“ชาติ” ที่ต้องปลดแอก ประวัติศาสตร์ชาติไทย “นิยาย” การเมือง

[1.] “ชาติ” ที่ต้องปลดแอก เพราะ “ชาติ” ถูกฉ้อฉลและถูกช่วงชิงไปอยู่ใต้อำนาจไม่ชอบธรรมของคนมีปืนกับรถถัง ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวในสังคม แล้วกดทับคนส่วนมากซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่และมีหลายกลุ่ม [2.] ประวัติศาสตร์ชาติไทย “นิยาย” การเมือง เพราะมาจากการเสกสรรปั้นแต่งของคนชั้นนำเมื่อไม่นานมานี้ โดยทำเป็น “นิยาย” การเมือง เส้นตรงจากเหนือลงใต้

“ชาติ” เพิ่งถูกสร้างให้มีในโลก

ชาติไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่โดยตัวของมันเองตั้งแต่บรมสมกัปป์ หรือตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา แต่ชาติเป็นสำนึกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไม่นานนี้เอง ด้วยเงื่อนไขปัจจัยอันหลากหลายและซับซ้อนซึ่งเกิดขึ้นไม่เหมือนกันในแต่ละดินแดน ดังนั้นสำนึกของความเป็นชาติในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันด้วย แม้ว่าชาติจะมีพลังอย่างยิ่งยวดในการผลักดันประวัติศาสตร์ของดินแดนนั้นๆ และของโลกเหมือนกันก็ตาม [อ.นิธิ เขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ 14-20 สิงหาคม 2563]

ชาติในโลกล้วนเป็นสำนึกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อไม่นานมานี้ อ. เบน แอนเดอร์สัน (นักปราชญ์พลเมืองโลกชาวอเมริกัน) ใช้คำว่า “จินตกรรมใหม่”

ในไทย “ชาติ” เพิ่งมีสมัย ร.5

ในไทย ชาติเพิ่งเกิดมีขึ้น แผ่นดิน ร.5 จินตกรรมชาติเริ่มเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ (อย่างตะวันตก)

แผ่นดิน ร.6 นิยามสำนึกใหม่ ให้เป็นความภักดีต่อ ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ (ตรงกับคำขวัญอังกฤษว่า God, King, and Country) เริ่มมีธงชาติ

“ชาติ” คือ ประชาชาติราษฎร

“ชาติ” ถูกนิยามใหม่เมื่อ 2475 “ชาติ” เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ถูกทำให้มีความหมายกว้างขวางอย่างสากลโลกไปถึงประชาชาติราษฎรอันหลากหลาย ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ

“ชาติ” หมายถึง ประชาชาติราษฎรหลากหลายในทุกท้องถิ่น หรือ ประชาชาติราษฎรหลากหลายทุกท้องถิ่นมีส่วนเป็นเจ้าของชาติ ดังนั้น โบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่นควรอยู่ในท้องถิ่น เป็นสมบัติของท้องถิ่น ซึ่งเท่ากับอยู่ในชาติและเป็นสมบัติของชาติ

24 มิถุนายน เป็นวันชาติ 2482-2503

ชาติ ต้นตอจากภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่า เกิด, ประเทศ มีอย่างน้อย 2 ความหมาย ดังนี้

1 ทางสังคม หมายถึง เกิด, กำเนิด, ประสูติ มาจาก ชาต (ชา-ตะ) เช่น ดวงชาตา

2 ทางการเมืองถูกใช้ราว ร.5 หมายถึง ประเทศ บางทีควบรวมว่าประเทศชาติ

“24 มิถุนายน วันชาติ” จากหนังสือ ศรีกรุง ฉบับพิเศษ 24 มิถุนายน 2484 (ภาพจากบทความ “วันชาติ 24 มิถุนายน : ความรุ่งโรจน์และการร่วงโรยผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชน” ณัฐกมล ไชยสุวรรณ. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2562)

เพลงชาติของประชาชน

“เพลงชาติ” ของไทย แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปีเตอร์ ไฟท์) ปิติ วาทยะกร (2426-2511) บิดาเป็นชาวเยอรมันสัญชาติอเมริกัน ส่วนมารดาเป็นชาวมอญสัญชาติไทย

ทำนองเพลงชาติของไทย พระเจนดุริยางค์บันทึกด้วยตนเองบอกว่าทำตามความประสงค์ของ “คณะผู้ก่อการ 2475” ที่ต้องการทำนองเพลงแบบเพลงชาติฝรั่งเศสชื่อ La Marseillaise

พระเจนดุริยางค์ มีบันทึกบอกไว้ว่าเพลงชาติไทยที่แต่งนั้น “มีแต่ทำนองล้วนๆ ไม่มีเนื้อร้อง…เพลงแบบนี้ใครๆ ที่มีความรู้ในการประพันธ์เพลงก็สามารถทำได้ทั้งนั้น”

[เนื้อร้องเพลงชาติมี 2 ชุด ตามการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” ชุดแรก แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา ขึ้นต้นว่า “อันสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง” ชุดหลัง แต่งโดยหลวงสารานุประพันธ์ ขึ้นต้นว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ใช้เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2482]

“เพลงชาติคือเพลงของประชาชน” อติภพ ภัทรเดชไพศาล กวี, นักเขียน, นักประพันธ์เพลงร่วมสมัยบอกไว้นานแล้ว และบอกต่อไปอีกว่าเพลงชาติเป็นสมบัติของสามัญชน ของประชาชน ท่วงทำนองของเพลงชาติกระชับ ฟังง่าย ร้องง่าย จำง่าย ไม่มีการร้องประสานเสียง แต่คนร้องรวมหมู่ ทุกคนจะร้องพร้อมๆ กันด้วยทำนองหนึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเพราะ “เสียงของประชาชน” คือ “เสียงของชาติ” ซึ่งเป็น “หนึ่งเดียวกัน” และ “เสมอภาคกัน” นั่นเอง

ลักษณะเสรีประชาธิปไตยในทำนองเพลงชาติไทยมีส่วนสำคัญเป็นพลังผลักดันความคิดสร้างสรรค์ “เพลงไทยสากล” เติบโตแผ่ขยายกว้างขวาง

หลังแต่งทำนองเพลงชาติไทย พระเจนดุริยางค์ได้รับยกย่องเป็นผู้วางรากฐานการเรียนการสอนเพลงดนตรีสากล จึงมีลูกศิษย์มากมายทั้งสามเหล่าทัพ รวมถึงกรมตำรวจและกรมศิลปากร ลูกศิษย์ทางเพลงดนตรีสากลเหล่านี้ล้วนสร้างสรรค์เพลงดนตรีไทยสากลแล้วแตกแขนงสมัยหลังเป็น “เพลงลูกทุ่ง” กับ “เพลงลูกกรุง”

“ชาติ” ถูกฉ้อฉล และถูกช่วงชิง

1 กบฏบวรเดช 11 ตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช นำกองทัพจากอีสานเข้ากรุงเทพฯ เพื่อปราบปรามคณะราษฎร ย้อนกลับสู่ระบบเก่า แต่ถูกปราบปราม 2 รัฐประหาร พ.ศ. 2490 และ 3 รัฐประหาร พ.ศ. 2501

“ชาติ” ในอุดมการณ์ชาตินิยม เอื้อต่อระบบเผด็จการทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเผด็จการทหาร แต่ไม่เอื้อต่อแนวคิดเสรีนิยม

“ชาติ” ถูกบังคับสูญหาย และถูกทำให้ลืม

1 ยกเลิก “วันชาติ 24 มิถุนายน” / 2 ยกเลิก “ชาติ” ในมิวเซียม

ธงชาติมีความสำคัญยิ่งใหญ่มาก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงถูกเน้นแล้วถูกนำเข้าฉากสุดท้ายของละครปลุกใจรักชาติเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่เน้นเรื่องชาติ (ไทย) ศาสนาและพระมหากษัตริย์ บทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา หรือ วิจิตร วิจิตรวาทการ) แสดงครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2497

ธงชาติ 24 มิถุนายน 2475 และสิ่งของเครื่องใช้ “ถูกบังคับสูญหาย” จากห้องแสดงพิพิธภัณฑ์

สิ่งของเครื่องใช้สำคัญของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เคยถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ (แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ได้แก่ ธงชาติผืนแรก กับสิ่งของเครื่องใช้

ธงชาติผืนแรก ที่คณะราษฎรนำขึ้นประดิษฐานเหนือยอดพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อเวลาเช้าตรู่ 24 มิถุนายน 2475

สิ่งของเครื่องใช้ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

หลังจากนั้นสิ่งของจัดแสดงทั้งสองรายการนี้ “ถูกทำให้หายไป” เมื่อ พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นช่วง 10 ปี หลังการปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501)

ทั้งสองรายการพบใน “สมุดมัคคุเทศ นำเที่ยวหอสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร” พ.ศ. 2491

ข้อมูลยกมานี้ได้จากบทความเรื่อง “มองหาสิ่งที่ไม่เห็นและการทำพลเมืองให้        เชื่อ(ง) ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” ของ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พิมพ์ใน เมืองโบราณ [ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) 2554 หน้า 79-89]

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บอกไว้ในบทความดังต่อไปนี้

ไม่มีรายละเอียดว่า “สิ่งของเครื่องใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” นั้นคืออะไรบ้าง และสมุดมัคคุเทศ ในปี 2491 ก็เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียว (เท่าที่ค้นได้ขณะนี้) ที่แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยก็มีช่วงเวลาหนึ่งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เคยจัดแสดงสิ่งของที่บอกเล่าเรื่องราวว่าด้วย “ชาติ” แตกต่างไปจากเดิม (การจัดแสดงสิ่งของที่ดู “ประหลาด” ทั้งสองครั้งนี้ คือ ปี พ.ศ. 2486 และ พ.ศ. 2491 เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)

เรื่องราวว่าด้วย “ชาติ” อย่างใหม่นี้ก็มี “ชีวิต” อยู่เพียงช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย เพราะเมื่อมีการปรับปรุงการจัดแสดงครั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2510 เมื่อกรมศิลปากรได้รับงบประมาณสร้างอาคารใหม่ขึ้นสองหลังขนาบอาคารหมู่พระวิมาน กรมศิลปากรใช้พระที่นั่งศิวโมกขพิมานจัดแสดงนิทรรศการโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ อาคารสร้างใหม่สองหลังจัดแสดงประติมากรรมที่พบในประเทศไทยก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ได้แก่ ศิลปโบราณวัตถุสมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย และสมัยลพบุรี (อาคารมหาสุรสิงหนาท) ส่วนอีกหลังหนึ่งจัดแสดงศิลปะไทยสมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ (อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์) ส่วนในหมู่พระวิมานนั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลงการจัดแสดงอย่างสำคัญนัก

เว้นแต่พระที่นั่งอุตราภิมุขซึ่งใช้จัดแสดง “เรือจำลองสำหรับพระราชพิธีลอยกระทง มีทั้งเรือกิ่งและเรือศรีพระที่นั่งต่างๆ”

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ย้ำอีกว่าปี พ.ศ. 2510 นี้ นอกจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดแสดงครั้งสำคัญของพิพิธภัณฑ์ไทยแล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นหรือการคืนกลับมาของการสถาปนาความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีแห่งชาติไทยให้เข้มข้นขึ้นอีกคราวหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ชาติไทย “นิยาย” การเมือง

(1.) ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย มีถิ่นกำเนิดอยู่อัลไต ทางเหนือของจีน (2.) เจ้าของน่านเจ้า ถูกจีนรุกรานอพยพถอนรากถอนโคนหนีลงทางใต้ (3.) สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย (4.) อยุธยาเป็นราชธานีแห่งสอง และ (5.) หลังกรุงแตก มีกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งหมดเป็น “นิยาย” ไม่มีจริงตามนี้

ชมรายการ ขรรค์ชัย สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “ชาติ” ที่ต้องปลดแอก ประวัติศาสตร์ชาติไทย “นิยาย” การเมือง ออกอากาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2564