รัชกาลที่ 5 “พ่อ” ผู้เอาพระทัยใส่การศึกษาของพระราชโอรสเพื่อทำงานของบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับพระราชโอรสที่ทรงศึกษาวิชาการอยู่ในยุโรป เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พ.ศ. 2440

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชันษาบรรลุนิติภาวะ รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดินด้วย พระองค์เองในพ.ศ. 2416 แล้ว ก็ได้ทรงริเริ่มการปรับปรุงเปลี่ยน แปลงบ้านเมืองเท่าที่จะทรงกระทําได้ จากนั้นเป็นเวลาประมาณ 10 ปีที่บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอทรงเจริญวัยพอที่จะเป็นกําลังในราชการได้ การพัฒนาประเทศจึงสามารถเร่งให้รวดเร็วขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงฝากความหวังไว้กับพระราชโอรส ที่มีพระบรมราโชบายให้ได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด ในแขนงวิชาต่างๆ ที่บ้านเมืองต้องการ และได้ทรงเริ่มส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการ ณ ทวีปยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2428 เป็นต้นไป เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2453 นั้น พระราชโอรส 19 พระองค์ที่เสด็จไปศึกษา ณ ทวีปยุโรป ได้ทรงสําเร็จการศึกษากลับมารับราชการในหน้าที่การงานต่างๆ กันเกือบทุกพระองค์แล้ว ยกเว้น 3 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ, สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกฯ, และ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ซึ่งเป็นพระราชโอรสรุ่นเยาว์,

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกําหนดพระบรมราโชบายในการศึกษาของบรรดาพระราชโอรสในทวีปยุโรปอย่างรัดกุมและรอบคอบ, อีกทั้งทรงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของแนวทางการศึกษาในระดับสูงของพระราชโอรสเป็นรายบุคคล ตามความ เหมาะสมและให้สอดคล้องกับขีดความสามารถและบุคลิกภาพของแต่ละองค์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปในการเสด็จประพาสครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 ซึ่งขณะนั้นมีพระราชโอรสทรงกําลังศึกษาอยู่ในประเทศต่างๆ หลายพระองค์, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งที่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ผู้ซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นพระอภิบาลบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอ มีข้อความหลายตอนที่บ่งชี้พระบรมราโชบายและพระราชดําริในเรื่อง การศึกษาของพระราชโอรส.

เช่นในเรื่องความแตกต่างระหว่างการเรียนวิชาทหารกับการ ศึกษาวิชาทางด้านพลเรือน, รับสังว่า

“ข้างฝ่ายทหารต้องการฝึกหัดลองทําด้วยตนเอง หรือเขาใช้ให้ไปทํา จําต้องทําโดยมาก, แต่เป็นการเบากว่าฝ่ายพลเรือนในทางความคิด เป็นเรียนอาศัยตัวอย่างมาก เมื่อเด็กที่มีอายุเพียงนั้นมีความคิดยังไม่กว้างขวางลึกซึ้ง มีราวที่จะไต่เดินได้ง่ายกว่า แต่ข้างฝ่ายพลเรือนนั้นไม่มีหลักอันใด นอกจากความอุตสาหะและความพอใจของผู้เรียนนั่นเอง ถ้าตัวอุตสาหะก็เรียนรู้ ไม่อุตสาหะก็ไปไม่ถึงไหน เหมือนปล่อยเดินด้วยลําพังตัวเอง, การที่จะกะหน้าที่ฝ่ายพลเรือนให้เรียนสําหรับทําการทางนั้นทางนี้ ต้องอาศัยความรู้เบื้องต้นอย่างเดียวกัน เอานิสัยของผู้ที่จะเรียนเป็นหลัก.”

สําหรับ “เจ้าฟ้า” นั้น รับสั่งว่า “คงจะต้องเป็นทหารทุกคน เว้นไว้แต่ที่กําลังกายไม่พอ แต่ต้องเรียนรู้วิชาพลเรือนด้วย. ส่วนพระองค์เจ้านั้นจะเป็นทหารฤาพลเรือนก็ไม่สู้กีดขวางอันใดนัก”

นอกจากนั้นก็ยังทรงพิจารณาตั้งข้อสังเกตพระราชโอรสแต่ละองค์อย่างน่าสนใจ

“ลูกโต [รัชกาลที่ 6] ซึ่งไปเป็นทหารชั้นต้น [ที่โรงเรียนนาย ร้อยแซนด์เฮิร์สต์] นั้น เป็นการมีคุณอยู่ จะได้คิดจัดการทหารพอมีคุณอยู่ จะได้คิดจัดการทหารพอมีทางพูดจาให้เข้าใจกันได้ แต่ไม่จําเป็นจะต้องเป็นทหารอย่างดี เพราะจะไม่ทําหน้าที่นั้นฝ่ายเดียว เมื่อได้เรียนพอสมควรแล้วต้อง กลับมาเรียนฝ่ายพลเรือน ซึ่งจะเป็นภาคพื้นสําหรับหน้าที่ [พระเจ้าแผ่นดิน] ต่อไป…เป็นคนสันดานซื่อตรงกิเลสไม่กล้าก็เป็นคุณสมบัติดี การที่จะเฉยๆ ต่ออะไรๆ ไป ก็คงจะเป็นได้ แต่เป็นเรื่องที่จะ ต้องซักซ้อมแก้ไข.”

“ส่วนลูกชายบริพัตรและชายเล็ก [สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ] 2 คนนี้มีความเชื่อใจว่าถ้าหากว่าให้เรียนพลเรือน คงจะได้ราชการดีทั้ง 2 คน… แต่เพราะเหตุการณ์ที่จะต้องไปอยู่ในประเทศ ซึ่งเราต้องการจะรู้การของประเทศนั้น [ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงไป อยู่เยอรมัน ขณะที่ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ทรงไปอยู่รุสเซีย] และเพื่อจะให้ได้เข้าในสมาคมที่สูง จึงต้องเป็นทหาร… เป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้างว่าจะต้องเป็นทหารเสียช้านาน

การศึกษาฝ่ายพลเรือนน้อยไป แต่อย่างไรก็เราเชื่อว่าคงจะไม่เป็นเหตุให้ถึงแก่ทําการฝ่ายพลเรือนไม่ได้ด้วยความสามารถของตัวเด็ก… ชายบริพัตรและชายเล็กนั้นเป็นคนคิดไม่นิ่ง, ชายเล็กกล้ากว่าบริพัตร แต่มีพุ่งไปบ้าง. ชายบริพัตร หย่อนข้างกล้า แต่ระวังมาก ความสังเกตทรงจําเข้าใจว่าเหมือนกัน แต่ถ้าในขบวนเข้าสมาคม โต้เถียง เล่นฤาจริง เล็กคล่องกว่าแต่ชายบริพัตรนั้นดีพอตัว คงจะไม่มีเหตุให้เกิดด้วยทางซุกซนหรือเกะกะ แลถ้าได้เล่าเรียนทางใด คงจะเอาดีได้ทางนั้น แต่ไม่เป็นคนกล้า”

สําหรับพระเจ้าลูกยาเธอองค์อื่นๆ บางองค์ ก็ได้ทรงตั้งข้อ สังเกตในพระอุปนิสัยไว้พอสมควร เช่น

“ชายวุฒิไชย [กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร] ตามที่กะไว้ เดิมเป็นทหารเรือนั้นสมตัว… เมื่อเด็ก ๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ ก่อนจะอยู่ ข้างเขลา แต่จะไปดีขึ้นข้างนอกอย่างไร ยังไม่มีท่าทางที่จะสังเกตได้พอ.”

“ชายบุรฉัตร [กรมพระกําแพงเพชรอัครโยธิน] อยู่ข้างจะเป็นคนขี้อวด มีท่าทางที่จะเป็นเช่นนักเรียน [นอก] แต่ก่อนๆ คือมักจะอวด แลถือความรู้มากไปกว่าที่ทําได้จริง แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นด้วยความประสงค์จะแสดงความเท็จ เป็นด้วยตื่นๆ เมาๆ ตัวหน่อยๆ หนึ่ง  ถ้ากวดให้มีความรู้ได้มากๆ จนความที่เชื่อตัวของตัวไม่ยิ่งไปกว่าความรู้แล้ว ก็คงจะใช้ได้ดี.

“ชายอาภากร [กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์] นั้นอัธยาศัย เป็นคนซื่อมาแต่เดิม เป็นผู้ที่สมควรแก่วิชาที่เรียน (การทหารเรือ อยู่แล้ว ไม่เป็นคนที่มีอัธยาศัยที่จะใช้ฝีปากได้ในการฝ่ายพลเรือน แต่ถ้าเป็นการในหน้าที่อันเดียวกันซึ่งชํานาญ คงจะมั่นคงในทางนั้น แลตรงไปตรงมา การที่ได้ไปพบในคราวนี้ เห็นว่าอัธยาศัยดีขึ้นกว่า แต่ก่อนมาก.”

“ส่วนชายยุคล [สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรี ราเมศวร์] นั้น อาศัยกําลังกายและรูปร่างเล็ก ทั้งที่มีเป็นทหารมากแล้ว [คือทรงเรียนทหารกันหลายองค์แล้ว] ควรจะตั้งหน้าเป็นพลเรือนทีเดียว จะควรจับทางไรก็ให้จับทางนั้น แลหวังใจว่าคงจะเรียนไม่ยอมแพ้ใคร…”

“ชายเพ็ญ [กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม] นั้นผิดกับที่ได้เคย สังเกตมาแต่เมื่อเล็กๆ เข้าใจว่าไม่โง่ แต่จะเอาเป็นเฉียบแหลมนั้น ไม่ได้อยู่เอง แต่อัธยาศัยเป็นคนขี้กระดากแลไม่กล้า การเล่าเรียนที่ไม่เป็นผู้เฉียบแหลมว่องไว เป็นเหตุให้มีที่สงสัยว่าจะคาดผิดไปได้ บ้างกระมัง แต่หวังว่าถ้ารู้เพียงใด คงใช้การได้มั่นคงตามความรู้แล กําลังปัญญา”

พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ทั้ง 8 พระองค์ที่กล่าวถึงนี้ เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ “รุ่นกลาง” ซึ่งในพ.ศ. 2440 ทรงมีพระชันษาระหว่าง 13-17 ปี สําหรับพระเจ้าลูกยาเธอ “รุ่นใหญ่” 4 พระองค์ คือกรมพระจันทบุรีนฤนาถ, กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, กรมหลวงปราจิณกิติบดี และกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงมีพระชันษาเกินกว่า 20 ปีขึ้นไปแล้ว และขณะนั้นทรงสําเร็จการศึกษากลับไปรับราชการที่ใช้ วิชาความรู้ที่ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนมากันแล้ว

สําหรับพระราชโอรส “รุ่นเล็ก” ซึ่งขณะนั้นยังมีพระชันษาไม่ถึง 10 ปี ก็ยังมิได้เสด็จออกมาศึกษาในยุโรป.

ความจริงพระราชโอรส “รุ่นกลาง”  ที่กําลังศึกษาอยู่ในยุโรปปีพ.ศ. 2440 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อยก็ยังมีอีก 3 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี) พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์ (กรมหมื่นไซยาศรีสุริโยภาส), และพระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ (สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรา ซึ่งในขณะนั้นมีพระชันษาประมาณ 13-14 ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งถึงพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐในวัย 13-14 ปี ซึ่งได้ตามเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 เพื่อไปทรงศึกษาเบื้องต้นในประเทศอังกฤษไว้ดังนี้

“ยังมีอีกคนหนึ่ง ชายดิลก เป็นคนตาสั้นข้างหนึ่ง ตามตํารา เขาก็จะไม่เอาเป็นทหารกันอยู่ ควรจะจัดให้เล่าเรียนฝ่ายพลเรือน ดิลกนั้นเป็นคนขยันในการเล่าเรียน มีไอเดียเป็นลาวๆ อยู่บ้าง ถ้าไม่มีความรู้อาจจะฟุ้งซ่านได้เล็กน้อย แต่เป็นคนไม่สู้กล้า ยังจะเอาเป็น แน่ไม่ได้ ด้วยอยู่ในเวลากําลังที่จะเปลี่ยนแปลง นี่แลเป็นการที่ สังเกตได้ในอัธยาศัยทั้งเก่าทั้งใหม่ดังนี้ แต่ต้องสังเกตเมื่อเวลาเจริญ ขึ้นต่อไป เมื่อตรวจเห็นผิดถูกประการใด ขอให้บอกมาให้ทราบ แล คอยสังเกตตาไว้ จัดการป้องกันแลแก้ไขเข้าหา ให้ทางที่จะเสียหย่อน ไป ให้สิ่งที่หย่อนอยู่เจริญขึ้น.”

สําหรับประโยคหลังๆ นี้ ทรงน่าจะหมายถึงพระราชโอรสทุกพระองค์ที่ได้รับสังถึงในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาพระเสด็จฯ

ในกาลต่อมา เมื่อบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 19 พระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ ได้สําเร็จการศึกษากลับมารับราซแล้ว, ก็ได้ทรงแยกย้ายกันรับใช้บ้านเมืองอย่างเต็มพระสติกําลังและความสามารถ ดังปรากฏ ข้อมูลดังนี้คือ

1. พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พ.ศ. 2417-74) ทรงศึกษาวิชาเศรษฐกิจการคลังที่อังกฤษ (น่า จะเป็นที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) กลับมารับราชการในตําแหน่งเสนาบดี กระทรวงพระคลังฯ และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์, อีกทั้งทรงเป็นสภา นายกแห่งสภาการคลัง และเป็นประธานอภิรัฐมนตรี (ในรัชกาลที่ 7).

2. พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พ.ศ. 2417-63) ทรงศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และได้รับปริญญา บี.เอ. กลับมารับราชการ ในตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ

3. พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พ.ศ.2418-62) ทรงศึกษา (น่าจะเป็นทางอักษรศาสตร์) ที่อังกฤษ และฝรั่งเศส กลับมารับราชการในตําแหน่งราชเลขานุการฝ่ายต่างประ เทศ และเสนาบดีตําแหน่งราชเลขาธิการ

4. พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พ.ศ. 2419-56) ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษและศึกษาวิชา ทหารบกในประเทศเดนมาร์ค กลับมารับราชการในตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และดํารงพระยศเป็นจอมพล.

5. พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พ.ศ. 2423-66) ทรงศึกษาวิชาทหารเรือที่อังกฤษ และกลับมารับราชการในกองทัพเรือ ได้รับยศเป็นพลเรือเอก ตําแหน่งเสนาธิการทหารเรือและเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

6. สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) (พ.ศ. 2424-68) ทรงศึกษาวิชาทหารบกที่นายร้อยแสนด์เฮิร์สต์และวิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

7. สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ. 2424-87) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่อังกฤษ แล้วไป ศึกษาวิชาทหารบกที่เยอรมนี กลับมารับราชการ ได้รับพระราชทาน ยศเป็นจอมพลเรือ และจอมพล ดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวง ทหารเรือ, เสนาธิการทหารบก, เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

8. พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พ.ศ. 2425-97) ทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์และมหา วิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนที่จะศึกษาวิชาทหารช่างในอังกฤษ เมื่อกลับมารับราชการได้ทรงดํารงตําแหน่งแม่ทัพน้อย, จเรทหารช่าง, ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงได้รับยศพลเอก

9. พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พ.ศ. 2425-52) ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ และกลับมารับ ราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ.

10. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. 2426 – 2463) ทรงศึกษาวิชาสามัญในประเทศอังกฤษ แล้วไปศึกษาวิชาทหารบกที่ประเทศรุสเซีย กลับมารับราชการใน ตําแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้รับยศเป็นจอมพล,

11. สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (พ.ศ. 2426-75) ทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์ และสําเร็จ ได้รับปริญญา บี.เอ. จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในตําแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

12. พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร (พ.ศ. 2426-90) ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในกองทัพเรือ ได้รับยศเป็นพลเรือเอก ตําแหน่ง เสนาธิการทหารเรือ และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

13. พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี (พ.ศ.2427-55) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่อังกฤษ ก่อนที่จะเสด็จ ไปศึกษาต่อที่เยอรมนี จนกระทั่งสําเร็จจากมหาวิทยาลัยทึบบิงเงน ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์ “ดอกเตอร์วิทสตาตส์ วิส เจนจัฟท์” กลับมารับราชการในตําแหน่งเจ้ากรมพลําภัง (กรมการปกครอง) กระทรวงมหาดไทย

14. พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส (พ.ศ. 2427-63) ทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในตําแหน่งอธิบดีโรงกระษาปณ์ฯ, ผู้ตรวจการกรมศิลปากร, และผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

15. พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พ.ศ.2424-94) ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษ และเยอรมนี และต่อมาได้ศึกษาวิชาครู ณ มหาวิทยาลัยไฮเต็ลแบร์ก เยอรมนี เมื่อสําเร็จการศึกษาได้กลับมารับราชการในตําแหน่งอธิบดี กรมสาธารณสุข อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ, ประธานคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์, ผู้ สําเร็จราชการแทนพระองค์, และประธานองคมนตรี,

16. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ.2432-64) ทรงศึกษาวิชาทหารที่อังกฤษระยะสั้น และ กลับมารับราชการตําแหน่งผู้บัญชาการกองพล ยศพลตรี แล้วไปดํารง ตําแหน่งผู้สําเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ยศพลเรือเอก

17. สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) (พ.ศ. 2434-72) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์ ในอังกฤษ แล้วเสด็จไปศึกษาวิชาทหารบกและวิชาทหารเรือที่เยอรมนี และต่อมาได้ไปศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

18. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ.2435-66) ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และสําเร็จได้รับปริญญา บี. เอ. กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง

19. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) (พ.ศ.2436-84) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนอีตัน ในอังกฤษ ก่อนที่จะเข้าโรงเรียนนายร้อยที่วูลิช กลับมารับราชการในตําแหน่งผู้บัญชาการ กองพลที่ 2

จากข้อมูลข้างต้นนี้ จักเห็นได้ว่าพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ทั้ง 19 พระองค์ที่ทรงได้รับการศึกษาในยุโรป ได้แยกย้ายกันแสวงหา ความรู้และประสบการณ์ในวิชาการแขนงต่างๆ ทั้งทางทหารและทาง พลเรือน และทุกพระองค์ก็ได้กลับมารับราชการที่ใช้ความรู้และประสบการณ์ดังกล่าว ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้ว่าต่างก็ได้ทรงมีส่วน สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองเป็นอันมาก


ข้อมูลจาก

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร. เศรษฐกิจสยามฯ, สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2544


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2562