

อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. และกองทัพไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวและยังคงให้นักเรียนนายร้อยหญิงเข้ารับการศึกษาและการฝึกเพียง 1 ปี 6 เดือนก่อนออกประจําการเช่นเดิม [6]

ด้วยคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่ต้องสําเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขณะที่เวลานั้นมีเพียงผู้หญิงในตระกูลผู้ดีเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับดังกล่าวได้ ทําให้หลังก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยหญิงขึ้น ผู้หญิงจํานวนมากที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติขั้นพื้นฐานได้เขียนจดหมายอ้อนวอนมายังกระทรวงกลาโหม เพื่อขออนุโลมให้ตนได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยหญิง แม้จะไม่สําเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

หนึ่งในจดหมายที่ส่งมาเป็นของทองเชื้อซึ่งอาศัยอยู่ที่บางลําจาก พื้นที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ทองเชื้อได้เล่าถึงความฝันของตนที่ต้องการเป็นทหารตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยข้อจํากัดเรื่องระดับการศึกษาทําให้เธอไม่สามารถสมัครเรียนโรงเรียนนายร้อยได้ ด้วยเหตุนี้ ทองเชื้อจึงต้องการให้กระทรวงกลาโหมอนุญาตให้เธอสมัครเรียนโรงเรียนนายร้อยหญิงเป็นกรณีพิเศษ [7]

จดหมายอีกฉบับหนึ่งจากนางสาวบุญล้อมซึ่งส่งตรงไปยังจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคือจดหมายขออนุญาตให้เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อย โดยไม่ต้องผ่านการสอบ เนื่องจากต้องการรับใช้ชาติ [8]

สิ่งที่น่าสนใจคือกระทรวงกลาโหมไม่ได้เพิกเฉยหรือโยนจดหมายเหล่านี้ทิ้ง แต่กลับส่งจดหมายต่อถึงปลัดกระทรวงกลาโหมเพื่อให้ตัดสินใจในกรณีดังกล่าว ทว่ากระทรวงกลาโหมก็ไม่มีจดหมายรายงานกลับมายังรัฐบาลแต่อย่างใด เป็นไปได้ว่ากระทรวงกลาโหมไม่อนุญาตให้ทั้งคู่ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยหญิงตามความต้องการ เพราะชื่อของคนทั้งคู่ก็ไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อนักเรียนนายร้อยหญิงในปีนั้น [9]

สุดท้ายแล้วจากผู้สมัครจํานวน 500 คน มีผู้หญิงที่ผ่านการสอบและสัมภาษณ์จํานวน 28 คน ได้เข้าศึกษายังโรงเรียนนายร้อยหญิงใน พ.ศ. 2486 ซึ่งหนึ่งในนั้น คือจีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรสาวของจอมพล ป. ซึ่งเดิมทีนั้นศึกษาอยู่ ณ วิทยาลัย โกเชอร์ (Goucher College) เมืองบัลติมอร์ (Baltimore) ประเทศสหรัฐอเมริกา ทว่าหลังประเทศไทยประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะพันธมิตรของญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2485 จอมพล ป. จึงให้จีรวัสส์เดินทางกลับ ประเทศไทยเสียก่อนที่จะสําเร็จการศึกษา ในเวลาต่อมาจีรวัสส์จึงได้ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยหญิง [10]

ในเวลาเดียวกัน กองทัพได้ก่อตั้งโรงเรียนนายสิบหญิงขึ้นที่สวนจิตรลดา เพื่อผลิตทหารชั้นประทวนผู้หญิง โดยเป็นหลักสูตรหนึ่งตามหลักสูตรโรงเรียนนายสิบของผู้ชาย ปีแรกที่เปิดรับนักเรียนนายสิบนั้นมีผู้เข้ารับการศึกษาทั้งสิ้น 85 คน โดยต้องเรียนภาคทฤษฎีที่สวนจิตรลดา และไปฝึกภาคปฏิบัติที่ค่ายสมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ทว่าจากนักเรียนจำนวน 85 คน ที่เข้ารับการศึกษาในวันแรกปรากฏว่าสำเร็จการศึกษาเป็นนายสิบหญิงแห่งกองทัพบกไทยรุ่นแรก 76 นาย โดยได้เข้าประจำการที่กรมสุริโยทัยในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2487 [11]

เมื่อผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่ผ่านการคัดเลือก หรือไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่จะเรียนในโรงเรียนนายร้อยหญิง ดังกรณีของทองเชื้อ ได้ขอร้องให้กระทรวงกลาโหมอนุญาตให้พวกเธอสมัครเป็นพลทหาร [12] กองทัพจึงได้ก่อตั้งกรมทหารหญิงขึ้นและได้เปิดรับสมัครผู้หญิงที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาทั้งจาโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายสิบมาเป็นพลทหารประจำกรมทหารหญิง โดยทหารหญิงที่อาสามารับใช้ชาติเหล่านี้จะต้องผ่านการฝึกทางทหารและเข้าประจำการเป็นเวลา 2 ปี เช่นเดียวกับทหารเกณฑ์ผู้ชาย

เพื่อสร้างแรงจูงใจและโน้มน้าวให้ผู้หญิงสมัครเป็นพลทหาร รัฐบาลได้ให้สิทธิพิเศษแก่ทหารหญิงที่ปลดออกมาเป็นทหารกองหนุน โดยรัฐบาลจะพิจารณารับทหารกองหนุนเหล่านี้เข้ารับราชการก่อนผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นทหารกองหนุน หรือหากเป็นข้าราชการอยู่แล้วก็ขอให้พิจารณาเลื่อนขั้นก่อนผู้หญิงที่ไม่เคยเป็นทหาร นอกจากนี้เมื่อมีการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนชั้นราชการก็จะให้เพิ่มคะแนนสอบสัมภาษณ์ 10 คะแนน ให้แก่ข้าราชการที่เป็นทหารกองหนุนด้วย [13]

เนื่องจากกรมทหารหญิงเป็นนโยบายที่จอมพล ป. ให้ความสำคัญเป็นการส่วนตัว กองทัพบกจึงสนับสนุนงบประมาณและยุทโธปกรณ์ให้เป็นกรณีพิเศษ โดยเริ่มจากการปรับปรุงพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรีให้เป็นกองบัญชาการของกรมสุริโยทัย นอกจากนี้ กองทัพบกยังได้จัดหายุทโธปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ ตามที่ผู้บังคับการกรมสุริโยทัยขอ รวมไปถึงการสร้างอาคารแห่งใหม่สำหรับหน่วยทหาร [14]

อย่างไรก็ตาม กรมทหารหญิง โรงเรียนนายร้อยหญิง และโรงเรียนนายสิบหญิงก็ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลชุดใหม่ที่ขึ้นมาปกครองในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2487 หลังจาก ที่จอมพล ป. ลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี [15] ด้วยเหตุนี้ทหารหญิงทุกนายจึงถูกปลดประจําการ ยกเว้นนายทหารหญิงบางนายที่อยู่ในราชการทหารต่อมา เช่น องุ่น คงศักดิ์ โดยทหารหญิงนายอื่นๆ ได้โอนย้ายไปรับราชการกระทรวงอื่นต่อไป [16]

แม้โรงเรียนนายร้อยหญิงจะมีนักเรียนสําเร็จการศึกษาเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น และถูกปลดประจําการอย่างรวดเร็วโดยรัฐบาลชุดใหม่จนยากจะประเมินว่าแผนการ ของจอมพล ป. ครั้งนี้ประสบความสําเร็จมากน้อยเพียงใด แต่จํานวนผู้หญิงที่สมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรกที่มากถึง 500 คน และจดหมายขอร้องให้รับพวกเธอเข้าเป็นทหาร ก็อาจแสดงให้เห็นได้ว่าความปรารถนาของจอมพล ป. ในการปลูกฝังความรู้สึกรักและชื่นชมทหารน่าจะสําเร็จผลอยู่บ้าง เพราะมีคนจํานวนไม่น้อยให้การสนับสนุนและยินดีที่จะปฏิบัติตามนโยบายทางทหารเหล่านี้

เชิงอรรถ

[1] หจช., บก.5/193 ประวัติโรงเรียนนายสิบหญิง, 22 มกราคม พ.ศ. 2486

[2] หจช., (2) สร.0201.4/34 นักเรียนนายร้อยหยิง และทหารหยิง, 1 กันยายน พ.ศ. 2485.

[3] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บรรณาธิการ, “อยากลืมกลับจํา” สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป.: ชีวิต ความผันผวน และความทรงจําของจีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม, น. 113-114.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 123

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 126.

[6] หจช., สร.0201.40/1591 นายสนั่น ลือไชยกล่าวว่ามีคนครหานินทา การตั้งโรงเรียนนาย ร้อยหญิง, 11 กันยายน พ.ศ. 2485.

[7] หจช., (2) สร.0201.4/34 นักเรียนนายร้อยหยิง และทหารหยิง, 1 กันยายน พ.ศ. 2485

[8] หจช., (2) สร.0201.4/34 นักเรียนนายร้อยหยิง และทหารหยิง, 15 กันยายน พ.ศ. 2485

[9] เรื่องเดียวกัน.

[10] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บรรณาธิการ, “อยากลืมกลับจํา” สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป.: ชีวิต ความผันผวน และความทรงจําของจีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม, น. 127.

[11] หจช., บก.5/193 ประวัติโรงเรียนนายสิบหญิง, 22 มกราคม พ.ศ. 2486.

[12] หจช., (2) สร.0201.4/34 นักเรียนนายร้อยหยิง และทหารหยิง, 1 กันยายน พ.ศ. 2486.

[13] หจช., (2) สร.0201.4/34 นักเรียนนายร้อยหยิ่ง และทหารหยิง, 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2486.

[14] หจช., (2) สร.0201.4/34 นักเรียนนายร้อยหยิง และทหารหยิง, 24 มีนาคม พ.ศ. 2486.

[15] หจช., บก.5/193 ประวัติโรงเรียนนายสิบหญิง, 22 มกราคม พ.ศ. 2486.

[16] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บรรณาธิการ, “อยากลืมกลับจํา” สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป. ชีวิต ความผันผวน และความทรงจําของจีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม, น. 127.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2565