พลเรือตรี กนก นพคุณ ผบ.หมวดเรือดำน้ำคนแรกในสยาม ผู้ถูกควันหลงกบฏแมนฮัตตัน

เรือดำน้ำ พลเรือตรี กนก นพคุณ
(ภาพจากเพจ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

พลเรือตรี กนก นพคุณ เกิดที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เมื่อจบจากโรงเรียนสวรรควิทยาแล้วได้เข้ามาเรียนต่อที่ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ต่อมาสอบเข้าโรงเรียนนายเรือ เมื่อ พ.ศ. 2463 ผลการเรียนดีตลอด สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 28 เมื่อเมษายน 2468 และรับราชการต่อมาอีกหลายตำแหน่ง เช่น ต้นปืน ร.ล.สุครีบครองเมือง, นายธงพระยาวิชิตชลธี, นักเรียน ร.ร.เสนาธิการ, ผบ.ร.ล.เสือทะยานชล เป็นต้น

พลเรือตรี กนก นพคุณ
ร.อ.กนก นพคุณ ถ่ายเมื่อทำการศึกษาการใช้เรือดำน้ำ ณ ประเทศญี่ปุ่น

พ.ศ. 2478 รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงกองทัพเรือ จึงได้สั่งต่อเรือดำน้ำรักษาฝั่งขนาดเล็กจำนวน 4 ลำจากบริษัทอู่ต่อเรือมิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ร.อ.กนก นพคุณ (ยศขณะนั้น) เป็นนายทหารที่ได้รับคัดเลือกกลุ่มแรก เพื่อเดินทางไปศึกษาการใช้เรือดำน้ำในความควบคุมของ น.อ.สวัสดิ์ จันทนี ซึ่งต่อมา น.อ.สวัสดิ์ฯ ป่วยจำเป็นต้องเดินทางกลับก่อน ร.อ.กนกฯ ซึ่งอาวุโสรองลงมาจึงได้เลื่อนเป็นหัวหน้าทหารทั้งหมดที่ไปศึกษาการใช้เรือฯ

ทหารเรือสยามต้องไปเรียนภาษาญี่ปุ่นที่เมืองฟูนาบาชิ 4 เดือน แล้วค่อยย้ายมาเรียนวิชาเรือดำน้ำที่เมืองโกเบ โดยพักอยู่รวมกันที่อาคาร 2 ชั้นบริเวณของอู่ต่อเรือมิตซูบิชิ มีอาจารย์ผู้ปกครองชื่อ น.อ.สุเกโยชิ ยัตสุชิโร และอาจารย์ที่สอนวิชาเรือดำน้ำชื่อ น.ท.โกโตฯ และ น.ท.มูรัตสุมิฯ

“ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี การศึกษาใช้เรือดำน้ำทางตำราคงกระทำต่อไปรวมทั้งภาษาญี่ปุ่นด้วย การฝึกหัดออกคำสั่งและการปฏิบัติต่างๆ ใช้ภาษาญี่ปุ่นซึ่งต้องหัดกันจนคล่องแคล่ว เมื่อเรือของเราใกล้เสร็จ นักเรียนทั้งหมดก็ไปศึกษาส่วนต่างๆ ของตัวเรือและเครื่องประกอบที่เรือดำน้ำจำลองซี่งสร้างด้วยไม้ ขนาดและลักษณะเหมือนของจริงที่บริเวณอู่ต่อเรือ ซึ่งได้ประโยชน์มาก เพราะทำให้เราคุ้นเคยกับลักษณะอันยุ่งยากของเรือ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติสถานีต่างๆ ได้ก่อนที่จะลงประจำเรือจริงๆ”

เรือดำน้ำ 2 ลำแรกคือ ร.ล.มัจฉานุ และ ร.ล.วิรุณ แล้วเสร็จส่งมอบเรือเมื่อ 4 กันยายน 2480 ร.อ.กนก นพคุณได้รับบรรจุในตำแหน่งผู้บังคับการ ร.ล.มัจฉานุ และเป็นผู้ดูแลงานต่อเรือ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล จนสำเร็จส่งมอบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2481

เรือดำน้ำ มัจฉานุ
พิธีปล่อยเรือ ร.ล.มัจฉานุลงน้ำที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

5 มิถุนายน 2481 โดย ร.อ.กนก นพคุณ เป็นผู้บังคับการ ร.ล.มัจฉานุ และเป็นหัวหน้านำเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ออกเดินทางจากเมืองโกเบ กลับสยามโดยไม่มีเรือพี่เลี้ยง ถึงกรุงเทพฯ ร่วมในพิธีต้อนรับเมื่อ 29 มิถุนายน 2481

เรือดำน้ำ มัจฉานุ
ร.ล.มัจฉานุ แล่นทดลองในน่านน้ำเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

19 กรกฎาคม 2481 กองทัพเรือจัดให้มีพิธีเจิมเรือดำน้ำและขึ้นระวางเป็นเรือประจำการทั้ง 4 ลำ ร.อ.กนก นพคุณ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการ ร.ล.มัจฉานุ และผู้บังคับการหมวดเรือดำน้ำคนแรกของสยามอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

เรือดำน้ำ จองที่ อ่าว สัตหีบ
เรือดำน้ำไทยทั้ง 4 ลำ ออกฝึกภาคในอ่าวไทย แล้วเข้ามาจอดอยู่ในอ่าวสัตหีบ

เมื่อเกิดกรณีกบฏแมนฮัตตันเมื่อ 29 มิถุนายน 2494 ขณะนั้น พลเรือตรี กนก นพคุณ เป็น ผบ.ทหารเรือกรุงเทพฯ และไม่ได้มีส่วนร่วม แต่กลับถูกสั่งปลดจากราชการและถูกดำเนินคดีฐานเป็นกบฏ ต่อมารัฐบาลทำพิธีฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงได้รับนิรโทษกรรมในครั้งนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เรื่อง/ภาพ เรียบเรียงจากคำไว้อาลัยใน “หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี กนก นพคุณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2524” และ“คู่มือสนทนาภาษา ไทย-ญี่ปุ่น” โดย น.อ.สุเกโยชิ ยัตสุชิโร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรือดำน้ำไทย

ขอบคุณเพจ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

พลเรือตรี กนก นพคุณ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2563