Podcast EP5 “ขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดยศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เข้าใจประวัติศาสตร์ รู้ทันอนาคต สนทนาศิลปะ-วัฒนธรรม กับ “ศิลปวัฒนธรรม Podcast” ใน Season แรก มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จำนวน 5 ตอน พบกันทุกวันจันทร์ เวลา 19.30 น. เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

ใน EP.5 ว่าด้วยเรื่อง “ขั้นตอนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดยศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

Index

0:44 ความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
2:38 ขั้นตอนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
4:50 น้ำที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
7:38 พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎ แกะพระราชลัญจกร ดวงพระราชสมภพ
9:36 เนื้องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

มาร่วมหาคำตอบใน “ศิลปวัฒนธรรม Podcast” (คลิกฟัง Podcast EP1 เรื่องคติจักรพรรดิราช โดยศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

EP2 เรื่อง น้ำสรงพระมุรธาภิเษก โดยอ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

EP3 เรื่อง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ โดยรศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ

EP4 เรื่อง “สถาปัตยกรรม” โดยผศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร)

ความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีสำคัญของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในตะวันตกเรียกกันว่า Coronation การบรมราชาภิเษกคือการตั้งพิธีการเพื่อเฉลิมพระยศ เพื่อถวายพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ เพื่อที่จะได้มีความเป็นราชาธิราชเต็มที่บริบูรณ์ ในระบอบราชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขมาแต่เดิม การสิ้นรัชกาลก่อนกับการเริ่มรัชกาลใหม่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ในเวลาสิ้นรัชกาลก่อน ความใส่ใจภารกิจเฉพาะหน้าเป็นเรื่องงานพระศพพระองค์ก่อนเป็นสำคัญ ทอดระยะเวลาอีกระยะหนึ่งจึงมีการบรมราชาภิเษก

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีต บรมราชาภิเษกอาจทำในเวลาไม่เกิน 1 เดือนหลังจากที่ขึ้นรัชกาลใหม่ แต่ไม่ได้มีเวลาตายตัว แล้วแต่ความสมบูรณ์พร้อม ที่สำคัญคือฤกษ์ดี และเรื่องเวลาที่เหมาะสม

การมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผสมผสานคติความเชื่อฝ่ายพราหมณ์ฮินดูกับศาสนาพุทธอย่างกลมกลืนเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมสำคัญ

ขั้นตอนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จากการพระราชพิธีในอดีต สามารถแบ่งขั้นตอนเป็น 3 กลุ่มสำคัญ

1. การเตรียมการ
2. งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
3. เรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน (แต่ละรัชกาล แต่ละเหตุการณ์อาจลดหรือเพิ่มตามความเหมาะสม)

หัวใจของการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือการนำน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่มาจากความยินยอมพร้อมใจของผู้คนมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เรื่องนี้มีน้ำเกี่ยวข้อง 2 วาระ นั่นคือสรงน้ำพระมุรธาภิเษก และถวายน้ำอภิเษก

ในอดีต ตามตำราอินเดียใช้น้ำปัญจมหานที แต่เมื่อเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ไกล เมืองไทยปรับคติเรื่องนี้เป็นน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญทั้งหลาย เช่น แม่น้ำสำคัญ 5 สายในภาคกลางที่เรียกว่าเบญจสุทธคงคา คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำบางปะกง มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นบ่อในตำบลหรือสถานที่ต่างๆ

ในชั้นแรก รัชกาลก่อนๆ จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง คาดว่าเนื่องมาจากการคมนาคมที่ยังไม่สะดวก และความเป็นรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 4-6 ก่อนหน้านั้นจะเป็นแคว้นที่ยังมีอิสระในการปกครองตัวเอง บางจังหวัดในปัจจุบันอาจมีฐานะประเทศราช แหล่งที่เป็นแหล่งน้ำสำหรับการพลีกรรมตักน้ำแต่ละยุคก็เปลี่ยนแปลงไป รัชกาลที่ 6 มีระบบมณฑลก็ตักน้ำตามตัวจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของมณฑลทั้งหลาย รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ก็ทำตามสมัยรัชกาลที่ 6

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้พบว่า มีการกำหนดพลีกรรมตักน้ำอภิเษกทุกจังหวัดในประเทศไทย บางจังหวัดมีแหล่งน้ำ 1 แหล่ง บางแห่งมีเกิน 1 แต่รวมแล้วทั้งหมด 108 แห่ง เป็นตัวเลขมงคล จะมีการทำพลีกรรมตักน้ำในวันที่ 6 เมษายน มีการเสกน้ำตามจังหวัดต่างๆ เหล่านี้มีความหมายในทางสังคมวิทยาและรัฐศาสตร์ที่อาจอธิบายว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของผู้คนที่จะนำน้ำมาจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์มาประมวลรวมเข้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในงานพระราชพิธีครั้งนี้

หลังจากเสกน้ำแล้วยังเชิญน้ำมารวมประมวลเข้าในกรุงเทพฯ มีการเสกน้ำซ้ำที่วัดสุทัศนเทพวรารามฯ ในวันที่ 18-19 เมษายน

ขั้นตอนเตรียมการยังมีการพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ แกะพระราชลัญจกร จารึกดวงพระบรมราชสมภพ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมการล่วงหน้า โดยเฉพาะพระสุพรรณบัฏที่จารึกพระปรมาภิไธย และนัยยะประการสำคัญคือแสดงความเป็นพระผู้เป็นเจ้า มีสร้อยพระนามบางวรรคที่นิยมใช้สืบเนื่องกันมา หรือคำว่า “รามา” เพราะพระรามเป็นอวตารปางสำคัญของพระนารายณ์ที่ลงมาในโลกมนุษย์

มีการแกะตราพระราชลัญจกร ตราประจำรัชกาล อีกอย่างคือดวงพระบรมราชสมภพ คือดวงเกิดสำหรับใช้ในโอกาสต่อไปในภายหน้า กล่าวคือเมื่อมีการเวียนเทียนสมโภชในโอกาสสำคัญ จะเชิญดวงพระบรมราชสมภพนี้ไปประดิษฐานเป็นสิ่งสำคัญอันเป็นมงคลในวันข้างหน้าต่อไป

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ก่อนถึงพระราชพิธี ในสมัยโบราณหรือในสมัยนี้ก็ตาม จะมีเจริญพระพุทธมนต์ตามจำนวนวัน เมื่อถึงวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจริง คือวันที่ 4 พฤษภาคม จะมีพิธีการสำคัญที่เป็นพิธีต่อเนื่องกันซึ่งถือได้ว่าคือความเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 3 ประการ ได้แก่

1. การสรงพระมุรธาภิเษก พระมุรธาภิเษกคือการสรงน้ำที่ประมวลมาจากการน้ำที่ทำพิธีพลีกรรมทั่วประเทศ เป็นการสรงกลางแจ้งในพระมณฑปที่สร้างขึ้นเป็นมณฑปชั่วคราว (มณฑปคืออาคารโปร่งยอดแหลม คล้ายทรงปราสาท) สมเด็จพระเข้าอยู่หัวจะประทับอยู่บนตั่งที่ทำจากไม้มะเดื่อซึ่งถือเป็นไม้มงคล เหนือที่ประทับบนยอดของพระมณฑปนั้นจะมีสหัสธารา หรือฝักบัวที่สามารถไขให้น้ำซึ่งอยู่บนยอดของพระมณฑปนั้นตกลงมาต้องพระองค์ได้ จะมีผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ทั้งหลาย อาทิ พระมหาเถระ สมเด็จพระสังฆราช เจ้านายผู้ใหญ่ ถวายน้ำอภิเษก เป็นการเบื้องต้นก่อนจะเข้าสู่พิธีขั้นตอนต่อไป

2. ขั้นตอนจะเกิดที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นหนึ่งในหมู่พระที่นั่งมหามณเฑียรสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 มีพระที่นั่ง 2 องค์ องค์แรกคือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทำจากไม้มะเดื่อ อัฐทิศแปลว่า 8 ทิศ ในที่นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์เพื่อทรงรับน้ำอภิเษกจากผู้แทนทิศทั้ง 8 การกำหนดผู้แทนแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ก่อนถวายต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาขอเชิญพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแผ่พระราชอาณา ได้ทรงปกปักษ์รักษาทิศทั้ง 8 ผู้คนและสรรพสิ่งในทิศเหล่านี้ จะเวียนเปลี่ยนที่ประทับไปตามทิศทั้งหลาย

3. จากนั้นจะเสด็จฯไปที่พระที่นั่งภัทรบิฐ ณ ที่นั้น เบื้องบนกางกั้นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตร 9 ชั้นที่ทรงรับในการพระราชพิธีก่อนหน้านี้

ณ ที่นี้จะมีการทูลเกล้าฯถวายเครื่องยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ โดยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ พระมหาพิชัยมงกุฏ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน นอกจากนั้น จะมีพระแสงต่างๆ เครื่องราชูปโภคทั้งหลายจะทูลเกล้าฯ ในวาระนี้ ณ ที่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้จึงถือว่าการบรมราชาภิเษกจบกระบวนการขั้นตอน

นอกจากนั้น อาจมีพิธีการที่เกี่ยวเนื่อง แต่ละรัชกาลจะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง

วันที่ 4 พ.ค. ช่วงบ่ายจนถึงค่ำยังมีการเสด็จออกมหาสมาคมที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ให้บรรดาข้าราชการ เจ้านาย ราชวงศ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล และจะมีกระแสพระราชดำรัสตอบ

บ่ายของวันเดียวกันจะเสด็จฯจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก

ตอนค่ำยังมีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร หรือเทียบกับการขึ้นบ้านใหม่ เมื่อรับบรมราชาภิเษก พระองค์จะประทับแรมคืนแรมราตรีในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นการประทับในสถานะพระมหากษัตริย์ที่ทรงผ่านการบรมราชาภิเษกบนพระวิมานดั้งเดิมที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมิ่งมงคลอย่างยิ่ง

วันที่ 5 พ.ค. จะมีอีก 2 รายการคือ การสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เจ้านายเมื่อเปลี่ยนรัชกาลก็ย่อมต้องมีให้เหมาะสมกับรัชกาลใหม่

ช่วงบ่ายของวันที่ 5 น่าสนใจสำหรับประชาชน คือการเลียบพระนคร คติคือการเผยพระบารมีให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้ว ในสมัยก่อนไม่มีสื่อมากมาย ความรับรู้ของประชาชนก็ไม่ได้กว้างขวางนัก การเสด็จเลียบพระนครจึงเป็นธรรมเนียมที่เป็นโอกาสให้ประชาชนเฝ้าชมพระบารมี โดยจะใช้กระบวนพยุหยาตรา มีกองทหารหน้าและหลัง เป็นกระบวนที่สวยงามมากเสด็จไปยัง พระลาน 3 แห่ง ไปวัดบวรนิเวศฯ ไปวัดราชบพิตร ไปวัดพระเชตุพน

ส่วนการเลียบพระนครทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกไปรวมกับการถวายผ้าพระกฐินปลายปีหลังออกพรรษาแล้ว

วันที่ 6 พ.ค. เป็นอีกรายการที่เกี่ยวเนื่องกับประชาชน ดังที่ราชการประกาศให้วันที่ 6 เป็นวันหยุดราชการเป็นพิเศษแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯออกพระสีหบัญชรบนกำแพงพระบรมมหาราชวังฝั่งพระราชอุทยานสราญรมย์ ณ ที่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เป็นโอกาสที่ประชาชนเข้าเฝ้าฯ

รายการสุดท้ายคราวนี้อยู่ในวันที่ 6 คือคณะทูตานุทูต และผู้แทนฝ่ายกงสุลเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลที่ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นการจบพิธีของหลวง