ปรีดี หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร เล่าถึงจุดเริ่มต้นจิตสํานึกอภิวัฒน์

ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ภาพจากเพจ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์)

ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2443-2526) นักกฎหมาย ที่ทำงานสำคัญในหลากหลายตำแหน่ง เช่น รัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย หากบทบาทมีคุณูปการแก่ประเทศและทำให้สังคมรู้กจักปีดีมากที่สุด ก็คือ สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย

แล้วปรีดีมีสนใจแนวคิดเรื่องอภิวัฒน์ เรื่องประชาธิปไตย ตั้งแต่เมื่อใด

เรื่องนี้ปรีดี พนมยงค์ เล่าไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “ชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน” (เป็นภาษาฝรั่งเศส ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2515 ในประเทศฝรั่งเศส ส่วนฉบับแปลเป็นภาษาไทยพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2529) สรุปความโดยสังเขปได้ว่า

เมื่อปรีดีอายุ 11 ปี (พ.ศ. 2454) เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสังคมชาวจีนโพ้นทะเลในไทย นั่นก็คือ การที่ชายจีนทุกคนตัดผมเปียที่ไว้เปียมาเป็นเวลาหลายศตวรรษทิ้ง ด้วยเหตุว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยก่อนที่เป็นผู้กำหนดให้ไว้ผมเปียที่ถูกล้มล้างไปแล้ว โดยดร.ซุนยัดเซน เป็นผู้นำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ และดร.ซุนยัดเซนแนะนำให้ชาวจีนทุกคนตัดผมเปียทิ้ง ที่ชาวต่างชาติล้อเลียนว่า “มีหางที่หัว” เสีย แล้วเปลี่ยนทรงผมใหม่เป็นทรงสั้นตามแบบชาวยุโรป (ในยุคนั้น)

นอกจากนั้นครูวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ที่โรงเรียนที่พระนครศรีอยุธยา ก็ยังอธิบายสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า ประเทศเอกราชส่วนใหญ่ในโลกมีรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นด้วยระบบรัฐสภา โดยประชาชนจะเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ส่วนประมุขของแต่ละประเทศก็มีทั้งที่เป็นกษัตริย์ ซึ่งสืบสันตติวงศ์ และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ซึ่งประชาชนทั่วไปเลือกตั้งเข้ามาให้ดำรงตำแหน่ง ในระยะเวลาที่กำหนดไว้

นี่คือ ก้าวแรกที่ทำให้ปรีดีกระหายใคร่รู้ข่าวคราวต่างๆ และเริ่มสั่งสมข้อมูลและความรู้ที่ละเล็กละน้อยจากการอ่าน

1 ปีต่อมา คือ ใน ร.ศ. 130 เกิดข่าวใหญ่ในประเทศ เมื่อรัฐบาลรัชกาลที่ 6 จับได้ว่า คณะอภิวัฒน์ที่มีร้อยเอกนายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ แพทย์ประจำกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทำงานใต้ดินเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ทำการไม่สำเร็จ นักอภิวัฒน์มากกว่าร้อยคนถูกจับ และถูกศาลพิเศษตัดสินลงโทษ ซึ่งคนหนุ่มสาวในเวลานั้น รวมทั้งปรีดีพูดคุยเรื่องของ คณะ ร.ศ. 130 กันบ่อยๆ ทั้งในโรงเรียนมัธยม และโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ด้วยความเห็นอกเห็นใจ

ต่อมาปรีดีศึกษาวิชากฎหมาย ของโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ทำให้พบว่า ต่างชาติถือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม รวมถึงคนในสังกัดต่างชาติเหล่านั้นที่ไม่ต้องขึ้นศาลไทย แต่ต้องให้ศาลกงสุล หรือศาลคดีระหว่างประเทศตัดสิน ซึ่งปรีดีไม่พอใจการใช้อำนาจอธิปไตยเช่นนี้ และตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของชาติอันสมบูรณ์ โดยมีอำนาจอธิปไตยของตนอย่างเต็มเปี่ยม แม้ว่ายังไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไร

พ.ศ. 2461 หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ รายงานข่าวเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ของกลุ่มบอลเชวิคในรัสเซีย ที่ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ ที่ทำให้ปรีดีระลึกถึงคำพูดของครูโรงเรียนมัธยมที่พระนครศรีอยุธยาว่า ระหว่างรัสเซีย และสยาม ประเทศใดจะล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ก่อนกัน

พ.ศ. 2462 ปรีดีสอบไล่ได้ตามหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แต่เพราะมีอายุเพียง 19 ปี ซึ่งถือว่าน้อยเกินไปที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษา และยังไม่สามารถเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา (กำหนดอายุขั้นต่ำ 20 ปี) กระทรวงยุติธรรมพอใจในผลสอบของปรีดี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2463 จึงส่งเขาไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้กลับมาช่วยงานกระทรวงในการร่างประมวลกฎหมายตามแบบฉบับของประเทศฝรั่งเศส

ที่ฝรั่งเศสนี้เองที่ปรีดีได้รู้จักเพื่อนชาวไทย และชาวฝรั่งเศส รวมถึงนักอภิวัฒน์ชาวเอเชียกลุ่มหนึ่ง และต่อมาพวกเขาได้ก่อตั้งสมาคมเพื่อความสมานฉันท์และพันธฒิตรแห่งเอเชีย รวมถึงการก่อตั้งกลุ่มแกนนำของ “คณะราษฎร” ทั้งหมดดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา 5 ปี ในที่สุดคณะราษฎรก็เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยสำเร็จใน พ.ศ. 2475


ข้อมูลจาก

ปรีดี พนมยงค์-เขียน, พรทิพย์ โตใหญ่ และจำนงค์ ภควรวุฒิ-แปล. ชีวิตที่ผกผันของข้าพเจ้า และ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, พฤษภาคม 2529


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2564