4 กันยายน “วันเรือดำน้ำ” และวันที่กองทัพเรือมีพิธีรับเรือดำน้ำจากบริษัทญี่ปุ่น

เรือหลวงมัจฉาณุ และ เรือหลวงวิรุณ
พิธีรับเรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2480 ภาพจากหนังสือ “ที่ระลึกทหารเรือดำน้ำแห่งราชนาวีสยาม ในการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ มิถุนายน 2479 ถึง พฤษภาคม 2481” (ภาพจาก เพจห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2480 บริษัท มิตซูบิชี โชยีไกชา จำกัด แห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาการว่าจ้างต่อ “เรือดำน้ำ” จำนวน 4 ลำ ให้กับกองทัพเรือ ได้สร้างเรือดำน้ำ 2 ลำแรก เสร็จสมบูรณ์ ได้แก่ เรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ และได้ทำพิธีส่งมอบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำ ให้แก่กองทัพเรือ นับว่าเป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์กองทัพเรือ

พิธีรับ เรือหลวงมัจฉาณุ และ เรือหลวงวิรุณ
พิธีรับเรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2480 ภาพจากหนังสือ “ที่ระลึกทหารเรือดำน้ำแห่งราชนาวีสยาม ในการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ มิถุนายน 2479 ถึง พฤษภาคม 2481” (ภาพเผยแพร่ใน เพจห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2481 บริษัท มิตซูบิชีฯ สร้างเรือดำน้ำอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพลเสร็จสมบูรณ์

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำได้ออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2481 และเดินทางถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2481 ตามลำพังโดยปราศจากเรือพี่เลี้ยง ซึ่งยังความประหลาดใจแก่ชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันเป็นอันมาก

เพราะเรือดำน้ำขนาดเล็กเช่นนี้ต่างประเทศย่อมมีเรือพี่เลี้ยงทั้งสิ้น นี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความกล้าหาญและความสามารถของกำลังพลประจำเรือดำน้ำของกองทัพเรือ และเข้าประจำการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2481 ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่ 2

(ภาพจาก เพจห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

เรือหลวงมัจฉาณุปลดประจำการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 พร้อมกันทั้ง 4 ลำ เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลก และไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และโรงงานแบตเตอรี่ของไทยที่ตั้งขึ้นก็ไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ประจำเรือได้ ประกอบกับเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนาดใหญ่ในกองทัพเรือ มีคำสั่งยุบหมวดเรือดำน้ำ โอนย้ายไปรวมกับหมวดเรือตรวจฝั่งที่ตั้งขึ้น ซึ่งเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับใช้ราชการในกองทัพเรือเป็นเวลากว่า 14 ปีเต็ม

ภายหลังปลดประจำการ เรือทั้งสี่ลำได้นำมาจอดเทียบกันที่ท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช ต่อมาได้มีการขายเรือให้กับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เพื่อทำการศึกษาและ Reverse engineering คงเหลือแต่หอบังคับการ อาวุธปืน และกล้องส่อง ทางกองทัพเรือได้นำมาจัดสร้างสะพานเรือจำลอง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ หน้าโรงเรียนนายเรือ และที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ

ต่อมากองทัพเรือได้กำหนดให้วันที่ 4 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันเรือดำน้ำ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิก อดีตทหารเรือ ที่เคยเป็นนักดำเรือดำน้ำ กลุ่มชมรมเรือดำน้ำ และนายทหารประจำการที่เคยศึกษาวิชาเรือดำน้ำยุคใหม่ได้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งได้ร่วมทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับนักดำเรือดำน้ำไทยในอดีตที่ล่วงลับไปแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ และภาพจาก เพจห้องวิจัยประวัติศาสตร์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2562