กรมพระยาชัยนาทฯ ฝันถึง “ทูนหม่อมพ่อ” ก่อนทรงพ้นโทษจากเรือนจำช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฝันถึง “ทูนหม่อมพ่อ” ก่อนทรงพ้นโทษจากเรือนจำช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“—คืนหนึ่งหม่อมฉันฝันเห็นทูนหม่อมเสด็จมา แต่งพระองค์ทรงเครื่องกันหนาว พระพักตร์เบิกบานทีเดียว พอหม่อมฉันเข้าไปเฝ้าก็ทรงยิ้ม อ้าพระกรรับ ไม่ได้ตรัสประการใด หม่อมฉันก็เข้าไปกอดท่านแน่น เอียงหน้าซบไว้ที่พระอุระร้องไห้—”

เป็นพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ตรัสเล่าให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ฟังหลังจากที่ทรงพ้นโทษจากเรือนจำและได้เสด็จไปทรงเยี่ยมสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ว่าเป็นเรื่องแปลกที่ทรงประสบในความฝันที่เสมือนจริงและยิ่งมหัศจรรย์เพิ่มขึ้นเมื่อทรงถูกปล่อยให้พ้นโทษหลังจากความฝันนั้นเพียง 2 วัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (12 พฤศจิกายน 2428 – 7 มีนาคม 2494) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์เนื่อง สายราชสกุลสนิทวงศ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ ประสูติได้เพียง 12 วัน ก็ทรงต้องกำพร้าพระมารดา พระบรมราชชนกจึงทรงมอบพระราชโอรสพระองค์น้อยให้อยู่ในพระอภิบาลของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งก็ทรงดูแลรักใคร่เจ้าชายน้อยดุจพระราชโอรสในพระอุทร

เมื่อสำเร็จการศึกษาเบื้องต้น ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาว่าด้วยการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไฮเด็ลแบร์ก แม้จะทรงสำเร็จวิชาว่าด้วยการศึกษา แต่ความสนพระทัยซึ่งสืบมาจากสายพระโลหิตความเป็นหมอหลวงของต้นราชสกุล คือกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ทำให้มีพระทัยรักและฝักใฝ่ในวิชาการแพทย์มาแต่ทรงพระเยาว์ จึงทรงพยายามขวนขวายศึกษาวิชาแพทย์อีกวิชาหนึ่ง

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาโปรดให้เข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระเชษฐา ทรงตระหนักถึงพระทัยรักและพระปรีชาสามารถทางการแพทย์ของเจ้านายพระองค์นี้ จึงโปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการโรงเรียนราชแพทยาลัยอีกตำแหน่งหนึ่ง ในตำแหน่งนี้ทรงมีโอกาสพัฒนาการศึกษาวิชาการแพทย์ โดยใช้ทั้งวิชาการศึกษาและวิชาการแพทย์ผนวกกันเข้า โดยทรงวางระเบียบแบบแผนการศึกษาตลอดจนการสอนวิชาและการฝึกหัดนักเรียนแพทย์ แก้ไขและขยายหลักสูตรการศึกษา ให้วิชาการแพทย์สยามมีมาตรฐานเท่าเทียมกับอารยประเทศ

ครั้งนั้นสมเด็จพระเชษฐาทรงเห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของการแพทย์อันเกิดจากพระวิริยอุตสาหะของพระอนุชา จึงโปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโรงเรียนราชแพทยาลัย ทำให้ทรงมีสิทธิ์ที่จะจัดการแก้ไขกิจการของแพทยาลัยได้อย่างเต็มที่ ทรงทุ่มเททั้งกำลังพระทัยและพระวรกายแก้ไขอุปสรรคสำคัญของโรงเรียนราชแพทยาลัยอย่างเต็มพระสติกำลังหลายประการ เช่น ปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนนักเรียนแพทย์ ก็ทรงใช้พระคุณสมบัติพิเศษเฉพาะพระองค์ คือความมีมนุษยสัมพันธ์ประสานประโยชน์เข้ากับพระภาระของพระองค์อย่างนุ่มนวลและได้รับผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม

โดยทรงชักชวนแพทย์ต่างประเทศที่มีความรู้เข้าขั้นมาตรฐานมาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ แพทย์ที่ได้รับการชักชวนในสมัยนั้นมีทั้งชาวยุโรปและชาวเอเชีย จนเป็นที่กล่าวกันว่า โรงเรียนราชแพทยาลัยเป็นที่รวมของผู้ทรงความรู้แทบทุกชาติทุกภาษาและทุกแขนง เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน เยอรมัน อิตาลี อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น

ปัญหาสำคัญที่ทรงพยายามแก้ไข และแก้ไขจนเป็นผลสำเร็จ คือปัญหาการขาดแคลนเงินทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้การพัฒนาการแพทย์สยามล่าช้าถึงขั้นหยุดชะงัก เพราะความขาดแคลนทั้งอาคารสถานที่ทำการ สถานที่เรียน และสถานที่สำหรับรักษาและพักผู้ป่วย อันได้แก่โรงพยาบาลศิริราช ตลอดจนอุปกรณ์การแพทย์ เป็นปัญหาและอุปสรรคใหญ่หลวง ทรงพยายามหาทางแก้ปัญหา วิธีหนึ่งคือการขอความเมตตาจากผู้ใจบุญ ซึ่งส่วนมากคือเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงสนิทสนมและมีพระประสงค์จะประกอบการบุญการกุศล แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

จนกระทั่งครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชทรงผิดหวังและท้อถอยจากการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพเรือตามที่ทรงได้ศึกษามา จึงทรงถือเป็นโอกาสชวนเชิญให้เจ้าชายหนุ่มซึ่งทรงรักใคร่สนิทสนมเสมือนเป็นพระอนุชาร่วมพระอุทรหันมาสนพระทัยในการพัฒนากิจการแพทย์สยาม และก็ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม

เพราะเมื่อเจ้าชายซึ่งดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ซึ่งสูงส่งทั้งฐานะในความเป็นเจ้านายชั้นสูงและฐานะทางการเงิน อีกทั้งยังทรงเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปอย่างสูง เมื่อได้ทรงเข้ามาพัฒนากิจการแพทย์สยาม ก็ทำให้ผู้คนหันมาเอาใจใส่และให้ความร่วมมือ ทำให้กิจการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จึงวางพระราชหฤทัยว่ากิจการแพทย์ในความรับผิดชอบของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว แต่ก็ยังทรงให้ความร่วมมือกับสมเด็จเจ้าฟ้า จนเมื่อพระพลานามัยซึ่งไม่ใคร่จะทรงสมบูรณ์อยู่แล้ว เริ่มทรุดโทรมลงด้วยพระโรคประจำพระองค์ คือพระโรคหืดหอบ ทำให้ไม่อาจปฏิบัติพระภารกิจได้อย่างเต็มที่ จึงกราบกวายบังคมทูลลาออกจากราชการ

แต่พระกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดเวลารับราชการในโรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงพยาบาลศิริราชนั้นเป็นที่ประทับอยู่ในใจของคนทั่วไปที่ได้รับพระเมตตา ซึ่งทรงเผื่อแผ่พระเมตตานั้นต่อคนทั่วไปโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ ด้วยน้ำพระทัยที่บริสุทธิ์ในการประกอบคุณงามความดีทุกประการ ทั้งกับบ้านเมืองและบุคคล ทำให้ทรงเป็นที่รักที่เคารพของผู้คนทุกชั้นทุกเหล่า นับแต่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีข้าราชการ ข้าราชสำนักทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยที่ทรงมีโอกาสร่วมงานหรือเกี่ยวข้องด้วย ตลอดจนบรรดาลูกศิษย์นักเรียนแพทย์ซึ่งสำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการเป็นข้าราชการคนสำคัญในเวลาต่อมา แต่สิ่งเหล่านี้กลับส่งผลร้ายต่อพระองค์ และเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับพระองค์หรือพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด ก็เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ครั้งนั้นแม้จะมิได้ทรงเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมืองแล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ความระแวงแคลงใจของรัฐบาลเวลานั้นหมดไป อันเนื่องมาแต่การที่ทรงเป็นที่เคารพรักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทำให้รัฐบาลเกิดความระแวงไปว่าจะทรงเป็นอันตรายกับความมั่นคงของรัฐบาล วิธีหนึ่งที่รัฐบาลสมัยนั้นใช้กำจัดผู้ที่คิดว่าจะเป็นอันตรายกับตนและพวกพ้อง คือการจับกุมคุมขังในข้อหากบฏล้มล้างรัฐบาล มีผู้คนจำนวนมากที่ถูกรัฐบาลตั้งข้อหาดังกล่าว ผู้คนเหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้ที่กว้างขวางและได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนทั่วไป ทั้งทางที่มีความรู้สูง หรือมีผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อราชการและในวงสังคม ทำให้มีบารมี สามารถที่จะชักจูงหรือชักชวนผู้คนให้เห็นถึงความบกพร่องของรัฐบาลในแง่มุมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อต้านหรือล้มล้างรัฐบาล

เหตุผลต่างๆ ดังกล่าวนี้ ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงอยู่ในข่ายความระแวงของรัฐบาล รัฐบาลสมัยนั้นจึงตั้งข้อหาคิดกบฏล้มล้างรัฐบาลให้กับพระองค์ โดยที่รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นเพื่อตัดสินคดีกบฏโดยเฉพาะ ศาลนี้ไม่มีทนายคอยช่วยเหลือแก้ต่างให้ จำเลยทุกคนต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีด้วยตนเองรวมทั้งการซักค้านพยานโจทก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยานที่จำเลยไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จักมาก่อน และไม่เปิดโอกาสให้จำเลยพิสูจน์ความจริงความบริสุทธิ์ของตนเองใดๆ ทั้งสิ้น

แม้พยานโจทก์จะให้การเท็จอย่างไร หรือจำเลยพยายามจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเพียงใด ศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลก็จะไม่ฟัง และในที่สุดศาลพิเศษก็ตัดสินประหารชีวิตกรมพระยาชัยนาทฯ แต่ลดให้ 1 ใน 3 คงให้จำคุกไว้ตลอดชีวิตและถูกถอดถอนจากฐานันดรลงมาเป็นนักโทษชายรังสิต

ไม่ว่าผู้ใดจะเคยมีความสำคัญในแผ่นดินเพียงใด เช่น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งทรงเป็นผู้ดูแลอภิบาลเจ้าชายพระองค์นี้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ หรือหม่อมเอลิซาเบธ พระชายาชาวเยอรมัน ได้พยายามวิ่งเต้นขอร้องอ้อนวอนถึงขั้นขอความเมตตาจากรัฐบาลสมัยนั้น แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือผ่อนผันใดๆ ทั้งสิ้น กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 4 ปี 7 เดือน 27 วัน และก่อนที่จะมีคำสั่งให้ทรงพ้นโทษเพียง 2 วัน ได้เกิดเรื่องแปลกขึ้นกับพระองค์ ดังที่ทรงเล่าให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ซึ่งเป็นพระญาติที่ทรงเคารพนับถือมากพระองค์หนึ่งฟังในภายหลังว่า

“—มีเรื่องแปลกจะเล่าถวาย คืนหนึ่งหม่อมฉันฝันเห็นทูนหม่อมเสด็จมา แต่งพระองค์ทรงเครื่องกันหนาว พระพักตร์เบิกบานทีเดียว พอหม่อมฉันเข้าไปเฝ้าก็ทรงยิ้ม อ้าพระกรรับ ไม่ได้ตรัสประการใด หม่อมฉันก็เข้าไปกอดท่านแน่น เอียงหน้าซบไว้ที่พระอุระร้องไห้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้น ยังรู้สึกอิ่มเอิบชื่นใจ ที่แก้มยังรู้สึกสาก เพราะกดอยู่กับฉลองพระองค์สักหลาด และยังมีน้ำตาเปียกชุ่มอีกด้วย อีก 2 วันต่อมาก็ได้ทราบข่าวว่าเขาจะปล่อยตัว น่าประหลาดมาก—”

ไม่มีผู้ใดสามารถจะบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรมพระยาชัยนาทฯ คืออะไร แต่ก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ ยิ่งย้ำความรู้สึกที่ว่า เจ้าชีวิตพระองค์นี้ ยังคงเฝ้ามองดูห่วงใยช่วยเหลือและปกปักรักษาประชาชนและบ้านเมืองของพระองค์อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2561