ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นวิถีปกติในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ที่ไม่ปกติคือหลายครั้งที่การอภิปรายบานปลายเป็นความขัดแย้งถึงขั้นลงไม้ลงมือ เช่นที่ นาย ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยเกือบโดนตบหน้ามาแล้ว เมื่อครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ศ. 2490
ปี 2490 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้วิกฤต ขณะเดียวกันก็ถูกโจมตีเรื่องนโยบายขายข้าวให้ประชาชนในราคาถูก เพื่อคุ้มครองค่าใช้จ่ายประชาชน แต่ข้าวที่นำมาขายเป็นข้าวคุณภาพแย่ ส่วนข้าวคุณภาพดีกลับส่งออกต่างประเทศ ประกอบกับกรณีทุจริตต่าง ๆ รัฐบาลจึงประสบปัญหาความเชื่อมั่นซ้ำเข้าไปอีก
พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มี นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกฯ 2 สมัย เป็นหัวหน้าพรรค จึงยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2490 ใช้เวลายาวนานถึง 8 วัน 7 คืน ไปเสร็จสิ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม ถือเป็นการอภิปรายที่กินเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย
ฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายรัฐบาลในประเด็น ๆ ต่างมากมาย เช่น ปัญหาการทุจริต ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการไม่สามารถรักษาความสงบของบ้านเมืองจากโจรผู้ร้าย ฯลฯ การอภิปรายดำเนินไปอย่างดุเดือด ไม่มีใครยอมกัน ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
การอภิปรายที่เข้มข้นเข้าขั้นตึงเครียด ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่าง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. ฝ่ายค้าน นำไปสู่การลงไม้ลงมือกันครั้งแรกในรัฐสภา
เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม ตอนเที่ยง ขณะพักการอภิปราย นายควงกำลังออกจากห้องประชุมสภาไปรับประทานอาหารกลางวัน ระหว่างเดินสวนทางกับ นาย จรูญ สืบแสง ส.ส.ปัตตานี ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ นายจรูญซึ่งเป็นคนเลือดร้อนจึงพูดว่า
“พวกลื้อนี่ปากกล้า ปากเก่งนะ”
นายควงตอบกลับไปว่า
“การอภิปรายมันก็ต้องเป็นแบบนี้ ไม่อย่างนั้นจะเปิดอภิปรายไปทำไม”
นายจรูญจึงสวนกลับว่า
“ถึงยังงั้นก็เถอะ ไม่ควรพูดเสียดสี หยาบคายก้าวร้าว ควรเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน”
นายควงก็ว่า “ก็รัฐบาลทำไม่ถูกนี่ ก็ต้องโต้กันหน่อยละ”
นายจรูญจึงกล่าวว่า “พวกลื้อเก่งแต่ปาก แต่อั๊วเก่งมือ ขอตบสักที”
นายควงก็พูดต่อว่า “ตบซิ ตบซิ” โดยคิดว่านายจรูญพูดล้อเล่น แต่นายจรูญพูดจริงทำจริง เงื้อมือฟาดไปที่หน้านายควง แต่นายควงถอยฉากหลบไปได้อย่างหวุดหวิด ส.ส. คนอื่นที่เห็นเหตุการณ์จึงรีบเข้ามาห้ามปราม ทั้งสองจึงเลิกรากันไป
เหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่หลายวัน ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลแย่ลง ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างนายควง ไม่ติดใจเอาความนายจรูญแต่อย่างใด และกล่าวว่าเป็นการหยอกเล่นกันขำ ๆ เท่านั้น
ผลการอภิปรายปี 2490 รัฐบาลได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป แต่ก็ส่งผลเสียต่อรัฐบาลไม่น้อย ท้ายสุด พลเรือตรี ถวัลย์ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 30 พฤษภาคม แต่สภาผู้แทนยังให้ความไว้วางใจในตัวนายกฯ จึงโหวตให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในวันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้ดิ่งลงเรื่อย ๆ ท้ายสุดกองทัพก็ทำรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ปิดฉากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ อย่างถาวร จากนั้นนายควงได้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ เป็นสมัยที่ 3
อ่านเพิ่มเติม :
- ควง อภัยวงศ์ เล่าเหตุการณ์ต้นตระกูลอพยพกลับสยาม หลังปกครองพระตะบองนาน 5 แผ่นดิน กว่า 112 ปี
- รัฐประหาร 2490 “รุ่งอรุณแห่งแสงเงินแสงทองของวันใหม่”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประจวบ อัมพะเศวต. พลิกแผ่นดิน ประวัติการเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475-24ตุลาคม 2516. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2543.
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ..ม.ป.ซ.,ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2511 เข้าถึงจาก http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:3275
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2566