ย้อนตำนาน “เรือดำน้ำ” 4 ลำแรกของกองทัพเรือไทย

เรือดำน้ำ เรือดำน้ำไทย อ่าวสัตหีบ
เรือดำน้ำไทยทั้ง 4 ลำ ออกฝึกภาคในอ่าวไทย แล้วเข้ามาจอดอยู่ในอ่าวสัตหีบ

แนวคิดการนำ “เรือดำน้ำ” มาประจำการในกองทัพมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อประโยชน์การป้องกันประเทศ แต่ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ ฐานะเศรษฐกิจของประเทศก็ไม่อำนวยให้กองทัพจัดซื้อหรือสร้างเรือดำน้ำได้

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปลาย พ.ศ. 2478 สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ให้กองทัพจัดการบำรุงกำลังทางเรือให้เสร็จภายในเวลา 5 ปี ใช้งบประมาณ 18 ล้านบาท กองทัพจึงได้กำหนดความต้องการเรือดําน้ำไว้ 5 ลำ ประมาณราคาไว้ลำละ 2.3 ล้านบาท และต้องการในขั้นแรก 3 ลำ

นาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ ผู้บัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้ นาวาเอก หลวงสินธุ์สงครามชัย (พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ เป็นหัวแรงในการจัดหากำลังทางเรือ โดยได้มีการประกวดราคาสร้างเรือดําน้ำในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 มีตัวแทนบริษัทต่าง ๆ เสนอราคา มีทั้งเสนอสร้าง 3 ลำ และสร้าง 4 ลํา

โดยบริษัทมิตซูบิชิจากประเทศญี่ปุ่นเสนอราคาต่ำที่สุด คือสร้างเรือดำน้ำขนาด 370 ตัน มีปืนใหญ่และลูกปืน มีท่อตอร์ปิโด ไม่มีลูกตอร์ปิโด เสนอสร้าง 3 ลำ ราคาลําละ 826,452 บาท เสนอสร้าง 4 ลํา ราคาลำละ 820,000 บาท กองทัพเรือจึงได้ตกลงเลือกบริษัทมิตซูบิชิ 

กองทัพเรือลงนามเซ็นสัญญากับบริษัทมิตซูบิชิ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น โดยตกลงสร้างเรือดําน้ำจำนวน 4 ลำ โดยเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ระวางขับน้ำเพียงลำละ 370 ตันเศษเท่านั้น แต่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำทั่วไปแล้ว เรือดำน้ำที่กองทัพเรือจัดสร้างนี้ ก็เป็นเพียงเรือดำน้ำชนิดรักษาชายฝั่งทะเลเท่านั้น

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับพระราชทานชื่อว่า ร.ล. (เรือหลวง) มัจฉาณุ หมายเลข 1, ร.ล วิรุณ หมายเลข 2, ร.ล. สินสมุทร หมายเลข 3 และ ร.ล. พลายชุมพล หมายเลข 4

พิธีรับเรือหลวง มัจฉาณุ และ เรือหลวง วิรุณ ที่เมือง โกเบ ประเทศ ญี่ปุ่น เรือดำน้ำ ทหารเรือ
พิธีรับเรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2480 ภาพจากหนังสือ “ที่ระลึกทหารเรือดำน้ำแห่งราชนาวีสยาม ในการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ มิถุนายน 2479 ถึง พฤษภาคม 2481” (ภาพจาก เพจห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

บริษัทมิตซูบิชิได้เริ่มทำวางกระดูกงู ร.ล. มัจฉาณุ และ ร.ล. วิรุณ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 โดยมีพระมิตรกรรมรักษา อัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว เป็นผู้กระทำพิธีวางกระดูกงู และต่อมา วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้กระทำพิธีวางกระดูกงู ร.ล. สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล

กองทัพเรือได้จัดส่งนายทหารชั้นสัญญาบัตรและทหารชั้นประทวนเป็นรุ่น ๆ ไปศึกษาวิชาเรือดําน้ำที่ประเทศญี่ปุ่น จนครบจำนวนทหารประจำการของเรือทั้ง 4 ลำ โดยเรือแต่ละลำมีทหารประจำการ 32 คน รวม 4 ลำ 128 คน

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ เดินทางออกจากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 มีการจัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ

หลังจากนั้น กองทัพเรือได้ขึ้นระวางประจำการเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ออกฝึกซ้อมครั้งแรกที่เกาะคราม ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2481 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2481 จากนั้นก็ฝึกซ้อมเป็นประจำเรื่อยมา กระทั่ง เกิดสงครามอินโดจีน เมื่อ พ.ศ. 2484 ภายหลังยุทธนาวีเกาะช้าง เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำออกลาดตระเวนใกล้ฐานทัพเรือฝรั่งเศส แต่เพื่อผลทางยุทธการ จึงตัดสินใจเลี่ยงให้เข้ามาปฏิบัติการในน่านน้ำไทย เพราะเกรงว่าจะถูกต่อตีด้วยเรือดำน้ำ

ต่อมาช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดโจมตีกรุงเทพฯ และได้โปรยทุ่นระเบิดปิดกั้นเส้นทางเดินเรือ บริเวณสันดอนปากน้ำ ทำให้ปิดทางเข้าออกแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วงเวลาหนึ่ง ร.ล. พลายชุมพล และ ร.ล. สินสมุทร ซึ่งออกไปปฏิบัติการกำลังเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จึงต้องแวะเกาะสีชังไปก่อน จนกว่าจะทำการกวาดทุ่นระเบิดเสร็จเรียบร้อย

และเมื่อโรงไฟฟ้าสามเสนและวัดเลียบถูกระเบิดทำลาย ทำให้ในกรุงเทพฯ ไม่มีไฟฟ้าพอใช้ ผู้จัดการไฟฟ้ากรุงเทพฯ ทราบว่า เรือดำน้ำสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จึงร้องขอมายังกองทัพเรือ แล้วอนุมัติให้ ร.ล. มัจฉาณุ และ ร.ล. วิรุณ ไปเทียบท่าบริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) ทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถรางสายหลักเมือง-ถนนตก โดยขณะที่เรือทั้ง 2 ลำ จ่ายกระแสไฟฟ้าอยู่นั้น ทหารเรือต้องทำงานเสี่ยงอันตรายอย่างมาก และต้องคอยหลบการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ตลอดเวลา

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ มีสภาพทรุดโทรม ขาดแคลนชิ้นส่วนที่จะใช้ซ่อมแซม เนื่องจากการสั่งซื้อจากบริษัทมิตซูบิชิไม่สามารถทำได้ เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและถูกยึดครอง กองทัพเรือได้พยายามหาทางซ่อมแซมเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ อยู่หลายปี แต่ก็ไม่บรรลุผล

ต่อมา หลังจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อ พ.ศ. 2494 ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในกองทัพเรืออย่างมาก กระทรวงกลาโหมมีคําสั่งยุบเลิกหมวดเรือดำน้ำ แล้วให้โอนไปรวมในหมวดเรือตรวจฝั่งที่ตั้ง ขึ้นใหม่ ต่อมา ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เรือดำน้ำ ทั้ง 4 ลำ ถูกปลดระวางประจำการ รวมเวลารับใช้กองทัพเรือ 12 ปีเศษ หลังจากนั้น เรือทั้ง 4 ลํา ได้จอดคู่เทียบติดกันลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราชอยู่อีกเป็นเวลานาน

กระทั่ง ได้ขายเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ให้บริษัทปูนซีเมนต์ คงเหลือแต่หอเรือดำน้ำและอาวุธบางชิ้น เช่น ปืน และกล้องส่อง กองทัพเรือจึงได้สร้างสะพานเดินเรือจำลองขึ้น และนำอาวุธมาติดตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ จัดแสดงไว้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ หน้าโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ. (2554). ประวัติเรือดำน้ำของกองทัพเรือ. นาวิกาธิปัตย์สาร. ฉบับที่ 82


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2563