“คุณอาจชนะการเลือกตั้ง แต่ผมชนะการนับคะแนน” ผู้นำเผด็จการนิการากัว

อนาสตาซิโอ โซโมซา นิการากัว สนทนากับ ริชาร์ด นิกสัน
อนาสตาซิโอ โซโมซา พบ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน, ปี 1971 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“You won the elections, but I won the count.”

“คุณอาจชนะการเลือกตั้ง แต่ผมชนะการนับคะแนน” อนาสตาซิโอ โซโมซา (Anastasio Somoza, ค.ศ. 1925-1980) ตอบโต้ข้อกล่าวหาการทุจริตเลือกตั้ง ใน The Guardian 17 มิถุนายน ค.ศ. 1977

Advertisement

ชื่อเต็มของเขาคือ อนาสตาซิโอ โซโมซา เดเบย์เล (Anastasio Somoza Debayle) ประธานาธิบดีของประเทศนิการากัว ระหว่าง ค.ศ. 1967-1979 เป็น “โซโมซา” รุ่น 3 ของตระกูลที่ปกครองประเทศและสืบทอดอำนาจทางการเมืองยาวนานถึง 44 ปี

เขาไม่เพียงเป็นประธานาธิบดี แต่ยังควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารของกองทัพนิการากัวด้วย

ก่อนดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ โซโมซาจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยอเมริกัน “West Point” หรือ สถาบันเตรียมทหารสหรัฐอเมริกา (United States Military Academy) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโรงเรียนเตรียมทหารที่ดีที่สุดในโลก ก่อนจะก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็วในกองทัพ ขณะที่พ่อและพี่ชายดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ อนาสตาซิโอ โซโมซา การ์เซีย (Anastasio Somoza Garcia, ค.ศ. 1933-1956) และ หลุยส์ โซโมซา เดเบย์เล (Luis Somoza Debayle, ค.ศ. 1956-1963)

โซโมซาในฐานะหัวหน้ากองกำลังพิทักษ์ชาติ มีส่วนช่วยเหลือสหรัฐอเมริการุกรานคิวบาในปี 1965 รวมถึงแทรกแซงสาธารณรัฐโดมินิกัน อย่างไรก็ดี เขาถูกรัฐธรรมนูญกีดกันไม่ให้สืบทอดอำนาจต่อจากพี่ชายได้ ระหว่างปี 1963-1967 นิการากัวจึงถูกปกครองโดยรัฐบาลหุ่นเชิดของตระกูลโซโมซา โดยมีเขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุด

เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 1967 เขาปกครองประเทศโดยส่งเสริมโครงการด้านสุขภาพและการศึกษา พัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศให้ทันสมัย ผลงานเด่นคือเพิ่มรายได้ต่อหัว 8% ให้ประชาชนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม โซโมซามีความเป็นเผด็จการอย่างเด่นชัดเหมือนบิดา (คุณลักษณะนี้ไม่พบใน หลุยส์ โซโมซา เดเบย์เล พี่ชายของเขา) เขามักใช้อำนาจทางการทหารดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมอำนาจของตน สนับสนุนการทุจริตโดยปกป้องลูกน้องของตนจากการถูกดำเนินคดีหลังก่อความผิด รวมถึงมีชื่อเสียงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแทนที่บุคลากรทักษะสูงสมัยพี่ชาย ด้วยพันธมิตรทางการเมืองที่ไร้ความสามารถ

หลังสิ้นสุดวาระในปี 1972 เขากลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปีเดียวกัน เมื่อประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มีการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ ในฐานะผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชาติ เขาจึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอีกครั้ง

ปี 1974 อนาสตาซิโอ โซโมซา ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ท่ามกลางความเคลือบแคลงใจของสังคม หลังเขาจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปูทางให้ตนสามารถเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยจนได้ นำไปสู่กระแสต่อต้านมากมาย และเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์ตอบโต้ข้อกล่าวหาการทุจริตเลือกตั้งของเขา ผ่านสื่ออย่าง The Guardian เมื่อปี 1977

การดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 ยังดำเนินไปภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึก เพื่อตอบโต้แนวร่วมผู้ต่อต้านอำนาจของเขาด้วย

แม้การบริหารประเทศของเขาจะประสบความสำเร็จเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา) การปฏิรูปเกษตรกรรม และดูแลสวัสดิของเกษตรกร แต่เขาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเรื่องการกระจายรายได้ที่เท่าเทียม โดยเฉพาะการฟื้นฟูประเทศหลังภัยพิบัติ 

การบูรณะ “มานากัว” เมืองหลวงของประเทศที่เสียหายอย่างหนักหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว โครงการบำรุงซ่อมแซมยังเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการทุจริตขนานใหญ่จนภาคเอกชนและกลุ่มธุรกิจไม่วางใจการบริหารของเขา เกิดปัญหาความไม่สงบและการเรียกร้องให้เขาออกจากอำนาจซึ่งแผ่ขยายเป็นวงกว้าง

ยิ่งไปกว่านั้น มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความมั่งคั่งของตระกูลโซโมซา ทรัพย์สินมหาศาลจากการตักตวงผลประโยชน์ของประเทศ และการเป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมกิจการถึง 50% ของที่ดินทั่วประเทศ ยิ่งทวีแรงแค้นและความไม่พอใจจากผู้ต่อต้านและภาคประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก

ในปี 1977 มีการประโคมข่าวว่า กองกำลังต่อต้านที่ปะทะกับกองกำลังพิทักษ์ชาติของโซโมซาถูกตอบโต้อย่างไร้มนุษยธรรม ด้วยการทรมาน ข่มขืน และการสังหารด้วยความเหี้ยมโหด การจลาจลโดยกลุ่มแซนดินิสตา (Sandinista) แนวร่วมการเมืองฝ่ายสังคมนิยมของนิคารากัวกับรัฐบาลทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 50,000 ราย

โซโมซาต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงเช่นเดียวกับพ่อและพี่ชายของเขา ตระกูลโซโมซาจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการปกครองนิการากัวเสมอมา และทำให้พวกเขามีความมั่นคงทางอำนาจสูงมาก 

อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ยุติการสนับสนุนรัฐบาลของโซโมซา (ซึ่งเขากล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุแห่งการล่มสลายทางอำนาจของตน) ฝ่ายอนุรักษนิยมและแซนดินิสต้าที่ผนึกกำลังกันจึงประสบความสำเร็จในการบีบให้เขาออกจากอำนาจได้สำเร็จ 

โซโมซาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1979 มีการประเมินว่าตระกูลโซโมซาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ถึง 1970 จนมีทรัพย์สินมากมายถึง 500-1,500 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่โซโมซาถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

อนาสตาซิโอ โซโมซา ลี้ภัยทางการเมือง และถูกไล่ล่าโดยพวกแซนดินิสต้า ต้องไปอยู่ที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา ตามด้วยบาฮามาส และสุดท้ายคือ ปารากวัย ที่ซึ่งเขาถูกลอบสังหารในเดือนกันยายน ปี 1980

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Alan Riding, The New York Times (July 16, 1979) : “Anastasio Somoza Debayle”. (The New York Times Archives) <https://www.nytimes.com/1979/07/16/archives/anastasio-somoza-debayle-men-in-the-news-determined-to-fight-to-the.html>

Encyclopedia Britannica (Retrieved Mar 27, 2023) : “Anastasio Somoza Debayle
, president of Nicaragua”
<https://www.britannica.com/biography/Anastasio-Somoza-Debayle>

Encyclopedia Britannica (Retrieved Mar 27, 2023) : “Somoza family,
Nicaraguan family”
<https://www.britannica.com/topic/Somoza-family>

Susan Ratcliffe. (2017). Oxford Essential Quotations. (Online Version) <https://www.oxfordreference.com/display/10.1093/acref/9780191843730.001.0001/acref-9780191843730>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2566