ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงวินิจฉัย การฆ่าเชื้อโรค ว่าผิด ศีลข้อ 1 หรือไม่
ศีล 5 เป็นศีลหรือข้อห้ามเบื้องต้นในศาสนาพุทธที่รู้จักกันโดยทั่วไป สมัยเป็นนักเรียนก็ท่องจำกันแบบง่ายสำหรับสอบว่า ข้อ 1 ห้ามฆ่าสัตว์ ข้อ 2 ห้ามลักทรัพย์ ข้อ 3 ห้ามประพฤติผิดในกาม ข้อ 4 ห้ามโกหก ข้อ 5 ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
แต่บางครั้งก็มีคำถามว่าบางเรื่อง, บางบุคคล ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะผิดศีลหรือไม่
ในหนังสือ “พระผู้สำรวมพร้อม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ตอนหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456-24 ตุลาคม พ.ศ. 2556) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระสาสนโสภณ” ทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับศีลข้อ 1 ไว้ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 จึงคัดมาฝากท่านผู้อ่านดังนี้
ในเรื่อง ศีล (2511) พระสาสนโสภณ ได้พยายามชี้ให้เห็นประเด็นของพุทธศาสนากับโลกสมัยใหม่ ในแง่ที่เมื่อต้องถูกท้าทายโดยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ว่าจะมีหนทางใดที่จะยังรักษาไว้ซึ่งหลักธรรมตามเจตนาดั้งเดิมได้บ้าง ดังเช่นการยกตัวอย่างศีลข้อที่ 1 ว่าข้อบัญญัติในศีลแตกต่างจากทางปฏิบัติของคนทั่วไปอยู่มาก เช่นที่อาจมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า
“ในปัจจุบันได้พบสัตว์หลายอย่างเป็นพาหะนำเชื้อโรค ตลอดถึงได้พบตัวเชื้อโรคด้วยกล้องจุลทรรศน์ และได้พบจุลินทรีย์ต่างๆ อีกมากมาย จนแทบว่าจะไม่มีอะไรแม้แต่น้ำที่คนดื่มอยู่จะไม่มีจุลินทรีย์ ถึงจะกรองน้ำเสียก่อนที่จะดื่ม ก็กรองได้เฉพาะสัตว์ชนิดหยาบ เช่น ตัวน้ำ ไม่อาจกรองจุลินทรีย์ได้ ดื่มน้ำทีหนึ่งจึงดื่มจุลินทรีย์ต่างๆ เข้าไปมากมาย แม้การใช้ยาเป็นยาทายาบริโภคก็ตาม ยานั้นก็ทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นตัวโรคต่างๆ ทุกครั้งไป จุลินทรีย์ต่างๆ เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสัตว์มีชีวิตในศีลข้อหนึ่งหรือไม่ ถ้าถือก็คงไม่มีใครปฏิบัติในศีลข้อนี้ได้”
พระสาสนโสภณเสนอแนววินิจฉัยต่อกรณีนี้ไว้ว่า
“เชื้อโรคจุลินทรีย์ต่างๆ จะเป็นสัตว์มีชีวิตที่ต้องห้ามหรือไม่ พิจารณาดูในพุทธประวัติพระพุทธเจ้าเมื่อประชวรในบางคราว ได้ทรงอนุญาตให้หมอชีวกโกมารภัจทายา และถวายโอสถเพื่อเสวย พระภิกษุก็ทายาฉันยาได้ เพื่อเยียวยาอาพาธต่างๆ เป็นอันทราบได้ว่าไม่ถือไปถึงเชื้อโรคจุลินทรีย์เช่นนั้น
ถ้าถือไปถึงเช่นนั้นก็เป็นอันว่ากินดื่มอะไรไม่ได้ ตลอดถึงหายใจก็จะไม่ได้ ศีลข้อนี้ก็เลยไม่มีความหมาย ไม่มีใครจะเข้าใจปฏิบัติได้ ศีลเป็นข้อที่คนสามัญทั่วไปปฏิบัติได้ทุกข้อ โดยอาการปกติธรรมดาสามัญนี้แหละ ไม่ใช่ลึกซึ้งถึงกับจะต้องส่องกล้องปฏิบัติกัน ซึ่งน่าจะใช้ในทางแพทย์เท่านั้น”
อ่านเพิ่มเติม:
- “การฝึกจิตคือการพัฒนาซอฟต์แวร์” รับสั่งกรมหลวงวชิรญาณสังวร
- “เก็บตะไกรไว้มิดชิด” กรมหลวงวชิรญาณสังวรทรงชม “คึกฤทธิ์” ด้วยเหตุใด?
- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
ข้อมูลจาก :
สุภาภรณ์ อัษฎมงคล บรรณาธิการ. พระผู้สำรวมพร้อม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดพิมพ์น้อมถวายสมเด็จพระญารสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในงานบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษา 99 ปี วันที่ 3 ตุลาคม 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2564