ทุกวินาทีมีค่า! แพทย์เตือน “กรมหลวงสงขลานครินทร์” พระชนมายุจะไม่ยืนหากทรงงานหนัก

กรมหลวงสงขลานครินทร์
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อทรงรับราชการในกองทัพเรือ

ทุกวินาทีมีค่า! แพทย์เตือน “กรมหลวงสงขลานครินทร์” พระชนมายุจะไม่ยืนหากทรงงานหนัก

“—เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีก ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ แล้วไม่ใช้มันก็เป็นที่น่าเสียดาย—”

เป็นพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งมักจะทรงกล่าวพระราชทานแก่ลูกศิษย์หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อเร่งให้ทุกคนใช้เวลาทุกนาทีให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติและประเทศชาติ

พระราชดำรัสนี้เมื่อเวลาผ่านไปและหวนกลับมาคิดถึงก็จะรู้สึกสะเทือนในหัวใจของทุกคน เพราะดูราวกับว่าจะทรงรู้พระองค์ว่าทรงมีเวลาไม่มากนักสำหรับที่จะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ความเร่งรีบในทุกพระภาระที่ทรงปฏิบัติเพื่อความรุ่งเรืองมั่นคงของกิจการแพทย์ น่าจะเป็นพยานยืนยันถึงความมุ่งหวังผลสำเร็จในเวลาที่ยังทรงดำรงพระชนมชีพในโลกมนุษย์ เพราะ “—เมื่อมันล่วงไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีก—”

สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อทรงเจริญพระชันษาโปรดให้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาทหารเรือที่ประเทศเยอรมนี ครั้นสำเร็จการศึกษาโปรดเข้ารับราชการในกองทัพเรือไทย

รัชกาลที่ 5 ฉาย ภาพ ร่วมกับ กรมหลวงสงขลานครินทร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๐

ทรงมุ่งมั่นในการที่จะทำให้กองทัพเรือไทยเจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมอารยประเทศ แต่เกิดความขัดข้องคับพระราชหฤทัยอันเนื่องจากความเห็นที่ไม่ตรงกันกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพเรือ ดังที่สมเด็จกรมพระยาชัยนาททรงเล่าไว้ว่า

“—กองทัพเรือไทยในเวลานั้นมีเรือน้อย เกือบจะเรียกกองทัพเรือไม่ได้จริงๆ เจ้าฟ้ามหิดลมีนิสัยเป็นทหารจริงๆ จึงรู้สึกคับพระทัย ทรงคิดถึงเรื่องเรือรบเป็นอันมาก ท่านสนพระทัยในเรือเล็กๆ ที่ไทยน่าจะมีไว้มาก—”

ขณะที่ทรงกำลังผิดหวังกับพระราชประสงค์ในการที่จะทำประโยชน์ให้กองทัพเรือไทยนั้น สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงพยาบาลศิริราช พระภาระสำคัญคือการพัฒนาสถาบันทั้งสองให้รุ่งเรืองและมั่นคง จึงทรงชี้ให้เห็นถึงวิถีทางอื่นในอันที่จะสามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากิจการทหาร นั่นคือกิจการแพทย์ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่สำคัญประการหนึ่ง เพราะบ้านเมืองจะเจริญมั่นคงไม่ได้อย่างแน่นอนหากประชาชนมีสุขภาพพลานามัยไม่สมบูรณ์อ่อนแอจนไม่สามารถประกอบอาชีพใดๆ ได้

และยิ่งเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นในความยากลำบากของผู้เจ็บป่วยที่ต้องการการรักษาแต่ขาดแคลนทั้งแพทย์ผู้รักษา อาคารสถานที่ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะหันมาช่วยพัฒนากิจการแพทย์และสาธารณสุขให้เจริญมั่นคงเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ ดังปรากฏพระราชดำริในการตัดสินพระราชหฤทัยครั้งนั้นในคำกราบทูลต่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า

“—โตขึ้นพอมีความคิดก็รู้สึกสลดใจว่าตั้งแต่หม่อมฉันเกิดมาเห็นแต่เสด็จแม่ทรงเป็นทุกข์โศก ไม่มีอะไรที่จะทำให้ชื่นพระหฤทัยเสียเลย สงสารเสด็จแม่ จึงคิดว่าลูกผู้ชายของท่านเหลืออยู่แต่หม่อมฉันคนเดียว ควรจะสนองพระคุณณด้วยทำการงานอย่างหนึ่งให้เสด็จแม่ทรงยินดีด้วยเห็นลูกสามารถทำความให้เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้ ไม่เลี้ยงมาเสียเปล่า เมื่อคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรดี หม่อมฉันคิดเห็นว่า ในทางราชการนั้น มีทูลกระหม่อมพระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ อยู่หลายพระองค์แล้ว ตัวหม่อมฉันจะทำราชการหรือไม่ทำ ก็ไม่ผิดกันเท่าใดนัก จึงคิดว่าการช่วยชีวิตผู้คนพลเมืองเป็นการสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันอาจจะทำได้โดยลำพังตัว เพราะทรัพย์สินส่วนตัวก็มีพอจะเลี้ยงชีวิตแล้ว จะสละเงินที่ได้รับพระราชทานในส่วนที่เป็นเจ้าฟ้าเอามาใช้เป็นทุนทำการตามความคิดให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยเหตุดังทูลมานี้หม่อมฉันจึงจะไม่ทำราชการ—”

เมื่อตัดสินพระราชหฤทัยแน่วแน่ในการที่จะทรงพัฒนากิจการแพทย์ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เป็นอยู่ พระองค์ก็ทรงทุ่มเททั้งกำลังพระราชหฤทัย กำลังพระวรกาย และกำลังทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้พระราชภาระที่ทรงมุ่งมั่นสำเร็จลงโดยเร็ว ความมุ่งมั่นในพระราชภาระทำให้ทรงลืมบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ นั่นคือพระพลานามัยของพระองค์เอง

โรงเรียนแพทย์แห่งแรก ณ โรงศิริราชพยาบาล (โรงพยาบาลศิริราช)

ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่ามีพระพลานามัยที่ไม่ใคร่จะสมบูรณ์นัก อันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทรงรู้สึกเห็นใจ เข้าใจ และสงสารผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยากจน ต้องรักษากันไปตามมีตามเกิด ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ พระราชประสงค์สำคัญในเวลานั้น ก็คือการช่วยเหลือผู้คนให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วย หรือหากเจ็บป่วยมากแล้วก็ให้ทุเลาเบาบางพบกับความเจ็บปวดน้อยที่สุด

เพื่อให้เห็นชัดถึงน้ำพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่นในพระราชภาระที่เกี่ยวกับกิจการแพทย์ที่ทรงปฏิบัติในช่วงเวลาเพียง 13 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับผลงานที่ทรงปฏิบัติแล้ว กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เจ้านายพระองค์นี้สามารถที่จะปฏิบัติได้ในช่วงเวลาอันน้อยนิด และยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะขณะปฏิบัติพระราชภาระนั้นก็ยังมีพระอาการประชวรเข้าแทรกแซงเป็นระยะๆ เพราะหลังจากที่ตัดสินพระราชหฤทัยกราบถวายบังคมลาออกจากกระทรวงทหารเรือใน พ.ศ. 2459 ก็ได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาแพทย์และสาธารณสุขที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อจะได้มีความรู้ทำประโยชน์ให้กับกิจการด้านนี้อย่างได้ผลสมบูรณ์

ในระหว่างที่กำลังทรงศึกษาก็มิได้ทรงปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ทรงวางแผนการพัฒนากิจการแพทย์ไปด้วยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการจัดเตรียมผู้ที่มีความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่อย่างมีคุณภาพ เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับผู้จะเข้ามาศึกษาวิชาแพทย์ต่อไปโดยโปรดประทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนให้เด็กชายหญิงเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา การประทานทุนการศึกษานั้นยังเกิดผลทางอ้อมคือทำให้ผู้คนพากันสนใจในกิจการแพทย์ และหันมานิยมที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนแพทย์พยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขั้นตอนต่อจากการเตรียมบุคลากรก็คือ โครงการบริหารงาน โครงการการก่อสร้างอาคารสถานที่ที่จำเป็นทั้งของโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ ทุกโครงการจะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมีคุณภาพขึ้นอยู่กับเงินทุนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ

แม้จะทรงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นทุนให้การศึกษา ทั้งสร้างอาคารสถานที่ เช่น โปรดให้ซื้อโรงเรียนวังหลังและปรับปรุงให้เป็นที่พักอาศัยของพยาบาลและนักเรียนพยาบาลเป็นจำนวนเงิน 70,000 บาท โปรดให้สร้างตึกศัลยกรรมชายเป็นเงิน 80,000 บาท โดยไม่ทรงยอมให้เปิดเผย แต่หลังจากเสด็จสวรรคตแล้วจึงให้ชื่ออาคารนี้ว่า “ตึกมหิดลบำเพ็ญ” และเมื่อพระชนมายุได้ 28 พรรษา ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200,000 บาท เพื่อเป็นทุนเก็บดอกผลส่งนักศึกษาไปเรียนวิชาแพทย์พยาบาลที่ต่างประเทศ เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์และแพทย์ต่อไป

“ตึกมหิดลบำเพ็ญ” เป็นตึก 2 ชั้นเมื่อแรกสร้าง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการต่อเติมเป็นตึก 3 ชั้น

ประมาณกันว่าได้โปรดพระราชทานเงินอีกหลายครั้งรวมเป็นเงินเกินกว่าล้านบาท ส่วนใหญ่ก็เพื่อปรับปรุงกิจการและการศึกษาของแพทย์และพยาบาล แม้จะใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่เมื่อกิจการแพทย์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็ต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว งบประมาณที่ได้จากรัฐบาลก็มีเพียงน้อยนิดไม่พอกับการพัฒนากิจการ ต้องทรงเรี่ยไรบอกบุญในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด แม้จะได้มาบ้าง แต่ความจำเป็นในการใช้เงินก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องทรงแก้ไขให้ลุล่วง

พระราชดำริหนึ่งซึ่งถือเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาตินับแต่อดีตจนปัจจุบัน คือพระราชดำริขอความร่วมมือสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนการวิจัยด้านการแพทย์ทั่วโลก การขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิในครั้งนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบากนานาประการ เพราะจะต้องทำให้มูลนิธิเชื่อถือในความตั้งใจของคนไทยที่จะพัฒนากิจการแพทย์ให้เจริญก้าวหน้าเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง

ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและเชื่อถือในกิจการแพทย์สมัยใหม่ ต้องทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้คนไทยทุกคนเข้าใจและเชื่อถือด้วยการยกระดับกิจการแพทย์เพื่อให้เข้าถึงคนทุกชั้นวรรณะ และพยายามทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับถึงวัตถุประสงค์ของพระองค์

เล่ากันว่าการประสานงานเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจและเห็นด้วยนั้น ทรงต้องใช้ทั้งกำลังพระราชหฤทัย กำลังพระวรกาย และกำลังทรัพย์ ไปพร้อมๆ กัน ทรงต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงจนประสบผลสำเร็จในที่สุด พระราชภารกิจทุกอย่างที่ทรงปฏิบัตินั้นเป็นการปฏิบัติระหว่างกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นวิชาที่ยาก ต้องเอาพระราชหฤทัยใส่มาก ท่ามกลางพระพลานามัยที่ไม่ทรงสมบูรณ์ อันเนื่องมาจากพระโรคพระวักกะพิการซึ่งมักกำเริบทุกครั้งที่ทรงงานหนัก

แม้แพทย์จะเตือนว่าจะมีพระชนมายุไม่ยืนยาวหากยังทรงงานหนักเช่นนั้น ซึ่งน่าที่จะทำให้ทรงรู้พระองค์ดีว่าเวลาในพระชนมชีพของพระองค์คงไม่ยืนยาวนัก ด้วยเหตุนี้เวลาทุกวินาทีของพระองค์จึงทรงคุณค่ายิ่งนัก จะทรงปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์มิได้เป็นอันขาด และก่อนที่จะทรงสอบครั้งสุดท้ายก็ทรงพระประชวรด้วยพระโรคไส้ติ่งอักเสบ แต่ก็ทรงผ่านมาได้ สามารถสำเร็จการศึกษาทั้ง 2 แขนงได้อย่างสมบูรณ์

เมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทยก็ยิ่งทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกายและกำลังพระราชหฤทัยให้กับกิจการแพทย์ ทั้งการสอนนักเรียนแพทย์ด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นองค์อาจารย์ที่มีพระคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งจริงจังกับการถ่ายทอดวิชาการ เอาพระราชหฤทัยใส่กับลูกศิษย์ทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน ในหน้าที่แพทย์ก็เอาพระราชหฤทัยใส่ในการดูแลรักษาคนไข้ แม้แต่เวลาเข้าบรรทมแล้ว ถ้ามีการเรียกหมอกลางดึกจะต้องเสด็จฯ ทุกครั้ง

ประการสำคัญให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการวิจัยโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสและบัคเตรี ทั้งนี้เพื่อจะได้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคต่างๆ โปรดเสด็จฯ ไปเก็บเชื้อโรคด้วยพระองค์เองในสถานที่ที่แม้สามัญชนคนธรรมดาก็ไม่อยากที่จะเฉียดใกล้ เช่น ในตลาดสด ในคุกตะราง หรือตามเว็จสาธารณะ และในห้องทดลองก็ทรงตรวจอุจจาระและปัสสาวะคนไข้ด้วยพระองค์เอง โดยทรงมุ่งมั่นกับผลที่จะได้รับโดยไม่ย่อท้อและไม่ทรงคำนึงถึงสิ่งอื่นแม้แต่สุขภาพของพระองค์

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ตระหนักพระราชหฤทัยดีว่ากิจการแพทย์ของสยามมีความจำเป็นต่อชีวิตของราษฎร และต่อความเจริญของบ้านเมือง ในส่วนพระองค์แม้พระพลานามัยจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ทรงเร่งที่จะปฏิบัติพระราชภารกิจในความรับผิดชอบของพระองค์อย่างมุ่งมั่นจนแทบจะกล่าวได้ว่า เวลาทุกนาทีของพระองค์มีคุณค่าอย่างที่สุด ในเวลาเดียวกันก็ทรงอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ตลอดจนผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ทุกคนรู้คุณค่าของเวลาโดยจะมีพระราชดำรัสเสมอว่า

“—เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีก ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ แล้วไม่ใช้มันก็เป็นที่น่าเสียดาย—”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2560