25 ธันวาคม 1991 กอร์บาชอฟลาตำแหน่ง ปธน. “สหภาพโซเวียต” ล่มสลาย

มิคาอิล กอร์บาชอฟ กับ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ลงนาม เอกสาร ทวิภาคี 1990 ก่อน สหภาพโซเวียต ล่มสลาย ใน ปีต่อมา
มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ซ้าย) และ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (ขวา) ลงนามในเอกสารทวิภาคีระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของกอร์บาชอฟ ปี 1990 (ภาพโดย Russian International News Agency ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC-BY-SA 3.0)

25 ธันวาคม ค.ศ. 1991 มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี “สหภาพโซเวียต” ส่งผลให้ สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Socialist Republics – USSR) ปิตุภูมิแห่ง “สังคมนิยม” ล่มสลายลงอย่างถาวร

สหภาพโซเวียต คือการรวมตัวกันของรัฐที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยมในภูมิภาคยูเรเซีย โดยมีรัสเซียเป็นผู้นำ ภายหลังพวกเขาประสบความสำเร็จในการโค่นล้มระบอบซาร์เมื่อปี 1917 ถือเป็นประเทศคอมมิวนิสต์แห่งแรกของโลก

Advertisement

ช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฮิตเลอร์เพลี่ยงพล้ำ กองทัพแดงของโซเวียตทำลายกองทัพนาซีจนย่อยยับในสงครามโต้กลับ โซเวียตปลดปล่อยยุโรปตะวันออกจากพวกนาซีและแทนที่ด้วยระบอบสังคมนิยม เกิดเป็น “ม่านเหล็ก” อันตึงเครียดระหว่างโลกทุนนิยมกับโลกสังคมนิยมตลอดช่วงสงครามเย็น (ทศวรรษ 1940-1980) และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ที่สุด ในเหตุการณ์วิกฤตขีปนาวุธคิวบา ปี 1962

ปี 1985 มิคาอิล กอร์บาชอฟ ในวัย 54 ปี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ และกลายเป็นประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต การเป็นผู้นำสูงสุดโซเวียต ณ ขณะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเศรษฐกิจของพวกเขาอยู่ในสภาพซบเซาอย่างหนักจากนโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวดแต่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมบ่มเพาะมาเป็นเวลานาน

กอร์บาชอฟ จึงเสนอแผนการปฏิรูปที่เรียกว่า กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika) หรือนโยบาย “เปิด-ปรับ” เพื่อปรับโครงสร้างและเปิดกว้างเพื่อเปลี่ยนการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของโซเวียตให้ก้าวต่อไปได้ โดยยังคงความเป็นสังคมนิยมอยู่

กอร์บาชอฟ กระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ผู้นำฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตย มากขึ้นตามลำดับ มีการประชุมสุดยอดระหว่างเขากับ โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์และปัญหาสิทธิมนุษยชน

แนวทางของกอร์บาชอฟนำไปสู่การถอนหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากยุโรป ในปี 1989 กำแพงเบอร์ลินก็ถูกทำลาย เยอรมนีตะวันออกและตะวันตกรวมเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้ง ขณะที่เอสโตเนียถอนตัวจากการเป็นประเทศในเครือสหภาพโซเวียต ปลายปีเดียวกันนั้น โซเวียตกับสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการร่วมลงนามประกาศยุติสภาวะสงครามเย็นในยุโรป และนิตยสาร Time ยกย่อง กอร์บาชอฟ ให้เป็น “บุรุษแห่งทศวรรษ”

ปี 1990 ลิทัวเนีย กับ ลัตเวีย แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต โดยกอร์บาชอฟประกาศยอมรับการแยกตัวของ 3 ชาติบอลติก คือ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย ในกลางปีต่อมา สนธิสัญญาต่าง ๆ ที่กอร์บาชอฟลงนามกับสหรัฐอเมริกายังส่งผลให้กำลังของโซเวียตถูกลดทอนลงเรื่อย ๆ และสร้างความไม่สบายใจแก่ฝ่ายขวาในพรรคคอมมิวนิสต์ จนเกิดความพยายามรัฐประหารในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1991 แต่ล้มเหลว

อย่างไรก็ตาม ตลอดครึ่งปีหลังของ ค.ศ. 1991 กอร์บาชอฟเผชิญมรสุมทางการเมืองมากมาย เขาลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ วันที่ 1 ธันวาคม ยูเครนลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนการเป็นเอกราชอันท่วมท้นถึง 90%

8 ธันวาคม บอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีโซเวียตรัสเซีย ร่วมมือกับยูเครนและเบลารุส จัดตั้งเครือรัฐเอกราช ประกาศล้มเลิกสหภาพโซเวียต กระทั่ง 21 ธันวาคม 11 ประเทศในเครือสหภาพโซเวียตก็ร่วมลงนามด้วย โดยกอร์บาชอฟไม่สามารถยับยั้งหรือขัดขวางใด ๆ ได้เลย

25 ธันวาคม ค.ศ. 1991 มิคาอิล กอร์บาชอฟ ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต วันต่อมา สภาสูงแห่งโซเวียตให้การยอมรับเอกราชของ 15 รัฐที่เคยสังกัดโซเวียต ถือเป็นการสิ้นสุดสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ

เช้าวันรุ่งขึ้น ธงแดงรูปค้อนกับเคียว สัญลักษณ์ที่ทรงพลังอำนาจและมีอิทธิพลสูงต่อการเมืองโลกอยู่หลายทศวรรษ ถูกเชิญลงจากเสาที่พระราชวังเครมลิน ที่ทำการรัฐบาลกลางของโซเวียตภายในกรุงมอสโก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บุตรแห่งกอนโดลิน, silpa-mag.com. เปิดไทม์ไลน์ ยุคสมัยของ “กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2566. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_92185

สัญชัย สุวังคบุตร และอนันตชัย เลาหะพันธุ. (2555). ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2566