19 พฤษภาคม 1536 “แอนน์ โบลีน” ราชินีอังกฤษถูกประหาร

ประหาร แอนน์ โบลีน 19 พฤษภาคม
ภาพวาด การประหารชีวิต แอนน์ โบลีน

19 พฤษภาคม 1536 : “แอนน์ โบลีน” ราชินีอังกฤษถูกประหาร

แอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) เกิดเมื่อปี 1507 ส่วนวันที่เท่าไหร่ไม่มีบันทึกที่แน่ชัด เธอเป็นบุตรของเซอร์โธมัส โบลีน (Thomas Boleyn) ซึ่งภายหลังได้เป็น เอิร์ลแห่งวิลต์เชียร์และออร์มอนด์ (Earl of Wiltshire and Ormonde)

แอนน์ โบลีน ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในวัยเด็กที่ฝรั่งเศส ก่อนเดินทางกลับอังกฤษในปี 1522 และเข้ารับใช้ในราชสำนักของ กษัตริย์เฮนรีที่ 8 (Henry VIII) ความงามของเธอทำให้มีหลายคนหลงใหล แม้กระทั่งกษัตริย์เฮนรีเองที่ทรงสมรสแล้วกับแคเธอรีนแห่งอารากอน (Catherine of Aragon) พระชายาที่มีอายุมากกว่าพระองค์ 6 พรรษา แต่ทรงเป็นพระธิดาของราชวงศ์ที่ทรงอำนาจที่สุดในยุโรปยุคนั้น [แคเธอรีนแห่งอารากอนเป็นพระธิดาองค์เล็กของกษัตริย์เฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอน (Ferdinand II of Aragon) กับ ราชินีอิซาเบลลาที่ 1 แห่งคาสติล (Isabella I of Castile)]

ภาพวาด แอนน์ โบลีน
ภาพของแอนน์ โบลีน ราชินีองค์ที่สองของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 โดย Hans Holbein the Younger (1497/1498–1543) [Public domain], via Wikimedia Commons
เดิมแอนน์ โบลีน ได้หมั้นหมายไว้กับลอร์ดเฮนรี เพอร์ซี (Lord Henry Percy) แต่กษัตริย์เฮนรีได้เข้าขัดขวาง โดยให้พระคาดินัลด์วอลซี (Cardinal Wolsey) ประกาศให้การหมั้นหมายของทั้งสองตกเป็นโมฆะ

แต่ความรักของกษัตริย์เฮนรียังมีอุปสรรคสำคัญคือการที่พระองค์ทรงสมรสแล้ว และการหย่าในสมัยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พระองค์ต้องได้รับการยินยอมจากสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกด้วย

เหตุผลสำคัญที่กษัตริย์เฮนรีต้องการหย่ากับราชินีแคเธอรีน คือการที่พระนางไม่สามารถให้กำเนิดทายาทเป็นโอรสได้ แต่สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 (Clement VII) ก็ทรงบอกปัดฎีกาของกษัตริย์เฮนรีมาโดยตลอด ด้วยแรงกดดันจากจักรพรรดิชาลส์ที่ 5 (Charles V) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (พระองค์ทรงสืบทอดบัลลังก์แห่งอาณาจักรสเปนและดินแดนในครอบครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก)

แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ความรักที่ถูกขวางกั้นด้วยจารีตประเพณียิ่งทำให้แรงปรารถนาของกษัตริย์เฮนรีพลุ่งพล่าน พระองค์ทรงแอบสมรสอย่างลับๆ กับแอนน์ โบลีน ช่วงปลายเดือนมกราคม 1533 ก่อนมีการประกาศในช่วงอีสเตอร์ปีเดียวกัน (ราวปลายเดือนมีนาคมต้นเดือนเมษายน) จากนั้นในวันที่ 23 พฤษภาคม กษัตริย์เฮนรีได้ให้อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี โธมัส แครนเมอร์ (Thomas Cranmer) ประกาศให้การสมรสของพระองค์กับราชินีแคเธอรีน ตกเป็นโมฆะ เท่ากับการสมรสของทั้งสองพระองค์เสียเปล่ามาแต่ต้น

ทั้งนี้ แคเธอรีนแห่งอารากอน เคยสมรสกับเจ้าชายอาเธอร์ (Prince Arthur) โอรสองค์โตของกษัตริย์เฮนรีที่ 7 เมื่อเจ้าชายอาเธอร์สิ้นพระชนม์ แคเธอรีนจึงสมรสกับเจ้าชายเฮนรี โอรสองค์ที่สองของกษัตริย์เฮนรีที่ 7 ซึ่งภายหลังได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เฮนรีที่ 8

ภาพเขียนสีน้ำมันของ กษัตริย์เฮนรีที่ 8 โดย Hans Holbein, the Younger (1497/1498–1543) [Public domain], via Wikimedia Commons
ภาพเขียนสีน้ำมันของ กษัตริย์เฮนรีที่ 8 โดย Hans Holbein, the Younger (1497/1498–1543) [Public domain], via Wikimedia Commons
กษัตริย์เฮนรีที่ 8 จึงอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบกับบัญญัติตามคัมภีร์ไบเบิลในส่วนพันธสัญญาเก่า (เลวีนิติ 20:21) ที่ระบุว่า ถ้าชายใดเอาเมียของพี่ชายหรือน้องชายไปเป็นเมียตน ผู้นั้นต้องตายโดยไร้ทายาท บุคคลนั้นได้ทำเรื่องอันเป็นมลทินและสร้างความอัปยศต่อพี่หรือน้องตนเอง” ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงอ้างว่าการสมรสครั้งแรกของพระองค์ถือเป็นการขัดต่อประสงค์ของพระเจ้า จึงทำให้การสมรสในครั้งนั้นตกเป็นโมฆะ

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังนำไปสู่การแยกตัวจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก กษัตริย์เฮนรี ทรงออกพระราชบัญญัติว่าด้วยพระราชอำนาจสูงสุดหรือ “Act of Supremacy” ซึ่งทำให้พระองค์มีสถานะเป็นประมุขศาสนจักรแห่งอังกฤษ

แต่ความพยายามของกษัตริย์เฮนรีในการสมรสกับแอนน์ โบลีน ด้วยหวังจะมีทายาทเป็นพระโอรสกลับสูญเปล่า เมื่อเดือนกันยายน 1533 ราชินีแอนน์ทรงให้กำเนิดทายาทเป็นพระธิดา (ซึ่งภายหลังได้ขึ้นครองราชย์เป็น ราชินีอลิซาเบ็ธที่ 1) ทำให้กษัตริย์เฮนรีเริ่มมีพระทัยออกห่าง พอถึงปี 1534 ราชินีแอนน์ทรงแท้งลูก การพยายามมีพระราชโอรสจึงเป็นความหวังเดียวที่ช่วยรักษาสถานะของพระองค์ไว้ได้ แต่ในเดือนมกราคม 1536 พระโอรสที่น่าจะช่วยราชินีแอนน์ได้ กลับสิ้นพระชนม์ตั้งแต่แรกประสูติ

ความถือพระองค์ของราชินีแอนน์ ทำให้พระองค์ไม่ได้รับความนิยมในราชสำนักมาแต่แรก และเมื่อพระองค์ไม่อาจให้กำเนิดพระโอรสได้ ยิ่งทำให้สถานะของพระองค์เสื่อมทรามอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่เดือนหลังทรงแท้งพระโอรส กษัตริย์เฮนรีทรงบีบให้พระองค์รับสารภาพว่า ทรง “ทำชู้” กับชายมากหน้าหลายตา รวมถึงกับพี่น้องร่วมอุทรของพระองค์เอง คดีของพระองค์ถูกไต่สวนในศาลต่อหน้าคณะลูกขุน ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พระองค์มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา

ราชินีแอนน์ ทรงถูกลงโทษด้วยการตัดศีรษะในวันที่ 19 พฤษภาคม 1536 ซึ่งนักประวัติศาสตร์มองว่าโอกาสที่ราชินีแอนน์จะทรงมีความผิดจริงตามข้อกล่าวหานั้นมีน้อย แต่เชื่อว่าความผิดของพระองค์น่าจะเป็นผลมาจากการแย่งชิงอำนาจในราชสำนักมากกว่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

Encyclopedia Britannica


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2560