วีรกรรมเรือดำน้ำในไทย มาช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้ากทม. สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพประกอบเนื้อหา - ความเสียหายหลังจากการทิ้งระเบิด

ยุทโธปกรณ์ถือเป็นปัจจัยสำคัญของกองทัพในการทำสงคราม แต่บางครั้งก็ถูกนำมาใช้อำนวยความสะดวกแก่พลเรือนดังเช่นข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารบันทึกโดยศูนย์ยุทธศาสตร์ทหารเรือที่อ้างอิงว่า เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำ 2 ลำคือ ร.ล. มัจฉาณุ และ ร.ล. วิรุณ เคยจ่ายไฟฟ้าเข้ามาอำนวยความสะดวกในกรุงเทพฯ ท่ามกลางสถานการณ์เสี่ยงอันตราย

ร.ล. มัจฉาณุ และ ร.ล. วิรุณ เป็น 2 ใน 4 เรือดำน้ำแรกของสยาม ส่วนอีก 2 ลำคือ ร.ล. สินสมุทร และ ร.ล. พลายชุมพล เรือดำน้ำ 4 ลำแรกในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทยนั้น เป็นกองทัพเรือเลือกบริษัทมิตซูบิชิ จากประเทศญี่ปุ่น ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอสร้างเรือดำน้ำขนาด 370 ตัน มีปืนใหญ่และลูกปืน มีท่อตอร์ปิโด ไม่มีลูกตอร์ปิโด เสนอสร้าง 3 ลำ ราคาลําละ 826,452 บาท เสนอสร้าง 4 ลํา ราคาลำละ 820,000 บาท กองทัพเรือตกลงเลือกบริษัทมิตซูบิชิ ปรากฏบันทึกลงนามเซ็นสัญญากับบริษัทมิตซูบิชิ วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

Advertisement

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ เดินทางออกจากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 ฝ่ายไทยจัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ

หลังจากขึ้นระวางประจำการแล้ว ปรากฏว่ากองทัพใช้เรือดำน้ำฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งเกิดสงครามอินโดจีน เมื่อ พ.ศ. 2484 และปรากฏยุทธนาวีเกาะช้างขึ้น

17 มกราคม พ.ศ. 2484 ทัพเรือไทยปะทะทัพเรือฝรั่งเศสใน “ยุทธนาวีเกาะช้าง”

การสู้รบบริเวณเกาะช้างเริ่มขึ้นในช่วงเช้าตรู่วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 กำลังรบทางเรือของฝ่ายไทยที่รักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้น ประกอบด้วย เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงสงขลา ได้เข้าต่อสู้ขัดขวางกองเรือฝรั่งเศส ซึ่งมีกำลังทางเรือถึง 7 ลำ ประกอบด้วย เรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือสลุป 2 ลำ และเรือปืน 4 ลำ ผลของการสู้รบทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเรือทั้ง 3 ลำ พร้อมชีวิตของทหารเรือรวม 36 นาย ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสแทบไม่ได้รับความสูญเสียใดๆ แต่ก็เป็นฝ่ายล่าถอยออกไปเอง

ภายหลังยุทธนาวีเกาะช้าง เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำออกลาดตระเวนใกล้ฐานทัพเรือฝรั่งเศส แต่เพื่อผลทางยุทธการ จึงตัดสินใจเลี่ยง ให้เข้ามาปฏิบัติการในน่านน้ำไทย เพราะเกรงว่าจะถูกต่อตีด้วยเรือดำน้ำ

เวลาล่วงเลยมาถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่ทราบกันดีว่า กรุงเทพฯ ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรยังโปรยทุ่นระเบิดปิดกั้นเส้นทางเดินเรือบริเวณสันดอนปากน้ำ ทางเข้าออกแม่น้ำเจ้าพระยาถูกปิดไประยะหนึ่ง ร.ล. พลายชุมพล และ ร.ล. สินสมุทร ซึ่งออกไปปฏิบัติการกำลังเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จึงต้องแวะเกาะสีชังจนกว่าจะกวาดทุ่นระเบิดเสร็จเรียบร้อย

ในช่วงที่โรงไฟฟ้าสามเสนและวัดเลียบถูกระเบิดทำลาย กรุงเทพฯ ไม่มีไฟฟ้าพอใช้ ผู้จัดการไฟฟ้ากรุงเทพฯ ทราบว่า เรือดำน้ำสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จึงร้องขอมายังกองทัพเรือ จากนั้นปรากฏการอนุมัติให้ ร.ล. มัจฉาณุ และ ร.ล. วิรุณ ไปเทียบท่าบริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) และจ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถรางสายหลักเมือง-ถนนตก

บันทึกเรื่อง “ประวัติเรือดำน้ำของกองทัพเรือ” โดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ ระบุว่า ขณะที่เรือทั้ง 2 ลำ จ่ายกระแสไฟฟ้าอยู่ ทหารเรือต้องทำงานเสี่ยงอันตรายอย่างมาก และต้องคอยหลบการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ตลอดเวลา


อ้างอิง:

ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ. (2554). ประวัติเรือดำน้ำของกองทัพเรือ. นาวิกาธิปัตย์สาร. ฉบับที่ 82


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2563