15 มีนาคม ควง อภัยวงศ์ นายกฯ 4 สมัย ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ถึงแก่อสัญกรรม

บรรพบุรุษ ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคย ปกครอง พระตะบอง
นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัยของไทย

รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ หรือ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี 4 สมัย และ ผู้ก่อตั้ง-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 ณ จังหวัดพระตะบอง ซึ่งขณะนั้นอยู่ในมณฑลบูรพา ราชอาณาจักรสยาม (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา) เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการจังหวัดพระตะบอง กับนางรอด

พันตรี ควง เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย เคยรับราชการเป็นนายช่างผู้ช่วยโท แผนกกองช่างโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข จนได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข

และได้รับพระราชทานยศพันตรีปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์พิเศษ เมื่อคราวร่วมสงครามอินโดจีนในปี 2484 และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ต่อมา พ.ศ. 2484 ได้ลาออกจาก บรรดาศักดิ์

พันตรี ควง เป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศสรุ่นเดียวกับปรีดี พนมยงค์ และจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นอกจากนี้ยังเคยเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนซึ่งร่วมการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และยังเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทย 4 สมัย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก

หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขายังคงอยู่ในแวดวงการเมือง ด้วยการนำพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างแข็งขัน ในรัฐบาลหลายชุด ทั้ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยสุดท้าย, รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร

จนกระทั่งเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น และใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 แทน ซึ่งมีบทบัญญัติให้ยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น ทำให้บทบาททางการเมืองของพันตรี ควง ต้องยุติไป

พันตรี ควง ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 ขณะอายุได้ 65 ปี โดยดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” อยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2562