เผยแพร่ |
---|
การขึ้นมามีอำนาจของพรรคนาซีในเยอรมนีช่วงค.ศ. 1933-1945 นำพาโลกเข้าสู่ยุคสงครามที่เปลี่ยนโฉมโลกไปนับตั้งแต่นั้น ในระหว่างที่นาซีกุมอำนาจ ไม่เพียงแค่กำลังทางทหารที่เข้มแข็ง อาชีพวิศวกรยังเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่พลิกผันเช่นกันอันเนื่องมาจากนโยบายชาตินิยมของกองทัพนาซี สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างและผลิตในประเทศเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่ส่งผลร้ายต่อชีวิตมนุษย์ที่สุดอาจเป็นการสร้างห้องรมแก๊สและเตาเผาซึ่งคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก
ฮิตเลอร์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อค.ศ. 1933 ชีวิตที่พลิกผันจากชายหนุ่มที่ผิดหวังจากการสอบเข้าสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงเวียนนาซึ่งเป็นสถาบันอันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก กลายมาเป็นหัวหน้าพรรคนาซี และขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงต้นปี ค.ศ. 1933 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบนาซีซึ่งสร้างความยากลำบากให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะกลุ่มชาวยิว
ระยะเวลาระหว่าง ค.ศ. 1942 จนถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1945 ช่วงเวลาระหว่างนั้นมีชาวยิว และประชาชนจากประเทศอื่นอีกจำนวนหนึ่งถูกรมแก๊สและถูกเผาร่างจำนวนมากในค่ายกักกันของนาซีคือ เอาชวิตซ์ (Auschwitz) – เบอร์เคนเนา (Birkenau) สถิติที่สำรวจได้จนถึงวันนี้เป็นที่รับรู้ว่า ผู้เสียชีวิตในค่ายกักกันของนาซีรวมแล้วแตะหลักล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวยิว สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งคือถูกรมแก๊ส ที่เหลือคือจากสาเหตุอื่น อาทิ ขาดอาหาร, ถูกใช้แรงงานอย่างหนัก, ป่วย ไปจนถึงการถูกสังหารเป็นรายบุคคล และการทดลองยา
ความน่าสยดสยองที่เกิดขึ้นถูกบอกเล่าจากบันทึกต่างๆ รวมไปถึงปากคำของผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน และสิ่งประดิษฐ์ที่คร่าชีวิตชาวยิวเป็นอันดับหนึ่งย่อมต้องเป็นห้อมรมแก๊ส และกระบวนการจัดการร่างจำนวนมหาศาล ซึ่งถือเป็นประดิษฐกรรมที่สะท้อนศักยภาพด้านวิศวกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็บอกเล่าความน่าหดหู่ของการกระทำต่อเพื่อนมนุษย์
ในยุคนาซีเรืองอำนาจตั้งแต่ ค.ศ. 1933-1945 เป็นยุคที่วิศวกรกลับมามีงานทำสืบเนื่องจากนโยบายชาตินิยมและการสร้างชาติ กองทัพนาซีมีโครงการพัฒนาโครงสร้างและประดิษฐกรรมมากมายซึ่งล้วนต้องอาศัยความรู้และทักษะด้านวิศวกร ในช่วงเวลานั้นมีผลิตภัณฑ์อย่าง รถโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) และการก่อสร้างถนนหลวง หรือออโตบาห์น (Autobahn) เชื่อมเมืองต่างๆ
สภาพเหล่านี้ทำให้วิศวกรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และผลงานหนึ่งคือการเปลี่ยนค่ายกักกันชาวโปแลนด์กลายเป็นค่ายกักกันที่น่าสยดสยองในประวัติศาสตร์อย่างค่ายเอาชวิตซ์ ประดิษฐกรรมในนั้นมีห้องรมแก๊ส และเตาเผา ซึ่งเป็นฝีมือของบริษัท Topf and Sohne โดยพบชื่อของบริษัทอยู่ในแบบก่อสร้างที่นาซีทิ้งไว้หลังกองทัพรัสเซียบุกถึงค่าย
อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้เขียนหนังสือ “คนหลังฉากในประวัติศาสตร์รางเลือน” อธิบายว่า บริษัทนี้เป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญด้านการเผาทำลายซากสิ่งมีชีวิต ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1878 ที่เมืองเออร์เฟิร์ต (Erfurt) บริษัทได้รับการติดต่อจากกองทัพหลังจากบริษัทบริการเครื่องเผาซากแบบเคลื่อนที่ไปบริการในช่วงไข้รากสาดระบาดแถบบูเคนวัลด์ (Buchenwald) ซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายกักกันชาวยิว
โจทย์ในการสร้างเตาเผาขนาดใหญ่ที่บริษัทได้รับคือ ไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจและให้ควันออกมาน้อยที่สุด อนุสรณ์ บรรยายว่า วิศกรที่ออกแบบเตาเผาครั้งนี้คือเคิร์ต พรูเฟอร์ (Kurt Prufer) และคาร์ล ชูลซ์ (Karl Schultze)
รายละเอียดของการสร้างอุปกรณ์ในอาคารเพื่อสังหารชาวยิวปรากฏอยู่ในเอกสารที่เป็นคำให้การซึ่งเจอรัลด์ เฟลมมิ่ง (Gerald Fleming) นักประวัติศาสตร์อ้างว่า พบที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติของรัสเซียในแฟ้มเลขที่ 17/9 เป็นเอกสารที่ถูกเก็บหลังการบุกเข้ายึดเยอรมนีของรัสเซียใน ค.ศ. 1945 และไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อนหน้าการค้นพบครั้งนี้
รายละเอียดของคำให้การถูกบอกเล่าในบทความที่เฟลมมิ่ง เขียนและเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 1993 การตีพิมพ์ครั้งนั้นเผยรายละเอียดการสร้างเตาเผาว่า เคิร์ต พรูเฟอร์ ยอมรับว่าเขาสร้างเตาเผาในช่วง 1941-42 ส่วนคาร์ล ชูลซ์ วิศวกรอาวุโสออกแบบระบบระบายอากาศในห้องรมแก๊ส
พรูเฟอร์ เล่าว่า เขาไปที่ค่ายกักกัน 5 ครั้ง การเดินทางครั้งแรกในช่วงต้นปี 1943 เขาไปเพื่อรับคำสั่งจากหน่วย SS ว่าจะใช้สถานที่จุดไหนเป็นเตาเผา และเดินทางไปอีก 4 ครั้งเพื่อรับข้อมูลอื่นเพิ่มเติม เขาออกแบบให้มีทางเชื่อมกันกับห้องรมแก๊สที่อยู่ติดกัน และเขารับรู้ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 1943 ว่า ในค่ายสังหารชาวยิวในห้องรมแก๊สและนำไปเผาทิ้งที่เตาเผา
พรูเฟอร์ เล่าว่า เช้าวันหนึ่งเวลาประมาณ 10 โมง ในช่วงปี 1943 เมื่อเขาไปที่ค่ายพร้อมคาร์ล ชูลซ์ วิศวกรอาวุโสซึ่งออกแบบระบบและติดตั้งระบบระบายอากาศในห้องรมแก๊สด้วยมือเขาเอง พรูเฟอร์ เห็นศพชายหญิงต่างอายุ นำมากองรวมเพื่อรอเผา เขาสังเกตการเผาไป 5 ศพ และได้ข้อสรุปว่าเตาเผาที่ออกแบบนั้นทำงานได้ผลดี
ประดิษฐกรรมในค่ายกักกันสร้างความตื่นตระหนกให้กับบุคลากรกระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ จากข้อมูลที่ว่า เตาเผาใช้ระบบใช้ไขมันจากร่างผู้ตายเป็นเชื้อเพลิงเตาเผาไปด้วยในเวลาเดียวกัน
อนุสรณ์ บรรยายว่า หลังสงครามจบลง 8 ปี บริษัท Topf and Sohne ได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลงาน โดยเฉพาะเตาเผาที่ทำให้กับกองทัพนาซี ขณะที่สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารเตาเผาศพคือ วอลเตอร์ เดจาโก้ (Walter De Jaeko) และ ฟริตช์ เอิตล์ (Fritz Ertl) ถูกปล่อยตัวในปี 1950 และถูกตั้งข้อหาอาชญากรสงครามในปี 1972 ที่กรุงเวียนนา
หลังสงครามจบลง กองทัพสหรัฐฯ ปล่อยตัวพรูเฟอร์ แต่ถูกกองทัพรัสเซียจับตัวพรูเฟอร์ ไว้ในภายหลัง ขณะที่ลุดวิก ทอฟ (Ludwig Topf) เจ้าของบริษัทอัตวินิบาตกรรมตัวเอง
อ้างอิง:
อนุสรณ์ ติปยานนท์. คนหลังฉากในประวัติศาสตร์รางเลือน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กรกฎาคม 2562