ควง อภัยวงศ์ เล่าเหตุการณ์ต้นตระกูลอพยพกลับสยาม หลังปกครองพระตะบองนาน 5 แผ่นดิน กว่า 112 ปี

บรรพบุรุษ ควง อภัยวงศ์ เคย ปกครอง พระตะบอง
นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัยของไทย

“ควง อภัยวงศ์” เล่าเหตุการณ์ต้นตระกูลอพยพกลับสยาม หลังปกครอง “พระตะบอง” นาน 5 แผ่นดิน กว่า 112 ปี

นายควง อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัยของไทย บุตรชาย เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้เป็นเจ้าเมือง “พระตะบอง” คนสุดท้าย เล่าเหตุการณ์ขณะที่ครอบครัวของท่านกำลังถอยออกมา และสยามยอมสละดินแดนประเทศราชที่สยามหวงแหนที่สุดให้คนอื่นไป

“เรา [หมายถึงบรรพชนของท่าน] ได้ช่วยกันรักษาพระราชอาณาจักรให้ตลอดรอดฝั่งมาจนกระทั่งตอนหลังเขมรก็กลายเป็นประเทศในอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็พยายามที่จะเอาแผ่นดินเหล่านี้กลับคืน จึงขอตั้งกงสุลขึ้นที่จังหวัดพระตะบอง แล้วก็หาเรื่องหาราวต่างๆ ตระกูลของผมก็ช่วยกันผ่อนหนักผ่อนเบาตลอดมา ภายหลังสัญญาปี 1904 ฝ่ายเราเจรจากันจนฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี แต่ดันไปยึดตราดไว้แทน และขอเจรจาเรื่องมณฑลบูรพา (เขมรส่วนใน) ต่อไป ทางไทยเราก็ไม่มีหนทางที่จะทำอย่างอื่น ต้องเอากุ้งฝอยแลกปลากะพง

ตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ผมฟังนั้น ได้มีพระบรมราชโองการเรียกเจ้าคุณพ่อของผมลงมากรุงเทพฯ และทรงรับสั่งถามความเห็น คุณพ่อของผมก็กราบบังคมทูลว่า เราควรจะเอาจังหวัดที่เป็นของไทยไว้ ส่วนที่เป็นจังหวัดเขมรถ้าจำเป็นจะต้องเสีย ก็ควรยอมเสียจังหวัดที่เป็นเขมร รักษาจังหวัดไทยไว้ดีกว่า ก็เป็นอันตกลงทำสัญญาคืนมณฑลบูรพาให้แก่เขมรไป ในการเจรจาขั้นต่อไปฝรั่งเศสได้บอกว่า สำหรับเจ้าคุณพ่อผมนั้นจะอยู่ที่พระตะบองต่อไปก็ได้ เขาขอร้องให้อยู่ ส่วนเกียรติยศเกียรติศักดิ์เคยมีมาอย่างไรก็จะขอให้อย่างนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ก็ทรงรับสั่งเรียกเข้ามาถามว่า ว่ายังไงจะอยู่ทางโน้นหรือจะคิดอย่างไร แต่เจ้าคุณพ่อของผมได้กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีนายแต่เพียงคนเดียว ขอกลับบ้านเดิม และเราก็อพยพมาในเวลานั้น…แน่ละการที่เราไปอยู่เมืองเขมรมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนกระทั่งปลายรัชกาลที่ 5 นั้น การปะปนระหว่างเขมรกับพวกผมนี่มีมากมาย ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คราวนี้ท่านก็พิจารณาเอาเองเถิดว่าผมจะเป็นเขมรหรือเป็นไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดบางส่วนจากบทความ วารสาร “นักล่าอาณานิคม” ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ทำไมสยามสละ “นครวัด” ? โดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549 คลิกอ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ ที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2562