เผยแพร่ |
---|
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (พ.ศ. 2454-538) เป็นนักเขียน, นักการเมือง, ศิลปินแห่งชาติ, สมาชิกผู้แทนราษฎร, นายกรัฐมนตรี, ผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง (พรรคก้าวหน้า, พรรคกิจสังคม), ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฯลฯ จากหน้าที่การต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องความเฉียบคมในความคิด และคำพูด ท่านจึงได้รับฉายาจากสื่อมวลชนมากมายว่า เฒ่าสารพัดพิษ, ซือแป๋ซอยสวนพลู ฯลฯ
ใน พ.ศ. 2493 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ บรรพาอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร มีนามฉายาว่า “ปาโมชชากโร” แต่เนื่องด้วยหน้าที่การงาน และความสามารถต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้พระผู้ใหญ่ผู้น้อยในวัดพากันระมัดระวัง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็น พระสาสนโสภณ ซึ่งท่านเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ (กรมหลวงวชิรญาณสังวร ประสูติ พ.ศ. 2456 ส่วน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เกิดใน พ.ศ. 2454) ทั้งมีความคุ้นเคยกัน เนื่องจากในปีที่รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช กรมหลวงวชิรญาณสังวรได้รับมอบหมายให้เป็น “พระพี่เลี้ยง” ขณะที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็มีตำแหน่งเป็นไวยาวัจกรของวัดบวรนิเวศวิหาร
ดังนั้นเมื่อมีการจัดทำหนังสือ คึกฤทธิ์ 60 กรมหลวงวชิรญาณสังวรจึงทรงนิพนธ์ เกี่ยวกับการอุปสมบทของ ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ไว้ว่า [จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยผู้เขียน]
“เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2493 ได้มีภิกษุใหม่รูปหนึ่งเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามฉายาว่า “ปาโมชชากโร” ทราบมาว่า บวชถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งได้กำหนดถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ วันที่ 29 มีนาคม ศกนั้น
ภิกษุใหม่รูปนี้ ถ้าบอกเพียงนามฉายาเท่านั้นก็คงไม่ค่อยจะรู้จัก แต่ถ้าบอกว่า คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็คงรู้จักกันทั่วไป ในเวลานั้น จำได้ว่ายังไม่ได้ออกหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ยังไม่เป็นคนของประชาชนเหมือนอย่างในเวลานี้ แต่คนก็รู้จักกันทั่วไปแล้ว จากการงาน การพูด การเขียน เป็นต้น ทั้งในบ้านทั้งในวัด
ฉะนั้น แม้จะอยู่ในวัดก็พลอยรู้จักจากทางต่างๆ ดังกล่าว แต่ก็รู้จักอยู่ห่างๆ ครั้นเมื่อได้ตัวเข้ามาเป็นสหธรรมิก (ผู้บวชประพฤติธรรมวินัยร่วมกัน) มีความปีติยินดีมาก ก็ยังเก็บอยู่ในใจ ดูอยู่ห่างๆ นั่นเอง
เพราะปาโมชชากโร เป็นบุคคลสำคัญมาบวช เป็นที่ร่ำลือว่าปากตะไกร พระประจำวัดทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย จึงพากันระมัดระวัง ไม่กล้าติดต่อรุ่มร่าม แต่ปาโมชชากโร ได้วางตนเป็นพระใหม่ที่น่านับถือ ได้ปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เรียบร้อยสม่ำเสมอ ทั้งได้ไปติดต่อสนทนากับพระทุกรุ่นทุกวัย รู้สึกว่าในระหว่างนั้นได้ เก็บตะไกรไว้มิดชิดเรียบร้อย…”
ข้อมูลจาก
สุภาภรณ์ อัษฎมงคล บรรณาธิการ., พระผู้พร้อม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดพิมพ์น้อมถวายสมเด็จพระญารสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในงานบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษา 99 ปี วันที่ 3 ตุลาคม 2555
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2564