“มัวแต่รักษาพระเกียรติ ก็ไม่ต้องทำงานกัน” พระดำริในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อทรงรับราชการในกองทัพเรือ

สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงตัดสินพระทัยจะเข้าช่วยเหลืองานด้านการแพทย์สยาม แต่แล้ว สิ่งที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของงานอย่างหนึ่งคือ การที่ทรงมีฐานันดรศักดิ์สูงส่ง ทำให้ไม่ทรงสามารถที่จะปฏิบัติพระภาระบางอย่างด้านการแพทย์ได้อย่างสะดวก เพราะขนบประเพณีซึ่งถือว่าเจ้านายคือ สมมุติเทพที่จะต้องถวายพระเกียรติให้อย่างสูงสุดจนไม่สามารถที่จะปฏิบัติตนเยี่ยงเดียวกับคนสามัญได้

จนนำมาสู่พระดำรัสว่า

“—เมืองไทยเรา ถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเขาบ้าง เขาว่าจะเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ ก็ไม่ต้องทำงานกัน—”

สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือจากประเทศเยอรมนี ได้รับยศนายเรือตรีในกองทัพเรือเยอรมัน

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือสยามอยู่ระยะหนึ่ง มีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้มาพัฒนากองทัพเรืออย่างเต็มที่ แต่ครั้นถึงคราวนำมาปฏิบัติจริง กลับไม่สามารถใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์อย่างที่ทรงมุ่งมั่นไว้ จึงท้อพระทัย ประจวบกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาโรงเรียนราชแพทยาลัย กำลังดำเนินการปรับปรุงพัฒนากิจการแพทย์ของสยามให้เจริญรุ่งเรืองตามแบบอารยประเทศ หน้าที่และพระภาระสำคัญคือ การปรับปรุงพัฒนากิจการโรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงพยาบาลศิริราชให้ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย

แม้จะทรงใช้ทั้งวิชาความรู้ กำลังพระทัย กำลังพระวรกาย พัฒนากิจการทั้ง 2 อย่างเต็มพระสติกำลัง แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดซึ่งแก้ได้ยากคือการขาดแคลนเงินทุน

นอกจากงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับเพียงน้อยนิด รวมกับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว ก็ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายซึ่งเพิ่มขึ้นตามงานที่ขยายใหญ่ อันเนื่องมาจากความตื่นตัวนิยมของผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาวิชาการแพทย์ที่โรงเรียนราชแพทยาลัย และผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาความเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลศิริราช

สิ่งที่ขาดแคลนคือครูผู้สอน อาคารเรียน อาคารรักษาผู้ป่วย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์ทั้งสิ้น ครั้นทรงทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานด้านทหารเรือของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ จึงมีพระดำริถึงประโยชน์ของทั้งองค์สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ ที่จะได้รับ คือการทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองในด้านสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับพระอุปนิสัยและน้ำพระทัยที่อ่อนโยนมีพระเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วไป และประโยชน์ที่การแพทย์สยามจะได้รับคือ ความก้าวหน้ารุ่งเรืองและมั่นคงดังพระดำริที่ว่า

“—ท่านเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง เท่าที่ข้าพเจ้าผู้เป็นแต่พระองค์เจ้า ได้เข้าไปจัดการศึกษาวิชาแพทย์และโรงพยาบาลอยู่แล้วก็ได้ทำให้เรื่องนี้เด่นขึ้น—ถ้าได้เจ้าฟ้าเข้ามาช่วยก็ยิ่งจะทำให้เรื่องนี้เด่นขึ้นไปอีก—”

เมื่อเรื่องนี้เด่นขึ้นก็จะต้องเป็นที่สนใจทำให้มีความสำคัญเพิ่มขึ้น การขอความร่วมมือกับบุคคลต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น และพระดำริอีกประการหนึ่งคือ

“—ท่านเป็นผู้มีรายได้สูงมาก แต่ไม่ทรงใช้จ่ายในการบำรุงความสุขสำราญของพระองค์อย่างฟุ่มเฟือย โปรดบำเพ็ญพระกุศลสาธารณประโยชน์—โปรดอุดหนุนแก่ผู้ที่ทรงเชื่อว่าจะเล่าเรียนมาทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้ดี—”

ด้วยพระดำรินี้จึงทรงชักชวนชี้แนะให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ ทรงเห็นถึงความสำคัญของกิจการแพทย์สยาม เมื่อกรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพที่แท้จริงของทั้งโรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากเพราะความขาดแคลนสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ บุคลากรผู้จะทำหน้าที่สอนหรือรักษาผู้เจ็บป่วย รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งการสอนและการรักษา ล้วนขาดแคลนไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์

ทรงพระดำริว่าการที่ประเทศชาติจะเจริญมั่นคงได้ก็ต้องอาศัยประชาชน หากประชาชนมีสุขภาพพลานามัยอ่อนแอก็จะไม่สามารถประกอบกิจการใดอันจะเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ซ้ำจะนำมาซึ่งผลเสีย และทรงเชื่อว่าพระองค์เองน่าที่จะทรงมีศักยภาพพอสำหรับที่จะทรงรับพระภาระนี้ จากพระคุณสมบัติประจำพระองค์คือ มีความตั้งพระทัยจริงแน่วแน่ในพระปณิธานที่จะอุทิศพระองค์เพื่อทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน

อีกประการหนึ่งคือ การที่ทรงมีฐานันดรศักดิ์สูงจึงเป็นที่นับถือของคนทั่วไป เมื่อสนพระทัยสิ่งใดก็จะพาให้คนทั่วไปให้ความสนใจและให้ความร่วมมือ

ประการสำคัญคือ ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีฐานะดี รายได้สูง แต่ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสมถะไม่หรูหราฟุ่มเฟือย รายจ่ายส่วนใหญ่ของพระองค์เป็นไปเพื่ออุดหนุนผู้ที่สามารถจะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้

พระคุณสมบัติในข้อที่ทรงมีฐานันดรศักดิ์สูง ทำให้ผู้คนพากันให้ความสนใจและร่วมมือนั้นนับเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็กลับให้ผลเสียกับการปฏิบัติงาน เพราะฐานันดรศักดิ์นั้นมีขนบประเพณีและความเชื่อของผู้คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นกรอบกำกับอยู่อย่างเหนียวแน่น เจ้านายในสายตาและความเชื่อของสามัญชนก็คือสมมุติเทพที่มีชีวิตความเป็นอยู่และวัตรปฏิบัติแตกต่างจากคนสามัญ ความสูงส่งของเจ้านายทำให้เจ้านายไม่สามารถที่จะปฏิบัติกิจกรรมบางอย่างที่คนสามัญเห็นว่าไม่เหมาะสมหากปฏิบัติจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ

ดังนั้นเมื่อกรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และแพทยศาสตร์กลับมาปฏิบัติราชการ มีพระประสงค์อย่างแรงกล้าในอันที่จะใช้วิชาทั้งสองให้เป็นประโยชน์กับวงการแพทย์สยามอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการวิเคราะห์วิจัยมูลฐานของโรค ซึ่งมูลฐานของโรคในสยามขณะนั้นส่วนใหญ่เกิดจากพยาธิซึ่งมีอยู่หลายชนิดและทำให้เกิดโรคต่างๆ

การวิเคราะห์วิจัยจะทำให้สามารถรู้จักวิธีกำจัดและป้องกันได้ แต่การที่จะได้ตัวพยาธิมานั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคนานาประการ เพราะพยาธิอาศัยอยู่ในที่สกปรก เช่น ในน้ำครำตามตลาดสด ในอุจจาระที่อยู่ในเว็จสาธารณะ สถานที่เหล่านี้แม้สามัญชนคนทั่วไปก็ไม่มีใครอยากเข้าไปใกล้หรือสัมผัส แต่ความจำเป็นในการวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับมูลฐานของโรคนั้นต้องอาศัยสิ่งสกปรกเหล่านี้เป็นสำคัญ

ด้วยความตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะศึกษามูลเหตุของโรคอันจะทำให้การป้องกันและการรักษาโรคนั้นได้ผลอย่างเต็มที่และยังจะเป็นแนวทางให้รู้ถึงวิธีการกำจัดเชื้อโรคชนิดนั้นๆ อย่างถาวร พระองค์ทรงใช้ความพยายามในการชี้แจงให้เจ้าของสถานที่ที่มีพระประสงค์จะไปตรวจ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะทุกครั้งที่เสด็จไปในสถานที่ดังกล่าว สถานที่นั้นจะต้องถูกทำความสะอาดจัดแต่งเสียใหม่ให้สะอาดงดงาม ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามที่มีพระประสงค์ ทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความลำบาก ดังที่มีพระดำรัสว่า

“—เมืองไทยเรา ถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเขาบ้าง เขาว่าจะเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำงานกัน—”

ด้วยเหตุนี้ จึงทรงพยายามที่จะเสด็จไปโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้านานนัก เช่น ครั้งที่เสด็จไปกองมหันตโทษพระนครในเวลาทุ่มตรงพร้อมนายแพทย์ชาวอเมริกัน ทรงขอให้เจ้ากรมกองมหันตโทษนำนักโทษจำนวนหนึ่งมาเฝ้าเพื่อขอเจาะเลือดตรวจเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อบิด และเมื่อเสด็จกลับมานำผลมาแจ้งเพื่อจะได้ดำเนินการรักษา ครั้งนี้ทรงนำนักเรียนแพทย์มาด้วยจำนวนหนึ่งและทรงถือโอกาสนำนักเรียนแพทย์เข้าไปตรวจเว็จอุจจาระของนักโทษ เพื่อนำอุจจาระไปตรวจหาพยาธิ และทรงให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขอนามัยของนักโทษ และความสะอาดของบริเวณที่คุมขัง

นอกจากนี้ยังทรงพยายามหาวิธีและโอกาสเสด็จไปในสถานที่สาธารณะ ซึ่งทรงคาดว่าจะมีเชื้อโรคและพยาธิชนิดต่างๆ เช่น ครั้งที่ทรงพานักเรียนแพทย์เสือป่าตามเสด็จไปซ้อมรบที่บ้านโป่ง ก็ทรงถือเป็นโอกาสพานักเรียนไปยังตลาดสดเพื่อดูเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่พบได้ในเนื้อปลาช่อนที่แม่ค้านำมาขาย และยังทรงนำลูกศิษย์ของพระองค์สำรวจตรวจตราดูแลเกี่ยวกับความสะอาดของอาหารที่ประกอบขึ้นภายในค่าย และตรวจตราสุขลักษณะของส้วม ซึ่งขณะนั้นใช้ส้วมหลุม เมื่อพบสิ่งใดที่ควรจะอบรมสั่งสอนหรือให้ความรู้ ก็จะทรงอบรมสั่งสอนและให้ความรู้ด้วยพระองค์เองอย่างเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและหวังดี

กล่าวได้ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทำให้กิจการแพทย์ของไทยเจริญก้าวหน้าและมั่นคงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก้าวทันอารยประเทศมาจนปัจจุบัน นอกจากพระปรีชาสามารถและพระเมตตา ซึ่งทรงมีต่อคนทั่วไปไม่เลือกชั้นวรรณะ ประกอบเข้ากับพระวิริยะอุตสาหะ ไม่ทรงย่อท้อต่ออุปสรรคนานาประการ และอาจกล่าวได้ว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้งานเดินไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั้นก็คือพระดำริที่ว่า

“—เมืองไทยเรา ถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเขาบ้าง เขาว่าจะเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ ก็ไม่ต้องทำงานกัน—”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงท้อพระทัยพัฒนากองทัพเรือ มามุ่งดันการแพทย์


หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงใหม่จากเนื้อหาในบทความ “‘—มัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ ก็ไม่ต้องทำงานกัน—‘ พระดำริสำคัญในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ” โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2562

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2563