ควง อภัยวงศ์ ให้กำเนิด “พรรคประชาธิปัตย์” 5 เม.ย. ก่อนเปลี่ยนเป็น 6 เม.ย.

พรรคประชาธิปัตย์ กับ พระแม่ธรณีบีบมวยผม
พรรคประชาธิปัตย์ มี "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" เป็นสัญลักษณ์ของพรรค (ภาพจากมติชน https://www.matichon.co.th/uncategorized/news_1501776)

วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิด “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งของไทย แต่ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในวันดังกล่าว หากแต่เป็นวันที่ 5 เมษายน ตามคำบอกเล่าของ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก

นายควง กล่าวถึงช่วงก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ใน พ.ศ. 2489 ไว้ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อคุณเสนีย์ ปราโมช ได้พ้นตำแหน่งเอกอัครราชทูตกรุงวอชิงตันหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายทวี บุณยเกตุ และเมื่อได้จัดการทำสัญญาสมบูรณ์แบบกับทางฝ่ายอังกฤษอเมริกาเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งกันใหม่

ในขณะนั้น หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) กับพวกมีความปรารถนาจะให้นายดิเรก ชัยนาม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงคราวเลือกนายกในสภา ฯ เข้า คะแนนเสียงของสมาชิกทั้งประเภท ๑ และประเภท ๒ ส่วนใหญ่มาเลือกข้าพเจ้าเป็นนายก ซึ่งยังความไม่พอใจแก่นายปรีดีและพวกเป็นอย่างมาก แต่นายปรีดีก็มิได้แสดงออกมานอกหน้า

ในสภาเวลานั้นก็มีการเสนอกฎหมายอย่างมากมาย ในจำนวนกฎหมายทั้งหมดที่เสนอนั้น มีกฎหมายปิดป้ายแจ้งราคาสิ่งของ เสนอโดยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ซึ่งต่อมาได้ถูกขนานนามว่า ‘กฎหมายปิดป้ายข้าวเหนียว’

กฎหมายฉบับนี้ของนายทองอินทร์ ฯ ได้ร่างมาเมื่อสมัยได้เป็นรัฐมนตรีร่วมกับข้าพเจ้าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณารอบคอบแล้ว เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาราษฎรอย่างใด แต่กลับจะทำความยุ่งยากให้มากกว่า โดยเฉพาะทางด้านหัวเมือง และนายทองอินทร์ก็ได้ยอมจำนนต่อเหตุผลในครั้งกระนั้น เมื่อมาถึงครั้งที่กล่าวนี้นายทองอินทร์ในนามของพรรคสหชีพกลับเสนอมาใหม่ รัฐบาลข้าพเจ้าได้แพ้คะแนนในขั้นรับหลักการของกฎหมายฉบับนั้น ๒ คะแนน ข้าพเจ้าและคณะก็กราบบังคมลาออกจากตำแหน่ง

ขณะนั้นมีสมาชิกสภา ฯ หลายนายได้ประชุมกันจัดตั้งพรรคขึ้น มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายเลียง ไชยกาล นายปริญญา จุฑามาศ นายสุวิช พันธเศรษฐ นายโชติ คุ้มพันธ์ นายชวลิต อภัยวงศ์ นายอินฑูร วรกุล นายบุญแท่ง ทองสวัสดิ์ (สะกดชื่อตามต้นฉบับ) และนายฟอง สิทธิธรรม เป็นผู้ริเริ่มตั้งพรรค โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เอาพรรคก้าวหน้าของตนมารวมกับพรรคประชาธิปไตยของ ดร. โชติ คุ้มพันธ์ แล้วให้ชื่อว่า ‘พรรคประชาธิปัตย์’

เมื่อได้ร่างข้อบังคับกันขึ้นเรียบร้อยแล้ว จึงพากันมาหาข้าพเจ้าที่บ้านหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ชี้แจงเหตุผลและขอร้องให้ข้าพเจ้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ข้าพเจ้าเองในครั้งกระนั้นยังไม่เลื่อมใสในระบบพรรคการเมืองนัก เพราะเห็นว่า สมาชิกสภาก็ดี ประชาชนก็ดี ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในระบบนี้ เกรงว่ามีระบบพรรคกันไปแล้ว จะยังความไม่ราบรื่นในสภา แต่เมื่อได้มีการตั้งพรรคกันไปบ้างแล้ว เช่น พรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญเป็นต้น กับทั้งกลุ่มนี้มีเจตน์จำนงอันแน่วแน่จะตั้งพรรคกันจริงๆ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ ก็เป็นผู้มีความรู้และคงแก่เรียนกันดี ข้าพเจ้าจึงตกลงใจรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

การประชุมครั้งแรกเราได้ตกลงยืมห้องชั้นล่างตำหนักของพระนางเจ้าสุวัฒนา ฯ เป็นที่ประชุม โดยที่ท่านเจ้าของตำหนักเสด็จไปประทับในต่างประเทศแล้ว นี่คือประวัติโดยย่อๆ ของการตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และชาวประชาธิปัตย์ได้ยึดถือเอาวันที่ ๕ เมษายน เป็นวันกำเนิดของพรรค

ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ยืนยงคงกระพันมาจนทุกวันนี้ทั้งๆ ที่เราได้ประสบมรสุมทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าบางคราวในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะได้ประกาศให้เลิกล้มพรรคการเมือง แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็คงอยู่ บรรดาสมาชิกก็คงยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนตลอดมา

บางท่านอาจจะตั้งคำถามว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงจับกลุ่มเหนียวแน่น และช่วยกันรักษาอุดมคติและชื่อเสียงของพรรคเป็นอันดีจนถึงปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าขอตอบว่า เพราะในชั้นแรกพรรคประชาธิปัตย์ได้รวบรวมตั้งเป็นพรรคแล้ว จึงจัดหัวหน้า โดยเหตุนี้บรรดาสมาชิกของพรรคทั้งหมด ต้องรับผิดชอบในความเป็นอยู่ของพรรค ทั้งต้องรักษาเกียรติคุณของพรรคด้วย

ส่วนหัวหน้าพรรคนั้นเป็นเพียงแต่ผู้ที่สมาชิกของพรรคอุปโหลกขึ้น จะเปลี่ยนกันเมื่อใดก็ได้ ในเมื่อเห็นกันว่าควรเปลี่ยน ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคที่ตั้งกันมาโดยหัวหน้าพรรคแสวงหาลูกพรรคหรือสมาชิกของพรรคมาสนับสนุนตน อันเป็นเหตุให้สมาชิกของพรรคไม่มีความรับผิดชอบในความเป็นอยู่และเกียรติของพรรคเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่สมาชิกรับว่ามีอุดมคติตรงกัน เราจึงเห็นได้ว่า เมื่อหัวหน้าพรรคหมดวาสนาครั้งใด ลูกพรรคก็แตกกระจายหมด ประหนึ่งรังผึ้งที่ขาดตัวนางพญาฉะนั้น”

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา “พรรคประชาธิปัตย์” ได้ถือเอาวันที่ 6 เมษายน ซึ่งตรงกับวันจักรี เป็นวันก่อตั้งพรรค

หมายเหตุ : ย่อหน้าและเน้นคำในเครื่องหมายคำพูดโดยผู้เขียน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป. ช.,ป.ม.ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2566