สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงท้อพระทัยพัฒนากองทัพเรือ มามุ่งดันการแพทย์

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อทรงรับราชการในกองทัพเรือ

เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงใหม่โดยใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “’สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย’ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์” โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2561 และจัดย่อหน้าใหม่ให้สอดคล้องกับระบบออนไลน์

ผนวกกับแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานในกองทัพเรือ คือ “กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ”

เนื้อหามีดังนี้


…สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลเดช

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนราชกุมารแล้วได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษและเยอรมนี ด้วยเหตุที่เป็นพระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า จึงทรงเข้าศึกษาวิชาทหารตามพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า พระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าที่มีพระสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์จะต้องทรงศึกษาวิชาทหารทุกคน

เจ้าชายพระองค์นี้จึงทรงเข้าศึกษาวิชาทหารบกเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัย Royal Prussian Military College เมือง Potadam และทรงเลือกศึกษาวิชาทหารเรือต่อที่ Imperial German Naval College เมือง Flensburg ทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับพระยศเป็นนายเรือตรีในกองทัพเรือเยอรมัน

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือสยาม มีพระปณิธานในอันที่จะนำความรู้ด้านการทหารเรือมาพัฒนากองทัพเรือสยามให้เจริญรุ่งเรืองมั่นคง พระประสงค์แรกในการเข้ารับราชการในกองทัพเรือ คือการทำหน้าที่ประจำกองบังคับการในเรือรบเพื่อปฏิบัติหน้าที่ออกทะเลฝึกทหารตามที่ได้ทรงร่ำเรียนมา แต่กระทรวงทหารเรือลงความเห็นว่าไม่เป็นการเหมาะสมที่เจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจะทรงปฏิบัติพระภาระนี้ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชเข้าประจำกรมเสนาธิการทหารเรือ เพื่อศึกษาวิธีการบริหารงานในกองทัพเรือ พระราชทานพระยศเป็นนายเรือโทแห่งราชนาวีสยาม และย้ายไปกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตำแหน่งอาจารย์นายเรือ พระราชทานพระยศเป็นนายเรือเอก

แม้จะทรงผิดหวังกับความตั้งพระทัยในเบื้องแรก แต่เมื่อทรงรับหน้าที่ใดก็ทรงปฏิบัติหน้าที่นั้นอย่างเต็มพระสติกำลัง เพื่อให้กองทัพเรือสยามได้รับประโยชน์สูงสุดและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเจริญรุ่งเรืองมีศักยภาพทัดเทียมอารยประเทศ ครั้งนั้นทรงศึกษาถึงความจำเป็นและเป็นไปได้ในการพัฒนากองทัพเรือ จึงโปรดร่างโครงการสร้างกองทัพเรือรบหรือโครงการสร้างกำลังทางเรือ (Flottembau Plan)

ทรงบรรยายถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการที่กองทัพเรือสยามจะต้องมีเรือตอร์ปิโดหรือเรือดำน้ำไว้ใช้ ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าสยามเป็นเมืองเล็ก จึงสมควรที่จะมีเรือขนาดเล็ก เช่น เรือตอร์ปิโดหรือเรือดำน้ำ ใช้แล่นเข้าออกแม่น้ำได้สะดวกรวดเร็วและยังสามารถที่จะใช้เกาะแก่งหรืออ่าวเป็นที่กำบังทั้งคลื่นลมและสายตาศัตรู แทนฐานทัพเรือหรืออู่เรือ ซึ่งกองทัพเรือสยามยังไม่มี ทรงบรรยายถึงรายละเอียดกับประโยชน์การใช้สอย วิธีการจัดหา วิธีการใช้ แม้กระทั่งการบริหารการปกครองบังคับบัญชาภายในกองเรือรบนี้ และยังมีภาพร่างของเรือรบขนาดเล็กแบบต่างๆ ตลอดจนคุณสมบัติของเรือรบแต่ละชนิด แต่ละขนาด แต่ละลำ

แต่โครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในกองทัพเรือ ซึ่งพากันเห็นพ้องกันว่ากองทัพเรือสยามสมควรที่จะมีเรือรบขนาดใหญ่ เพื่อเป็นศักดิ์ศรีของกองทัพ และจะได้ใช้ในการฝึกทหารด้วย ทำให้ท้อพระทัยไม่เห็นหนทางที่จะพัฒนากองทัพเรือสยามให้เป็นไปตามที่ทรงร่ำเรียนมา เป็นเวลาเดียวกันกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนากิจการแพทย์สยาม เพราะต้องทรงประสบปัญหาและอุปสรรคนานาประการ ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า บางคราวถึงกับหยุดชะงัก และเนื่องจากทรงมีความสนิทสนมกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์

เมื่อทรงประจักษ์ถึงความผิดหวังเสียพระทัยของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ จึงปลุกปลอบพระทัยและชักชวนให้ทรงเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนากิจการแพทย์ของสยาม ซึ่งมีความสำคัญและความจำเป็นไม่น้อยไปกว่ากิจการทหารหรือกิจการอื่นๆ เพราะหากพลเมืองของประเทศใดสุขภาพไม่แข็งแรงมีความเจ็บป่วยซึ่งไม่อาจป้องกันหรือรักษาได้ พลเมืองของประเทศนั้นก็ไม่สามารถที่จะนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองมั่นคงได้ไม่ว่าในด้านใดๆ ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะยิ่งเมื่อได้ทรงเห็นสภาพความขาดแคลนของกิจการแพทย์ ทั้งหมอที่จะรักษาผู้ป่วย อุปกรณ์การแพทย์ที่จะใช้รักษา ตลอดจนอาคารสถานที่ก็มีไม่เพียงพอ ทั้งยังไม่สะดวก ไม่สะอาดถูกลักษณะอนามัย ทำให้สลดพระทัยเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการที่จะต้องพัฒนากิจการแพทย์สยามให้ก้าวหน้า เพราะตระหนักพระทัยถึงความสำคัญของการแพทย์สมัยใหม่ อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง ซึ่งตรงกับพระปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นในอันที่จะทำคุณประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือทางหนึ่งทางใดให้แก่บ้านเมือง

ประกอบกัน พระดำริที่ว่า ในสถานะเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งสูงทั้งพระอิสริยศักดิ์และรายได้ อันจะทำให้กิจการต่างๆ ที่มีพระประสงค์จะปฏิบัติสำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่ยาก และอีกเหตุผลหนึ่งที่เกี่ยวกับพระดำรินี้ ปรากฏในคำกราบบังคมทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ว่า

“—จึงคิดว่าลูกผู้ชายของท่านก็เหลืออยู่แต่หม่อมฉันคนเดียว ควรจะสนองพระคุณ ด้วยการทำการงานอย่างหนึ่งให้เสด็จแม่ทรงยินดี ด้วยเห็นลูกสามารถทำความให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองได้—”

ด้วยพระดำริและเหตุผลดังกล่าว ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ตัดสินพระทัยกราบบังคมทูลลาออกจากราชการกองทัพเรือ ในวันที่ 20 มกราคม 2459 รวมระยะเวลาที่ทรงรับราชการในกองทัพเรือสยามรวม 9 เดือน 18 วัน และหันมาสนพระทัยด้านการแพทย์อย่างจริงจัง โดยเสด็จไปทรงศึกษาวิชาแพทย์และสาธารณสุขที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจะได้นำวิชาความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่กลับมาพัฒนากิจการแพทย์ของสยาม

กรมหลวงสงขลานครินทร์มีพระคุณสมบัติในการที่จะพัฒนากิจการแพทย์สยามอย่างครบถ้วน นับแต่ความรู้ซึ่งมีพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปทรงศึกษาในวิทยาการที่ตรงกับพระภาระที่จะทรงปฏิบัติ ทำให้กิจการแพทย์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น ด้วยการเป็นทั้งพระอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ เป็นทั้งแพทย์รักษาผู้เจ็บป่วย และยังทรงค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ เพื่อที่จะได้หาวิธีบำบัดรักษาโรคนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

นอกจากนี้ยังทรงมีทุนทรัพย์มากพอที่จะช่วยเหลือพัฒนากิจการแพทย์ด้วยการประทานทุนทรัพย์ให้เด็กไทยไปศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลในต่างประเทศ เป็นการยกวิทยฐานะแพทย์พยาบาลให้สูงขึ้น ทำให้แพทย์และพยาบาลมีความรู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์โรคและรักษาผู้เจ็บป่วยด้วยวิทยาการสมัยใหม่ เป็นเหตุให้ประชาชนหันมานิยมรักษาความเจ็บป่วยด้วยการแพทย์แผนใหม่และยังประทานทุนทรัพย์เพื่อสร้างอาคารสถานที่ที่จำเป็นกับกิจการแพทย์

ย้อนกลับไปที่แนวคิดเรื่องเรือขนาดเล็กนั้น หากอ้างอิงตามข้อมูลจากกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ มีข้อมูลเผยแพร่ในหลายช่องทางว่า “ความคิดที่จะมีเรือดำน้ำเป็นกำลังรบของไทยนั้น ได้มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2453 แต่ติดขัดด้วยงบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญ” 

นอกจากนี้ ยังระบุรายละเอียดว่า เมื่อพ.ศ. 2458 สมเด็จพระบรมราชชนก ดำรงพระอิสริยยศเป็นนายเรือโท สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ครั้งที่พระองค์เสด็จกลับจากการศึกษาวิชาการทหารเรือในกองทัพเยอรมัน และทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ พระองค์ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับกำลังเรือดำน้ำ ซึ่งทรงใช้ชื่อว่า “ความเห็นเกี่ยวกับเรือ ส.” (คำอธิบายเรื่อง “เรือ ส.” ในโครงการระบุว่า “คือเรือดำน้ำสำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึก…”) เสนอต่อเสนาธิการทหารเรือในเวลานั้นคือ นายพลเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2458

โครงการนี้มีรายละเอียดเจาะลึกตั้งแต่ขนาดและคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือควรจะมี เรือพี่เลี้ยง  อู่ โรงงานที่ต้องการ กำลังพลประจำเรือ การฝึกและการสวัสดิการของคนประจำเรือ ไปจนถึงงบประมาณในการนี้

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ยกข้อความในเนื้อหาซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงอธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ข้าศึกจะคอยคิดถึงเรือ ส.ของเราในเวลาที่เขาจะจัดกองทัพเรือเข้ามาตีกรุงสยาม.. เพื่อจะหนีอันตรายจากเรือ ส. ข้าศึกคงจะไม่ส่งเรือใหญ่เข้ามาเพื่อให้มาเป็นเป้าแก่เรือ ส.ได้.. ข้าศึกคงจะส่งเรือขนาดเล็กแล่นเร็ว เพราะฉะนั้นต้องส่งหลายลำทำให้การจับจ่ายใช้สอยแพงเงินขึ้น การขนทหารด้วยเรือเล็กจะต้องมากกว่าเรือใหญ่ การส่งเสบียงอาหารจะเป็นการลำบากมากเพราะจะต้องมีเรือรบคุมเสมอ.. ถ้าเรือที่ส่งเข้ามาเป็นเรือเล็กแล้ว จะมีช่องให้เรือพิฆาตและเรือปืนของเราต่อสู้ได้โดยไม่เสียเปรียบมากนัก.. ถ้าเรามีเรือ ส.แล้ว ข้าศึก จะต้องระวังอยู่เสมอ ไม่ให้เรือ ส.เข้าโจมตีโดยไม่รู้ตัวได้ การระวังอันนี้ทำให้คนประจำเรือได้รับความลำบากมาก…”

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2563