กำเนิด “ราชวงศ์วินเซอร์” แห่งอังกฤษ เหตุใดจึงมีเชื้อสายเยอรมัน?

พระเจ้าจอร์จที่ 2 นำกองทัพอังกฤษเข้าร่วมสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย, วาดโดย Pierre L'Enfant (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ราชวงศ์วินเซอร์ (House of Windsor) ของอังกฤษในปัจจุบัน ไม่ใช่ราชวงศ์ที่มีเชื้อสายอังกฤษแต่ดั้งเดิม เพราะแท้ที่จริงแล้ว ราชวงศ์วินเซอร์มีความสืบเนื่องจากราชวงศ์แฮโนเวอร์ ซึ่งมีเชื้อสายเยอรมัน

ราชวงศ์แฮโนเวอร์ (House of Hanover) ราชวงศ์เชื้อสายเยอรมันที่ปกครองอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1714-1901 ต่อจากราชวงศ์สจวต (House of Stuart) ราชวงศ์เชื้อสายสกอตแลนด์ โดยกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์สจวต คือ สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ (Anne, ครองราชย์ 1665-1714) เมื่อพระนางสวรรคตโดยไร้รัชทายาท จึงมีการอัญเชิญเชื้อพระวงศ์สายเยอรมันให้มาเป็นประมุขแห่งอังกฤษ

สืบเนื่องจาก ค.ศ. 1701 สภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายผู้สืบราชบัลลังก์ (Act of Settlement) ว่ากษัตริย์อังกฤษต้องเป็นโปรเตสแตนท์เท่านั้น กฎหมายนี้ตัดสิทธิ์พระราชโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 และเชื้อพระวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งราชวงศ์สจวตทันที เนื่องจากนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกทั้งสิ้น

ลำดับรัชทายาทสืบราชบัลลังก์จึงตกไปสู่พระนางโซเฟียแห่งพาลาทิเนต (Sophia of the Palatinate) พระราชนัดดา (หลาน) ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจวต แต่ปรากฏว่าพระนางโซเฟียสิ้นพระชนม์ก่อนสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ตำแหน่งจึงสืบต่อไปยังพระโอรสองค์โตของพระนางโซเฟีย คือ จอร์จ หลุยส์ อิเล็กเตอร์แห่งแฮโนเวอร์ (George Louis, the Elector of Hanover)

และเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์สวรรคต ราชบัลลังก์อังกฤษจึงตกเป็นของเจ้าชายแห่งเยอรมันผู้นี้ และได้สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าจอร์จที่ 1 (George I) แห่งราชวงศ์แฮโนเวอร์ ใน ค.ศ. 1714

ภาพเหมือนพระเจ้าจอร์จที่ 1, ปี 1720 โดย Georg Wilhelm Lafontaine (ภาพจาก Wikimedia Commons)

กษัตริย์ราชวงศ์แฮโนเวอร์จึงดำรงพระอิสริยยศทั้งประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและราชรัฐแฮโนเวอร์อันเป็นดินแดนในเยอรมัน โดยระหว่าง ค.ศ. 1714-1814 ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้เลือกหรืออิเล็กเตอร์แห่งแฮโนเวอร์ (Electors of Hanover) ส่วน ค.ศ. 1814-1837 เมื่อสถาปนาจากราชรัฐเป็นอาณาจักรแฮโนเวอร์ (Kingdom of Hanover) ก็ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ของอาณาจักรแห่งนี้ไปพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย (Victoria, ค.ศ. 1837 – 1901) เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ของอาณาจักรแฮโนเวอร์ไม่อนุญาตให้ราชนารีสืบราชสมบัติได้ บัลลังก์และตำแหน่งประมุขของอาณาจักรแฮโนเวอร์จึงตกไปเป็นของ เออร์เนสต์ ออกัสตัส (Ernest Augustus) ราชวงศ์แฮโนเวอร์ที่นำโดยสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียจึงปกครองแต่เพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้น

ระบบคณะรัฐมนตรี

ระบอบประชาธิปไตยอังกฤษในยุคราชวงศ์แฮโนเวอร์ได้พัฒนาไปอีกขั้น เกิดระบบคณะรัฐมนตรี (Cabinet System) จากการที่กษัตริย์อังกฤษราชวงศ์แฮโนเวอร์ 2 พระองค์แรก คือ พระเจ้าจอร์จที่ 1 และพระราชโอรสคือ พระเจ้าจอร์จที่ 2 (George II, ครองราชย์ 1727–1760) ทรงผูกพันธ์กับราชรัฐแฮโนเวอร์อย่างมาก เพราะเสด็จพระราชสมภพในดินแดนเยอรมัน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในดินแดนเยอรมัน จึงทรงมีความเป็นชาวเยอรมันมากกว่าชาวอังกฤษ

โดยเฉพาะพระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้และไม่เข้าใจระบบการเมืองของอังกฤษ ทรงตั้งพระทัยว่าจะไม่เล่นเกมการเมืองและเลือกที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับรัฐสภาอังกฤษ อำนาจการบริการแผ่นดินจึงเป็นหน้าที่ของคณะเสนาบดี สภาอังกฤษยังเอื้อประโยชน์ด้วยการยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของกษัตริย์ที่แต่เดิมต้องให้สภาอนุญาต กลายเป็นเดินทางได้โดยเสรีใน ค.ศ. 1716 พระเจ้าจอร์จที่ 1 จึงมีอิสระในการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด

โรเบิร์ต วอลโพล (Robert Walpole) เสนาบดีกระทรวงการคลังจากพรรคแรงงาน เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการช่วงต้นราชวงศ์แฮโนเวอร์ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตก หรือ South Sea Bubble ใน ค.ศ. 1720 โรเบิร์ต วอลโพลดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 20 ปี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าจอร์จที่ 1 ถึงสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 2 ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรี (Prime Minister) คนแรกของอังกฤษ ดุลอำนาจในการบริหารแผ่นดินจึงค่อย ๆ โยกมาอยู่ฝั่งสภามากกว่าฝั่งสถาบันกษัตริย์นับแต่นั้น

สงครามไม่พึงปรารถนา

ตำแหน่งเจ้าผู้เลือก (Prince-elector) ของราชวงศ์แฮโนเวอร์ที่มีสิทธิในการเลือกจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 1 และพระเจ้าจอร์จที่ 2 สนใจกับการเมืองในภาคพื้นทวีปยุโรปมากกว่าการเมืองภายในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะหลังจากพระเจ้าจอร์จที่ 1 สวรรคคตใน ค.ศ. 1727 พระเจ้าจอร์จที่ 2 ที่ครองราชย์ต่อแม้ไม่มีความเป็นเยอรมันเท่าพระราชบิดาและสามารถรับสั่งภาษาอังกฤษได้ แต่ด้วยความเป็นนักการทหาร พระองค์ทรงเข้าร่วมสงครามบนภาคพื้นทวีปยุโรปเพื่อช่วยราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (House of Habsburg) ใน สงครามสืบราชบลลังก์ออสเตรีย (War of the Austrian Succession) ซึ่งเป็นสมรภูมิบนแผ่นดินเยอรมัน

พระเจ้าจอร์จที่ 2 นำทัพออกรบในแนวหน้าอย่างห้าวหาญ แต่ชาวอังกฤษไม่เข้าใจว่าพระองค์จะร่วมสงครามที่ไม่มีประโยชน์นี้ไปทำไม เพราะพวกเขามองว่าความยิ่งใหญ่ของอังกฤษอยู่ในทะเล ไม่ใช่ภาคพื้นทวีปยุโรป

ความปรารถนาของชาวอังกฤษได้รับการตอบสนองในสมัยของ พระเจ้าจอร์จที่ 3 (George III, ครองราชย์ 1760–1820) พระราชนัดดาของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์ราชวงศ์แฮโนเวอร์ที่มีความเป็นอังกฤษมากที่สุดพระองค์แรก ทรงเปลี่ยนนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพื้นทวีปยุโรปไปสู่การนำราชนาวีอังกฤษให้กลายเป็นจ้าวแห่งทะเลตามเจตนารมณ์ของชาวอังกฤษ ด้วยสมัยอันยาวนานของพระองค์ ราชวงศ์แฮโนเวอร์ไม่ถูกมองเป็นราชวงศ์เยอรมันอีกต่อไป กระทั่งสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 4 (George IV, ครองราชย์ 1820–1830) อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งที่สุดของโลก ด้วยการครอบครองพื้นที่ 1 ใน 4 ของโลก

“A Good Riddance” การ์ตูนล้อการเมือง ปี 1917, พระเจ้าจอร์จที่ 5 สละฐานันดรฝั่งเยอรมันของราชวงศ์อังกฤษ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

รีแบรนด์ความเป็นเยอรมัน

หลังสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (Edward VII, ครองราชย์ 1901-1910) พระราชโอรสผู้สืบราชบัลลังก์ทรงใช้นามราชวงศ์ซัคเซอร์-โคบูร์ก โกธา (House of Saxe-Coburg and Gotha) ซึ่งเป็นราชวงศ์ฝั่งพระราชบิดาคือ เจ้าชายอัลเบิร์ด (Prince Albert) แทนที่ราชวงศ์แฮโนเวอร์ ทั้งนี้ ซัคเซอร์-โคบูร์ก โกธา ก็เป็นราชวงศ์เชื้อสายเยอรมันเช่นกัน

พระเจ้าจอร์จที่ 5 (George V, ครองราชย์ 1865–1936) พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และพระราชนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ทรงเลือกที่จะสละฐานันดรศักดิ์และพระอิสริยยศเยอรมันทั้งหมด และยังทรงเปลี่ยนชื่อราชวงศ์มาเป็น ราชวงศ์วินเซอร์  เพื่อลบความเป็นเยอรมันออกจากราชวงศ์อังกฤษ เนื่องจากรัชสมัยของพระองค์ อังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งคู่สงครามของอังกฤษคือเยอรมนี

ราชวงศ์วินเซอร์สืบราชตระกูลและเป็นประมุขของอังกฤษ สหราชอาณาจักร และเครือจักรภพมาจนถึงปัจจุบันในสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II, ครองราชย์ 1952 – 2022) และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลที่ 3 (Charles III, ครองราชย์ 2022)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สัญชัย สุวังคบุตร; อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2562). ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 19. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2560). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2565