ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังสงครามโกลครั้งที่ 2 ไทยได้รับความเสียหายจากเศรษฐกิจและเผชิญภาวะความวุ่นวายทางการเมือง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2484 ทำให้ ปรีดี พนมยงค์ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง
นายปรีดี ต้องการสานต่อประชาธิปไตยที่ค้างคา เขาพยายามกำจัดบทบาทของทหารในทางการเมือง แต่การลดทอนอำนาจกลุ่มทหาร ซึ่งเคยมีอิทธิพลสูงมากก่อนหน้านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นายปรีดีจึงร่วมมือกับฝ่ายนิยมเจ้า ฝ่ายการเมืองที่เขาเคยต่อต้านมาก่อน เขากลายเป็นคนสำคัญที่เปิดทางให้คณะเจ้าหวนคืนถิ่น สร้างความสัมพันธ์อันดีกับชนชั้นสูงฝ่ายอนุรักษนิยม รวมถึงเจ้าในต่างประเทศผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะเจ้าจึงกลับสู่การเมืองไทยอีกครั้ง เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายจอมพล ป. และกองทัพ
ปลายปี 2488 นายปรีดีเชิญ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ให้เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ 21 พระชันษา ในโอกาสนั้น ราชนิกูลจำนวนมากที่ลี้ภัยในต่างประเทศถือโอกาสเดินทางกลับไทยด้วย ผู้นิยมเจ้าที่เก็บตัวเงียบปรากฏตัวในสังคมอีกครั้ง
ทั้งนี้ “ผู้ที่มีความคิดสุดขั้ว ก็ยังไม่สิ้นหวังว่าอาจจะฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาได้อีก เพื่อให้พวกเขาได้หวนคืนเอาอภิสิทธิ์ที่หายไปกลับมา”
ฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรที่ยังหลงเหลืออยู่ จึงร่วมมือกันก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนนายปรีดี อย่างไรก็ตาม นายปรีดีสัมผัสได้ถึงความเคลื่อนไหวบางอย่างจากกลุ่ม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายควง อภัยวงศ์ รวมถึงแนวร่วมฝ่ายคณะเจ้า มีเสียงเล่าลือด้วยว่าคณะเจ้าอาจจับมือกับทหารตลบหลังพวกเขา
นายปรีดีจึงกล่าวกับเรียกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายคณะราษฎร (ฝ่ายพลเรือน) ถึงสถานการณ์ดังกล่าว มีตอนหนึ่งว่า “มันจะเล่นพวกเราแน่แล้ว ถ้าเราไม่เข้าเป็นรัฐบาลเดี๋ยวนี้ เราตายกันแน่…” [1]
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎร จึงขอให้นายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีในภาวะคับขันนี้ โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489
คลื่นใต้น้ำดังกล่าวเด่นชัดขึ้นเมื่อ นายควง อภัยวงศ์ ม.ว.ร.เสนีย์ ปราโมช และน้องชายคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 เพื่อคานอำนาจนายปรีดีในรัฐสภา
ความไม่ลงรอยดังกล่าวยังสะท้อนผ่านข้อคิดเห็นของ ม.ร.ว. เสนีย์ว่า แม้นายปรีดีจะแสดงความโน้มเอียงเป็นมิตรกับเจ้าอย่างไร “แต่พวกเราไม่เคยหมดความสงสัยเลยว่า นายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์”
อ่านเพิ่มเติม :
- 26 กุมภาพันธ์ 2492: ปรีดีกับพวกใช้กำลังหวังยึดอำนาจจากคณะปฏิวัติ แต่เหลว ตกเป็นกบฏ
- ปรีดี หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร เล่าถึงจุดเริ่มต้นจิตสํานึกอภิวัฒน์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ขอปฏิเสธ! “ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมูนิสต์”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
[1] จดหมาย หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (ท่านชิ้น) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ถึงหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์. อมรินทร์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566