รัชกาลที่ 5 ทรงส่งกรมดำรงฯ ทรงราชการลับ หลังอังกฤษปล่อยข่าวดิสเครดิตไทย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับภายในห้องทรงงาน กระทรวงมหาดไทย ที่ศาลาลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากพระองค์จะเสด็จประพาสราชสํานักต่างประเทศหลายแห่งระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป ราชสำนักสยามยังมีโอกาสต้อนรับราชอาคันตุกะสำคัญๆ เช่น การเสด็จเยือนไทยของ มกุฎราชกุมารนิโคลาสแห่งรัสเซีย ใน พ.ศ. 2434 ซึ่งไทยคาดหวังว่า การมาเยือนของมหาอำนาจอย่างรัสเซียในฐานะมิตรประเทศกับไทยจะทำให้ชาติตะวันตกอื่น ที่คิดจะรุกรานไทยเกิดความยำเกรง

ดูก็เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่เมื่อเกิด “ปฏิบัติการสกัดดาวรุ่ง” อันนำไปสู่ “ราชการลับ” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รายละเอียดเรื่องนี้เป็นอย่างไร? ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ใน “ประวัติศาสตร์นอกตำราฯ”  ซึ่งขอสรุปพอสังเขปได้ว่า

พ.ศ. 2434 เมื่อมีข่าวตื่นเต้นแพร่สะพัดไปทั่วว่า องค์มกุฎราชกุมารนิโคลาสแห่งรัสเซีย จะเสด็จประพาสรอบโลกจากฝั่งตะวันตกมาทางทิศตะวันออก ตามพระราชบัญชาของจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระบรมราชชนก ดูเหมือนข่าวนี้จะไม่เกี่ยวข้องใดกับไทย หากรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่านี้คือ “โอกาส” ของสยาม ด้วยสถานการณ์ของไทยเวลานั้น สยามอยู่ท่ามกลางนักล่าเมืองขึ้นที่มีอิทธิพล และมีอํานาจครอบงําสื่อทุกชนิดที่สังคมโลกเชื่อถือไว้ในกํามือ

มกุฎราชกุมารนิโคลาสแห่งรัสเซีย

พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย มีพระราชบัญชาให้มกุฎราชกุมารนิโคลาส (ในภาษารัสเซียเรียกซาเรวิช) เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ข่าวนี้เป็นที่ร่ำลือ และติดตามของคนทั้งโลกว่าจะเสด็จฯ ผ่านไปยังประเทศใดก็น่าจะได้รับอานิสงส์

ดังนั้น ถ้าหากสยามถูกเลือกบนเส้นทางเสด็จฯ ของพระเจ้าซาร์ ก็เหมือนถูกผลักดันให้มีฐานะเป็นเป้าหมายใหม่ที่รัสเซียต้องการรู้จัก กลายเป็นเมืองหน้าด่านระดับแนวหน้า และหมายเหตุของชาติมหาอํานาจด้วยกันจะติดตามด้วยความสนใจเป็นพิเศษ ในทัศนะของนักวิเคราะห์การเมืองสิ่งที่ปรากฏบนเส้นทางเสด็จฯ จะเป็นลายแทงทางการเมืองที่ทวีความสําคัญขึ้น ต่อนโยบายของลัทธิเจ้าอาณานิคมที่กําลังมีบทบาทในการจัดระเบียบโลกอยู่ ในขณะนั้นและผลสะท้อนในอนาคต

รัสเซียเองก็มั่นใจว่าทางรถไฟสายนี้จะเป็นสะพานส่งผ่านอิทธิพลของรัสเซีย เข้าไปถึงใจกลางทวีปเอเชีย แต่ทางรถไฟสายนี้ก็สร้างด้วยเงินที่รัสเซียกู้ยืมมาจาก ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรของตน แต่รัสเซียก็ไม่มีอํานาจเด็ดขาดในผลประโยชน์ ที่ควรได้รับจากทางรถไฟสายนี้ เพราะต้องหันมามองฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่ ด้วยความเกรงใจตลอดเวลา

ซาเรวิชนิโคลาสได้รับการวางตัวให้เป็นองค์รัชทายาทครองราชบัลลังก์โรมานอฟสืบต่อจากซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แต่ก่อนเวลาจะมาถึงพระองค์ควรเสด็จไปทอดพระเนตรความเป็นไปของโลกภายนอกและได้ศึกษาอารยธรรมเก่าแก่ ในกรีก อียิปต์ อินเดีย และจีน เพื่อทําความเข้าใจกับความเชื่อ ศาสนา และระบอบการปกครอง เป็นการเตรียมพระองค์ก่อนจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นําชาติมหาอํานาจ ที่ครอบครองดินแดนกว้างใหญ่ที่สุดบนพื้นโลกเช่นรัสเซีย

ขบวนเสด็จประกอบด้วยเจ้านายและทหารจํานวนหนึ่ง ครอบคลุมระยะทางมากกว่า 51,000 กิโลเมตร และทางทะเลเพิ่มอีก 22,000 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ยังไม่เคยมีเจ้านายชั้นสูงของยุโรปเคยกระทํามาก่อน ที่กรุงกรีกเจ้าชายยอร์ชแห่งกรีก (Prince George of Greece) พระประยูรญาติอีกองค์หนึ่งของซาเรวิชเข้ามาสมทบด้วย จากกรีกขบวนเสด็จเดินทางสู่ อียิปต์ ตัดเข้าเอเชียทางคลองสุเอซ บ่ายหน้าสู่อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ทุกหนทุกแห่งที่ซาเรวิชเสด็จไป ทรงได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร

โดยทางทฤษฎีแล้วสยามไม่มีประโยชน์อะไรเลยต่อรัสเซีย แต่ในมุมกลับ รัสเซียกลับเป็นประโยชน์ต่อสยามมากกว่าชาติมหาอํานาจใดในสมัยนั้น ภาพลักษณ์ของรัสเซียจะเป็นภูมิคุ้มกันติดตัวชาวสยามไปชั่วกาลนาน สิ่งเดียวที่ต้องทําให้เกิด ขึ้น คือสร้างความประทับใจให้ซาเรวิชกับการมาครั้งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้

ท่าที่ของรัฐบาลสยามที่มีต่อการเสด็จของซาเรวิชเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นตั้งแต่ต้น เห็นได้ชัดว่ามีความหมายต่อประเทศสยามอย่างยิ่ง ฐานะของรัสเซีย ที่เป็นพันธมิตรอยู่กับฝรั่งเศส นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อสถานการณ์ทางการเมือง สําหรับอังกฤษและเยอรมนีที่มีผลประโยชน์อยู่ในเอเชียแล้ว ยังส่งผลสะท้อนไป ถึงดินแดนในเอเชียที่ถูกมหาอํานาจยุโรปคุกคามอยู่ การมาของผู้ยิ่งใหญ่จากยุโรป ย่อมส่งผลทางจิตวิทยาเชื่อมโยงอิทธิพลของคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาคนี้โดยรวม

แต่ก็ทุกอย่างเกือบต้องหยุดชะงัก เมื่อเกิดการ “สกัดดาวรุ่ง”

ทันทีที่รัฐบาลอังกฤษทราบหมายกําหนดการใหม่ที่ซาเรวิช ตัดสินพระทัยแบบกะทันหันที่จะมาเยือนกรุงเทพฯ ด้วย ก็ปล่อยข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทันทีว่ามีอหิวาตกโรคระบาดอยู่ที่เมืองไทย เพื่อปลุกปั่นว่าไม่ปลอดภัยที่จะเดินทางมา เป็นเหตุให้ราชสํานักรัสเซียไม่อนุญาตให้ซาเรวิชเสด็จ

รัชกาลที่ 5 ทรงสยบข่าวโคมลอยทั้งหมดเกี่ยวกับการระบาดของอหิวาตกโรคในกรุงเทพฯ ด้วยการส่งกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศในปีนั้น) ให้เป็นผู้อัญเชิญพระราชสาส์นส่วนพระองค์ไปทูลเชิญซาเรวิชถึงสิงคโปร์  แล้วให้เป็นผู้นําขบวนเสด็จเข้ามายังปากน้ำเจ้าพระยาในบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นมิตรอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้มาเยือน

ซาเรวิชจึงได้ตัดสินพระทัยที่จะมาเอง ซึ่งสร้างความประหลาดใจ แก่รัฐบาลอังกฤษ

จะเห็นได้ว่ากรมหมื่นดํารงราชานุภาพ ทรงได้รับการวางตัว ให้เป็นผู้ดูแลซาเรวิช ต่างพระเนตรพระกรรณตั้งแต่ต้น ภารกิจนี้จะดําเนินต่อไปอีก หลายเดือนตลอด พ.ศ. 2434 ทรงเริ่มคุ้นเคยและสนิทสนมกับกรมหมื่นดํารงราชานุภาพมากกว่าเจ้านายสยามองค์อื่นๆ

จากสิงคโปร์ กรมหมื่นดํารงราชานุภาพเสด็จโดยเรือมกุฎราชกุมารนํากอง เรือรบและเรือพระที่นั่งของรัสเซียเข้ามายังกรุงสยาม ส่งผลให้แผนการเสด็จถูกยืดออกไปอีก 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19-25 มีนาคม 2434 และเป็นโอกาสให้ราชสํานักไทยรับเสด็จเพื่อนใหม่อย่างสมพระเกียรติยศ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่ซาเรวิช ตามธรรมเนียมต้อนรับเจ้านายชั้นสูงจากต่างประเทศ

ทว่า ทันทีที่ซาเรวิชถวายบังคมทูลลาจากไปแล้ว รัชกาลที่ 5 ก็กลับมีพระราชปรารภที่จะให้กรมหมื่นดํารงราชานุภาพเสด็จตามออกไปอย่างฉับพลันให้ทันซาเรวิชกลับถึงรัสเซีย (จากรุงเทพฯ ซาเรวิชมีกำหนดจะเดินทางไปยังเวียดนาม-จีน-ญี่ปุ่นอีกกว่า 1 เดือนจึงจะเสด็จกลับรัสเซีย) ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะให้ไปเปลี่ยนเครื่องราชชุดใหม่ [ที่มีสถานะใหญ่ยิ่งขึ้น] เพื่อเทิดพระเกียรติ

แต่ที่ดูลึกลับในปี 2434 นั้น กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ มีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศึกษา ไม่ใช่เสนาบดีว่าการต่างประเทศผู้รับผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง คล้ายกับว่าภารกิจนี้มีเป็นการตบตาให้คนนอกเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญด้านการต่างประเทศ และหลีกเลี่ยงที่จะถูกมองว่ามีการเมืองแอบแฝง


ข้อมูลจาก

ไกรฤกษ์ นานา. ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก, สำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564