กรมพระยาดำรงฯ กับสัจวาจาที่สยบ “ข่าวลือ” หลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เปิดวาทะของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสัจวาจาที่สยบ “ข่าวลือ” หลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112

“—ว่าตามจริงแล้ว ฉันมิได้อาลัยด้วยชีวิตแลทรัพย์ ถ้าตายเสียจะเป็นการกระทำให้ราชการเดินสะดวกแล้วก็เต็มใจ เป็นความสัตย์จริงดังนี้ แต่ครั้นจะฆ่าตัวตายในอันใช่กาลก็ไม่ควร จึงนอนขึงอยู่ดังนี้—“

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งทรงพระประชวรหนักอันเนื่องจากความกังวลพระทัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ ร.. 112 และซ้ำกระทบกระเทือนพระราชหฤทัยจากการที่ทรงได้ยินได้ฟังเรื่องราวบางประการ

เหตุการณ์ ร.. 112 เกิดจากการที่ไทยถูกฝรั่งเศสคุกคามอธิปไตยอย่างหนัก แม้จะยอมเสียดินแดนทั้งเขมรและสิบสองจุไทยให้ฝรั่งเศสไปแล้วก็ตาม แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมหยุดยั้งการคุกคามเพื่อจะยึดดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมาเป็นของตนโดยใช้กำลังเรือรบล่วงเข้ามาในน่านน้ำไทย เพื่อบังคับให้ไทยยอมรับว่าดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตลอดจนเกาะต่างๆ ในลำน้ำโขงเป็นของฝรั่งเศส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกายและกำลังพระทัยเพื่อแก้ปัญหาและหาวิธีปกป้องอธิปไตยของชาติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนัก ประกอบกับทรงหวั่นเกรงไปถึงการเสียเอกราชของชาติจึงทำให้ทรงทุกข์ร้อนแสนสาหัสถึงกับทรงพระประชวร มิได้เสด็จออกว่าราชการ ระหว่างที่ทรงพระประชวรนั้นมีผู้เล่าลือว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นพระอนุชาคู่พระทัยที่โปรดปรานมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ตรัสข้อความอันทำให้ทรงกระทบกระเทือนพระราชหฤทัยซ้ำอีก ดังปรากฏข้อความที่ว่านี้ในพระราชหัตถเลขาความว่า

“—เขาว่าเมื่อฉันยังเจ็บมากอยู่ หรือแรกกลับจากเกาะสีชัง เธอได้กล่าวแล้วแลเล่ากันต่อๆ มาว่า มานอนเจ็บอยู่อย่างนี้ การงานอะไรก็ขัดข้องไปหมดตายเสียดีกว่า—“

ข้อความที่เล่าลือครั้งนั้น นับเป็นข้อความที่รุนแรงและกระทบกระเทือนพระทัยอย่างที่สุด แต่ด้วยน้ำพระทัยอันประเสริฐและพระราชวิจารณญาณอันล้ำเลิศเต็มไปด้วยเหตุผลและพระเมตตาจึงมิได้ทรงเชื่อโดยทันที มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังพระอนุชาพระองค์นั้น ทรงถามถึงข้อความอันมิบังควรนั้นอย่างตรงไปตรงมาว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ตรัสเช่นนั้นจริงหรือไม่ และทรงบรรยายความทุกข์ในพระทัยว่า

“—ตามจริงแล้วฉันมิได้อาลัยด้วยชีวิตแลทรัพย์ ถ้าตายเสียจะเป็นการกระทำให้ราชการเดินสะดวกแล้วก็เต็มใจ เป็นความสัตย์จริงดังนี้ แต่ครั้นจะฆ่าตัวตายในอันใช่กาลก็ไม่ควร จึงนอนขึงอยู่ดังนี้—“

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกราบทูลถึงสาเหตุของคำเล่าลืออันฉกรรจ์นี้ด้วยสัจวาจาอันหนักแน่นว่า “—คำหรือแม้แต่ใจความที่ว่า ถ้าเสด็จสวรรคตเสียจะดีกว่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายปฏิญาณโดยความสัตย์แห่งผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แลที่ได้รับน้ำพระพิพัฒสัตยาว่า ข้อความอย่างนั้นมิได้มีความประสงค์ หรือจะได้กล่าวในที่ใดๆ เลย—” และทรงกราบบังคมทูลถวายถึงเหตุผล อันเป็นเครื่องยืนยันว่าจะมิมีวันที่จะทรงกล่าวข้อความอันฉกรรจ์นั้นเป็นอันขาด คือ

1. หากประสงค์ในอำนาจวาสนา ขณะนี้ก็ทรงมีอำนาจวาสนาเป็นถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอันนับเป็นตำแหน่งสำคัญชั้น 1 ของประเทศแล้ว

2. หากประสงค์ผลประโยชน์ หรือลาภสักการ ก็ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์อย่างเต็มที่มิมีสิ่งใดขาดแคลน หรือ

3. เพื่อจะได้อยู่ในอุปถัมภ์บำรุงของผู้อื่น ก็ไม่มีผู้ใดจะอุปถัมภ์บำรุงไว้วางใจได้มากไปกว่าพระองค์ ทั้งนี้ก็เพราะทรงเป็นข้าอันสนิทมาแต่ครั้งยังเยาว์วัยได้ร่วมทุกข์สุขเข้าใจกันมาแสนนาน ด้วยเหตุผลดังที่ทรงกล่าวอ้างนี้ก็น่าที่จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามิอาจจะทรงคิดไปถึงความประสงค์ให้พระองค์เสด็จสวรรคต

นอกจากเหตุผลที่ทรงอ้างถึงแล้ว ยังทรงอธิบายเหตุการณ์อันน่าจะทำให้เกิดเสียงเล่าลือถึงข้อความอันฉกรรจ์นี้ว่า “—ในเวลาที่ทรงพระประชวรพระอาการมากอยู่นั้น ความวิตกทุกข์ร้อนย่อมมีทั่วหน้ากันในบรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาท พบปะกันเข้า ที่ชอบพอคุ้นเคย ต่างคนต่างก็ปรับทุกข์แก่กันเป็นธรรมดา ตามที่คิดเห็นเป็นความวิตกทุกข์ร้อนของตนข้อวิตกของข้าพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างยิ่งนั้น ก็คือที่เกรงจะไม่หายประชวรและถ้าอันตรายมีแก่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทลงวันใด เห็นเป็นช่องใหญ่ที่ศัตรูภายนอกจะหาเหตุรีบรัดเอาบ้านเอาเมือง ในเวลาการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นปกติครั้นจะชักชวนกันในเสนาบดีให้ประชุมปรึกษาจัดราชการบ้านเมืองไปในเวลาที่ทรงพระประชวรตามอย่างที่เข้าว่าเป็นแบบโบราณก็เกรงโดยเหตุที่มิได้มีรับสั่ง ถ้าเข้าพระราชหฤทัยเป็นอย่างอื่น จะทรงพระพิโรธหรือจะทรงพระโทมนัสแลพระอาการจะกำเริบขึ้นเพราะเหตุเหล่านี้ข้าพระพุทธเจ้าจึงว่าการที่ทรงพระประชวรลงในครั้งนี้ เป็นเคราะห์กรรมของบ้านเมืองโดยแท้ เพราะถ้าไม่หายได้ก็ไม่เห็นทางที่จะแก้ไขบ้านเมืองให้พ้นภัย—“

จากเหตุผลต่างๆ ที่ทรงบรรยายกราบทูลให้ทรงทราบนั้นล้วนเป็นเหตุผลที่หนักแน่นมั่นคง ประกอบเข้ากับพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณโดยมิย่อท้อเห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย บังเกิดประโยชน์และความเจริญมั่นคงต่อประเทศชาติและราชบัลลังก์มาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้ยิ่งใหญ่และซึมซาบอยู่ในพระราชหฤทัย จนข้อความฉกรรจ์ที่ร่ำลือกันนั้นกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ผันผ่านไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว คงไว้แต่ความรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยที่พระราชทานทั้งฉันพระอนุชาคู่พระทัยและฉันข้าแผ่นดินคู่บัลลังก์ ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงบำรุงพระวรกายจนคลายจากพระอาการประชวรและทรงกลับปฏิบัติพระราชภารกิจร่วมกับสมเด็จพระอนุชาจนเหตุการณ์ ร.. 112 ผ่านพ้นไปด้วยดี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เป็นพระอนุชาที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและมีพระเมตตายิ่งพระองค์หนึ่ง ดังปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานพระอนุชาพระองค์นี้ครั้งที่เสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.. 2450 ทรงนัดแนะให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเดินทางไปสมทบพบกับพระองค์ที่จังหวัดตราดก่อนจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ มีข้อความลงท้ายว่า

“—คิดถึงเหลือที่จะคิดถึงแล้ว ไม่มีใครจะได้ดังใจเหมือนเธอ—“

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2562