นาซีรุกโปแลนด์มิใช่ต้นเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 ? เผยทัศนะ-เบื้องหลังสงครามในมุมฮิตเลอร์

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขบวนพาเหรด นาซีเยอรมัน กรุงวอร์ซอ โปแลนด์
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชมขบวนพาเหรดทหารนาซีในกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1939

นาซีเยอรมัน” รุกโปแลนด์มิใช่ต้นเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 ? เผยทัศนะ-เบื้องหลังสงครามในมุม “ฮิตเลอร์”

…มหาสงครามโลกครั้งที่ 2…ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่มนุษยชาติเหลือคณานับ ทั้งชีวิตคนและทรัพย์สิน ตลอดจนผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม, ดังนั้นต้นเหตุของสงครามจึงยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจตลอดมา เพราะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องมีสาเหตุ.

Advertisement

โดยทั่วๆ ไป เป็นที่เข้าใจกันว่า ความมักใหญ่ใฝ่สูงที่จะครองโลกของนาซีเยอรมันภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ คือต้นเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2. เมื่อเยอรมนีภายใต้ระบอบนาซีมีความเข้มแข็งทั้งในด้านการทหาร, เทคโนโลยีและเศรษฐกิจสังคม, ก็มีนโยบายรุกรานบรรดาชาติที่มีความอ่อนแอกว่า, และเมื่อชาติมหาอำนาจคู่แข่ง เช่นอังกฤษและฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ยอมอ่อนข้อ, สงครามก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้. การสู้รบที่ยืดเยื้อได้แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก และกลายเป็นมหาสงครามโลกในที่สุด.

ถึงแม้ว่านาซีเยอรมันจะมีส่วนสำคัญต่อการเกิดสงคราม, หาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี ซึ่งได้รับความสนับสนุนอย่างท่วมท้นของชาวเยอรมันเกือบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งชาติ ก็มีเหตุผลอย่างหนักแน่นที่จะยืนยันว่า เยอรมนีมิใช่ต้นเหตุของสงครามและได้ใช้ความพยายามจนถึงที่สุดเพื่อธำรงสันติภาพในภาคพื้นยุโรป, หากความพยายามของเยอรมนีไม่เป็นผล.

ภายหลังที่มหาสงครามได้อุบัติขึ้นแล้วเมื่อต้นเดือนกันยายน .. 2482 และยุทธบริเวณยังจำกัดอยู่ในทวีปยุโรป, รัฐบาลเยอรมันได้รวบรวมเอกสารที่เป็นหลักฐานสำคัญจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ให้ชื่อว่าต้นเหตุของสงครามเผยแพร่ให้ชาวโลกได้ทราบข้อเท็จจริงจากมุมมองของเยอรมนี. การได้รับทราบข้อมูลและเหตุผลของฝ่ายนาซีเยอรมัน แม้จะไม่ชักจูงให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในระบอบและพรรคการเมืองดังกล่าว, แต่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นในประเด็นที่ว่าด้วยต้นเหตุของสงคราม”.

เริ่มด้วยที่มาของปัญหาความขัดแย้งระหว่าง นาซีเยอรมัน กับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ อังกฤษและฝรั่งเศส.

เยอรมนีและพันธมิตร คือออสเตรียฮังการี ได้ประสบความพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก ได้แก่ ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และชาติอื่นๆ อีกหลายประเทศ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่าง .. 2457-61. การที่เยอรมนีต้องยอมยุติการสู้รบในเดือนพฤศจิกายน .. 2461 ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นกองทัพเยอรมันยังยึดครองบางส่วนของฝรั่งเศสและเบลเยียม อีกทั้งเมื่อไม่นานก่อนหน้านั้น ก็สามารถรุกเข้าไปถึงชานกรุงปารีส, ก็เป็นเพราะได้เกิดการนัดหยุดงานในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางทหาร และท่าเรือต่างๆ ในเยอรมนี ทำให้ไม่สามารถจะทำสงครามต่อไปได้.

เหตุการณ์ไม่สงบเหล่านี้ คนเยอรมันที่เป็นชาตินิยมและอดีตทหารผ่านศึกได้วิเคราะห์ว่า เป็นพฤติกรรมขายชาติของพวกคอมมิวนิสต์ ด้วยความสนับสนุนของชาวยิวที่พำนักอยู่ในเยอรมนี. คนเยอรมันส่วนใหญ่มิได้คิดว่าเยอรมนีแพ้สงคราม เพราะสู้ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้. ชาติเยอรมันยังคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิที่ไม่อาจให้ถูกหยามได้. บรรดาผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษ, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ได้ประชุมหารือจัดทำสนธิสัญญาเลิกสถานะสงครามกับเยอรมนีที่พระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส โดยไม่ยินยอมให้มีผู้แทนของเยอรมนีร่วมด้วย.

เมื่อสนธิสัญญาแวร์ซายส์ทำเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน .. 2462, ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกก็เรียกให้ผู้แทนรัฐบาลเยอรมันไปลงนามยอมรับเงื่อนไขที่รุนแรง และเมื่อทางเยอรมนีขอต่อรองเงื่อนไข, ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกก็ยื่นคำขาดว่าหากเยอรมนีไม่ยอมลงนาม กองทัพสัมพันธมิตรก็จะรุกเข้าไปยึดครองเยอรมนี. คำขาดของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกทำให้เยอรมนีไม่มีทางเลือก จำต้องยอมลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายส์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2462.

สนธิสัญญาแวร์ซายส์ระบุว่าเยอรมนีและพันธมิตรของเยอรมนีต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดอันเกิดจากสงคราม เพราะเป็นผู้ก่อให้เกิดสงคราม. ในการนี้ เยอรมนีจะถูกปลดอาวุธและลดกำลังกองทัพ, จะต้องโอนดินแดนจำนวนมากให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรและให้เป็นดินแดนของรัฐเกิดใหม่ เช่น โปแลนด์และเชโกสโลวะเกีย, และจะต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล คิดตามค่าเงินในปัจจุบัน ประมาณ 442 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, รวมถึงการโอนทองคำทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด ที่เก็บไว้เป็นทุนสำรองเงินตรา ให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส. ข้อเรียกร้องที่รุนแรงดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่มาจากฝรั่งเศส ซึ่งมีพรมแดนติดกับเยอรมนี และไม่ประสงค์ที่จะเห็นเยอรมนีฟื้นตัวเป็นชาติที่เข้มแข็งอีก ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามฝรั่งเศส.

การประชุมสนธิสัญญาสันติภาพที่พระราชวังแวย์ซาย

คนเยอรมันทั้งชาติมีความไม่เห็นชอบกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่กำหนดมาตรการบีบคั้นเกินสมควร และไม่เป็นธรรม, ขณะที่สัมพันธมิตรฝ่ายตะวันตกบางชาติก็แสดงความไม่เห็นด้วย, เช่นทางอังกฤษนั้นก็ยังคาดหมายว่าเยอรมนีจะเป็นชาติคู่ค้ากันต่อไป จึงอยากจะให้เยอรมนีมีโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ.

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสนธิสัญญาแวร์ซายส์ได้ผ่านไป 2 ทศวรรษ, โลกก็ตระหนักว่าสนธิสัญญาดังกล่าวมิได้ทำให้เยอรมนีสยบ, มีความปรองดอง และอยู่ในสภาพที่อ่อนแออย่างถาวร. ในทางตรงกันข้าม, เยอรมนีภายใต้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีภายหลังปี 2476 มีความแข็งกร้าว, ไม่ประนีประนอม และได้สร้างแสนยานุภาพอย่างเกรียงไกร. พรรคนาซีได้รับความสนับสนุนจากมหาชน เพราะจุดยืนในการไม่ยอมรับเงื่อนไขแห่งสนธิสัญญาแวร์ซายส์, ในการธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของชาติที่ยิ่งใหญ่, และในการฟื้นฟูแสนยานุภาพ ทั้งทางบก, ทางเรือ และทางอากาศ. แต่เหตุการณ์ที่หนุนให้พรรคนาซีขึ้นสู่อำนาจและความนิยมก็คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงเวลานั้น ซึ่งพรรคนาซีสามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ.

การฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้รับความเห็นชอบจากมหาชนคนเยอรมัน และแม้ชาติสัมพันธมิตรตะวันตกจะแสดงการคัดค้าน แต่การคัดค้านก็ปราศจากน้ำหนักเพียงพอ เพราะเป็นที่ตระหนักกันโดยทั่วไปว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับเยอรมนีและชาติเยอรมัน. เมื่อประกาศไม่รับรู้เงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายส์แล้ว ฮิตเลอร์ก็เริ่มปฏิบัติการฟื้นฟูบรรดาสิ่งที่เยอรมนีต้องสูญเสียไปจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์เป็นขั้นๆ ไป.

ฮิตเลอร์ได้มุ่งดำเนินนโยบายหลักใน 3 ด้านด้วยกัน คือ 1. สร้างกองทัพเยอรมันให้ยิ่งใหญ่, 2. พัฒนาพลังอำนาจทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย ชาติสังคมนิยม, และ 3. ดำเนินการเอาคืนดินแดนและประชากรที่สูญเสียไปจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์, ซึ่งนโยบายทั้ง 3 ด้านดังกล่าวนี้ก็อยู่ในกรอบของการฉีกสัญญาแวร์ซายส์ในส่วนที่ไม่เป็นธรรมแก่เยอรมนีเท่านั้น.

การพยายามเอาคืนประชากรและดินแดนนั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะใช้วิธีสนับสนุนให้คนเยอรมันซึ่งเป็นประชากรของดินแดนนั้นๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องขอกลับไปอยู่กับเยอรมนี และเมื่อมีการลงประชามติ ก็ได้เสียงชนะอย่างท่วมท้น. สำหรับในกรณีที่ผู้นำประเทศที่มีปัญหา พยายามขัดขืน, ฮิตเลอร์ก็จะใช้การบีบบังคับในทางใดทางหนึ่ง รวมถึงการส่งกองกำลังเข้าไปยึดครอง.

ดังนั้น ในระหว่าง .. 2479-81 เยอรมนีก็สามารถยึดครองไรน์แลนด์ ซึ่งเป็นเขตปลอดทหารอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์, สามารถผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี, และสุดท้ายก็คือการผนวกเชโกสโลวะเกียเข้ากับเยอรมนี. ดังนั้นเมื่อเยอรมนีเรียกร้องจะเอาคืนนครดานซิก ซึ่งประชากรเกือบทั้งหมดเป็นคนเยอรมัน จึงทำให้โปแลนด์ต้องเตรียมรับมือ โดยอังกฤษและฝรั่งเศสรีบเข้าไปทำสัญญาช่วยโปแลนด์ หากถูกนาซีเยอรมันรุกราน, และเมื่อทั้งเยอรมนีและโปแลนด์ไม่ยอมเปลี่ยนจุดยืน สถานการณ์ก็ทวีความตึงเครียด และที่สุดโปแลนด์ก็ต้องรบกับเยอรมนี โดยอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าไปช่วยโปแลนด์ตามสัญญา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2.

ทหารโปแลนด์

ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสกล่าวว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นเพราะเหตุที่เยอรมนีเปิดฉากโจมตีโปแลนด์ทั้งทางบกและทางอากาศ ทั้งๆ ที่อังกฤษและฝรั่งเศสได้แจ้งให้เยอรมนีทราบอย่างชัดเจนจนวินาทีสุดท้ายว่า ให้เยอรมนียุติการรุกรานโปแลนด์ทันที เพราะอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ทำสัญญากับโปแลนด์ว่า หากโปแลนด์ถูกรุกราน อังกฤษและฝรั่งเศสจะต้องช่วยโปแลนด์. แต่เยอรมนีก็ไม่ยอมหยุดยั้งปฏิบัติการ ทำให้สงครามที่ควรจะหลีกเลี่ยงได้ ต้องเกิดขึ้น.

ฝ่ายนาซีเยอรมันยืนยันว่า เยอรมนีไม่ประสงค์ที่จะทำสงครามกับใครทั้งสิ้น และได้พยายามที่จะเจรจากับโปแลนด์โดยสันติวิธีมาโดยตลอด แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะแทนที่โปแลนด์จะส่งผู้แทนมาเจรจากัน กลับระดมพลทั่วประเทศเตรียมทำสงคราม และไม่หยุดยั้งการกดขี่ข่มเหงชาวเยอรมัน โดยไม่ยอมฟังคำเรียกร้องของเยอรมนีแต่ประการใด.

นาซีเยอรมัน กล่าวว่า การที่โปแลนด์ปฏิเสธไม่ยอมปรองดอง ก็เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสสัญญาจะช่วย หากต้องทำสงครามกับเยอรมนี. เยอรมนีบอกด้วยว่าหากอังกฤษและฝรั่งเศสต้องการสันติภาพ โดยช่วยกันขอร้องโปแลนด์ให้เจรจาโดยสันติวิธีกับเยอรมนี สงครามก็จะไม่เกิดขึ้น. ตรงข้ามอังกฤษและฝรั่งเศสกลับให้ท้ายโปแลนด์. ดังนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสคือต้นเหตุของสงครามไม่ใช่เยอรมัน.

ฝ่ายนาซีเยอรมัน ได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งในทางความคิด, ในการแสดงออก, อีกทั้งพฤติกรรมในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์. ก่อนการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์, นายกรัฐมนตรี ลอยด์ ยอร์ช ของอังกฤษ ได้กล่าวยืนยันว่าข้าพเจ้าจะยอมไม่ได้เป็นอันขาดในอันที่จะพรากชนชาติเยอรมันไปเสียจากการปกครองของเยอรมัน เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดสงครามขึ้นในยุโรปตะวันออกอย่างแน่นอน”.

ในการประชุมที่เมืองมิวนิก ปลายเดือนกันยายน .. 2481, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กับนายกรัฐมนตรี เนวิลล์ เชมเบอร์เลน ของอังกฤษ ก็ได้ประกาศร่วมกันว่า จะไม่เกิดสงครามขึ้นระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีตราบชั่วฟ้าดินสลาย. แต่เมื่อกลับไปอังกฤษ เชมเบอร์เลนก็กลับแถลงในสภาผู้แทนราษฎรว่าอังกฤษจะคงสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่อไป, ซึ่งทำให้ฮิตเลอร์ต้องแถลงยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเยอรมนีไม่มีความปรารถนาสิ่งใดยิ่งไปกว่าสันติภาพ จึงขอให้อังกฤษเลิกคิดที่จะพันธนาการเยอรมนีไว้กับสัญญาแวร์ซายส์เสียทีเถิด เพราะเยอรมนียอมไม่ได้จริงๆ.

แต่กระนั้นผู้นำทางการเมืองของอังกฤษก็ยังคงพร่ำอยู่กับการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันการรุกรานจากเยอรมนี.

ฝ่ายนาซีเยอรมันกล่าวว่าใน .. 2481 ต่อเนื่องมาถึง .. 2482, อังกฤษได้อ้างว่าอังกฤษมีข้อตกลงกับโปแลนด์ว่า อังกฤษจะต้องเข้าช่วยเหลือโปแลนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากโปแลนด์ถูกรุกราน และยังได้กล่าวประณามเยอรมนีที่เข้ายึดครองออสเตรีย, แบ่งแยกดินแดนของเชโกสโลวะเกีย, และเคลื่อนกำลังเข้าสู่ลุ่มน้ำไรน์.

ในปัญหาที่เกี่ยวกับโปแลนด์นั้น ฮิตเลอร์บอกว่าสัญญาแวร์ซายส์ตั้งใจที่จะทำความเจ็บแค้นให้แก่เยอรมัน โดยกำหนดเฉลียงทางเดินอย่างประหลาดให้โปแลนด์ออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นการตัดโอกาสมิให้เยอรมนีสามารถปรองดองกับโปแลนด์ได้, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเมืองดานซิก ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข.

เมืองดานซิกแต่เดิมเป็นของเยอรมนี, พลเมืองเป็นคนเยอรมัน, แต่สนธิสัญญาแวร์ซายส์ได้กำหนดให้เป็นนครเสรีดานซิกและให้โปแลนด์มีสิทธิพิเศษในเมืองดังกล่าว. อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กล่าวว่าข้าพเจ้าจะแสวงหาวิธีที่จะแก้ปัญหาในทางสงบต่อไป”. โดยยอมรับว่าเป็นการสมควรที่โปแลนด์จะต้องมีเฉลียงเอาไว้เป็นทางเดินออกไปสู่ทะเล, แต่ก็เป็นความจำเป็นที่เยอรมนีจะต้องมีเฉลียงทางเดินไปสู่ปรัสเซียตะวันออกเช่นกัน”.

ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาดานซิกของฮิตเลอร์ก็คือ ดานซิกจะต้องกลับมาอยู่ในความคุ้มครองของเยอรมนีในฐานะนครเสรี และเยอรมนีจะต้องมีทางรถไฟและถนนที่จะตัดผ่านดานซิกพร้อมกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินสองข้างทาง. เพื่อแลกเปลี่ยนกัน, เยอรมนีจะสร้างท่าเรือให้โปแลนด์ 1 ท่า พร้อมทั้งทางเข้าออก, อีกทั้งให้สิทธิ์ทั้งมวลในการประกอบอุตสาหกรรมแก่ชาวโปแลนด์ในนครดานซิก. ในขณะเดียวกัน, เยอรมนีกับโปแลนด์จะทำสัญญาไม่รุกรานกันเป็นเวลา 25 ปี.

ชาวเยอรมันชุมนุมประท้วงสนธิสัญญาแวย์ซายที่หน้าอาคารไรชส์ทาค (Reichstag)

การที่โปแลนด์ปฏิเสธไม่ยอมพิจารณาข้อเสนอของเยอรมนี และประกาศระดมพลเพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่ถูกเยอรมนีรุกราน ทั้งๆ ที่เยอรมนียังไม่เคยแม้แต่จะคิดทำสงครามกับโปแลนด์นั้น, ทางฝ่ายนาซีเยอรมันระบุว่าเป็นเพราะได้รับการยุแหย่จากอังกฤษ ทั้งๆ ที่สัญญาความช่วยเหลือที่โปแลนด์ได้ทำกับอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นก็เป็นการละเมิดสัญญาที่โปแลนด์เคยทำไว้กับเยอรมนีในสมัยของ จอมพล พิลชุคสกี้ อดีตผู้นำโปแลนด์.

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์มีข้อความไปถึงอังกฤษว่าส่วนทางอังกฤษนั้นเล่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาอยู่เป็นนิจที่จะผูกมิตรกับอังกฤษอย่างจริงจัง และการนี้ก็มิใช่ว่าจะระลึกถึงแต่เพียงสายโลหิตดั้งเดิมของชาติทั้งสองของเราเท่านั้น แต่ยังระลึกต่อไปถึงผลประโยชน์และวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นหัวใจของการดำรงไว้แห่งจักรภพอังกฤษทีเดียว.

ข้าพเจ้ามิได้เคยสงสัยแม้แต่น้อยว่า การดำรงอยู่ของจักรภพอังกฤษย่อมมีค่าต่อวัฒนธรรมและมนุษยธรรมของโลกเพียงใด. ข้าพเจ้าทราบอยู่บ้างว่าการสร้างอาณานิคมของอังกฤษนั้น ได้ใช้กำลังบังคับ และบางครั้ง ก็โดยความโหดร้ายทารุณแสนสาหัส. แต่ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ทราบเหมือนกันว่า จนถึงบัดนี้ยังไม่มีจักรภพใดที่สถาปนาขึ้นได้โดยวิถีทางอื่นๆ, และความสำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ของโลก มิได้อยู่ที่วิถีทาง, หากอยู่ที่ผลแห่งวิถีทางที่เลือกดำเนินนั้นต่างหาก”.

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ พยายามทำความเข้าใจกับอังกฤษต่อไปว่าเยอรมนีจะรักษามิตรภาพอันดีระหว่างเรากับอังกฤษไว้ได้อย่างไร ถ้าหากอังกฤษมีความเห็นว่าการแสวงหาผลประโยชน์และการรักษาผลประโยชน์เป็นหน้าที่และความจำเป็นของอังกฤษฝ่ายเดียว ส่วนเยอรมนีจะกระดิกตัวในลักษณะใดมิได้เลย, แต่เยอรมนีก็จะยอมให้ฐานะของเราอ่อนแอกว่าฐานะของอังกฤษมิได้. เกาะอังกฤษได้นำบุคคลสำคัญๆ มาสู่โลกมากคนทีเดียว, แต่ทว่าเยอรมนีก็ได้นำบุคคลสำคัญๆ มาสู่โลกเช่นเดียวกัน. เราไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกว่าชาติของเราอ่อนแอและต่ำต้อยกว่าชาติอังกฤษแต่ประการใด”.

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ สถานทูตเยอรมันในนานาประเทศได้รายงานเข้ามาว่าอังกฤษกำลังเตรียมทำสงครามและรัฐบาลอังกฤษได้ปลุกเร้าให้คนอังกฤษเกลียดชังเยอรมัน.

ในวันที่ 22 สิงหาคม 2482, นายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้ส่งสาส์นถึงฮิตเลอร์ ยืนยันว่าอังกฤษจะเข้าช่วยเหลือโปแลนด์ หากโปแลนด์ถูกเยอรมนีรุกราน โดยแจ้งว่าเป็นความจำเป็นที่อังกฤษจะต้องรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่โปแลนด์. ฮิตเลอร์ขอให้อังกฤษระงับการเตรียมพร้อม เพราะมิฉะนั้นเยอรมนีก็จำเป็นจะต้องกระทำอย่างเดียวกัน. ในวันต่อมา อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ก็ได้ส่งสาส์นถึง เนวิลล์ เชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยืนยันการรักษามิตรภาพ หากจำเป็นจะต้องเจรจากับโปแลนด์เพื่อแก้ปัญหาว่าด้วยเมืองดานซิก.

ในวันที่ 25 สิงหาคม, ฮิตเลอร์ได้แถลงทำความเข้าใจกับอังกฤษ ว่าคำกล่าวหาว่าเยอรมนีต้องการที่จะครองโลกนั้นไร้เหตุผล. ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 สิงหาคม ได้มีการเจรจากันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศนาซีกับเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเบอร์ลิน. ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม รัฐบาลเยอรมันได้ออกแถลงการณ์ว่าไม่เชื่อในเจตจำนงของรัฐบาลโปแลนด์ที่จะยอมเจรจาโดยสันติวิธี แต่กลับประกาศระดมพลเตรียมพร้อมทั่วประเทศ จึงถือว่าโปแลนด์ได้ปฏิเสธการเจรจาโดยสันติวิธีอย่างสิ้นเชิง.

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทหาร นาซีเยอรมัน บุก โปแลนด์
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยืนชมทหารนาซีกำลังบุกมุ่งหน้าไปยังโปแลนด์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939

กองทัพเยอรมันใช้ยุทธวิธีทำสงครามแบบสายฟ้าแลบโดยเริ่มปฏิบัติการบุกโจมตีตั้งแต่ใกล้รุ่งของวันที่ 1 กันยายน 2482 โดยเรือรบเยอรมันระดมยิงเมืองท่าของโปแลนด์ ขณะที่เครื่องบินเยอรมันจำนวน 1,400 เครื่อง ทิ้งระเบิดเมืองต่างๆ, และกองทัพบก 45 กองพล รวมทั้งยานเกราะ 6 กองพล บุกเข้ามา 3 ด้าน.

เพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ กองทัพนาซีก็รุกถึงชานกรุงวอร์ซอ, และในวันที่ 27 กันยายน กรุงวอร์ซอก็ตกอยู่ในความยึดครองของเยอรมัน. โปแลนด์ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ โดยทหารโปแลนด์ได้เสียชีวิต 66,000 นาย, บาดเจ็บอีก 200,000 นาย และถูกจับเป็นเชลยศึก 70,000 นาย, ขณะที่ทหารเยอรมันเสียชีวิตกว่าหมื่นนาย และบาดเจ็บกว่า 30,000 นาย.

กองทัพโปแลนด์คาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งจะบุกโจมตีเยอรมนี, แต่ก็ผิดหวัง เพราะกองทัพฝรั่งเศสเพียงเคลื่อนกำลังเข้ามาจากฝรั่งเศสเล็กน้อย, ขณะที่อังกฤษเกือบจะมิได้มีปฏิบัติการทางทหารแต่อย่างใด. ดังนั้นกองทัพเยอรมันก็สามารถยึดครองโปแลนด์ได้ทั้งหมดในเวลาเดือนเดียวเท่านั้น.

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ต้นเหตุของมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 จากทัศนะของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” เขียนโดย ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2560 โดยเรียบเรียงจากหนังสือ ต้นเหตุของสงคราม, จัดพิมพ์โดยสถานทูตเยอรมันในประเทศไทย, โรงพิมพ์ไทยพานิช, .. 2482.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2562