Podcast EP2 “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” น้ำสรงพระมุรธาภิเษก โดยอ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เข้าใจประวัติศาสตร์ รู้ทันอนาคต สนทนาศิลปะ-วัฒนธรรม กับ “ศิลปวัฒนธรรม Podcast” ใน Season แรกมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จำนวน 5 ตอน พบกันทุกวันจันทร์ เวลา 19.30 น. เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

ใน EP.2 พบกับประเด็น “น้ำสรงพระมุรธาภิเษก” โดย ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล…“ทำไม “น้ำ” ถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก…คตินี้มีที่มาอย่างไร และเป็น “มุรธาภิเษก” ได้อย่างไร?

มาร่วมหาคำตอบใน “ศิลปวัฒนธรรม Podcast” (คลิกฟัง Podcast EP1 “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เรื่องคติจักรพรรดิราช โดยศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์)

Index

0:43 ความหมายและที่มาของมุรธาภิเษก
3:01 แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในศาสนาพราหมณ์
5:40 การใช้น้ำในพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่ครั้งกรุงศรีฯ
13:05 ทำไมต้องจินตนาการว่า ไหลมาจากสระอโนดาต?
25:10 สรุป

ติดตาม Podcast โดย ศิลปวัฒนธรรม ที่

Podbean
Soundcloud
YouTube



ความหมายและที่มาของมุรธาภิเษก

มุรธาภิเษก หมายถึง มุรธ แปลว่าศีรษะ หรือส่วนยอด สนธิกับคำว่าอภิเษก ในที่นี้หมายถึง การรดน้ำที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น เมื่อรวมคำกันแล้วหมายถึง การรดน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่บริเวณศีรษะ เป็นคำในภาษาสันสกฤตที่ใช้กันในไทย

ทำไมต้องทำมุรธาภิเษก? … เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในไทยเป็นเมืองร้อน การอาบน้ำเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการอาบน้ำเพื่อชำระร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป แต่การมุรธาภิเษก มีความสำคัญอย่างหนึ่งคือการรดน้ำครั้งนี้คือการเปลี่ยน ได้รับอำนาจ หรือเปลี่ยนสถานะเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์สุดในอาณาจักร

ธรรมเนียมการมุรธาภิเษกเพื่อสถาปนาอำนาจหรือยกให้บุคคลที่ได้รับการมุรธาภิเษกให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของทางศาสนาพราหมณ์ที่มีอายุเก่ากว่าพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกเกิดมาอย่างน้อย 3,000 ปีเป็นขั้นต่ำ

การมุรธาภิเษกเป็นการรดน้ำเพื่อให้เทวดารดน้ำพระอินทร์เพื่อให้พระอินทร์เป็นเทวดาที่ยิ่งใหญ่บนสวรรค์ พิธีกรรมนี้จึงถูกจำลองในพิภพมนุษย์ กล่าวคือเปลี่ยนจากพระอินทร์เป็นพระราชา และขุนนางอำมาตย์แทน

แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในศาสนาพราหมณ์

แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในศาสนาพราหมณ์นั้น พุทธศาสนาเองก็ยอมรับแนวคิดนี้ มีหลักฐานปรากฏว่าคำว่าอภิเษกในวรรณกรรมฝ่ายบาลีหมายถึง The Coronation คือสถาปนาหรือบรมราชาภิเษกเช่นเดียวกัน มีฉากจิตรกรรมที่ถ้ำอชันตา ตอนสรงมุรธาภิเษกพระมหาชนก ซึ่งคือเรื่องหนึ่งในชาดกที่รู้จักกันดี

แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในหลักฐานการบรมราชาภิเษกปรากฏในไทย หลักฐานที่เห็นชัดสุดจากศิลาจารึกปากน้ำมูล และจารึกถ้ำภูหมาไนซึ่งเป็นของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ก็กล่าวถึงคำว่าอภิเษก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำอภิเษกครั้งนั้นมีลักษณะอย่างไรนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่มีรายละเอียดจารึกไว้

ในจารึกสุโขทัยก็มีพูดถึงการอภิเษกเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก หลักฐานถัดมาคือปรากฏอยู่ในกฏมณเฑียรบาล ในที่นี้คือกฎหมายว่าด้วยขนบธรรมเนียม ข้อปฏิบัติของข้าราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในสมัยอยุธยา การอภิเษกมีเกิดขึ้นหลายครั้ง ในแต่ละครั้งมีความหมายไม่เหมือนกัน

การใช้น้ำในพิธีบรมราชาภิเษก

หลักฐานเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำในพิธีบรมราชาภิเษก ในครั้งกรุงศรีอยุธยาจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แห่งที่เมืองสุพรรณ

เดิมทีสระศักดิ์สิทธิ์อยู่ในโซนเดียวกันหมด เพียงแต่กรมทางหลวงตัดถนนเลยแบ่งเป็น 2 ส่วน สระศักดิ์สิทธิ์นี้มีชื่อคือสระเกษ สระแก้ว สระยมนา สระคา แต่ไม่มีข้อมูลว่าใช้สระเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อใด แต่ครั้งบรมราชาภิเษกสมัยอยุธยาก็มีใช้แล้ว มีข้อสงสัยว่าธรรมเนียมต่างๆ ยุคสังคมรัฐจารีต การลดทอนพิธีกรรมขั้นตอนเป็นเรื่องลำบากมาก การลดทอนอาจเป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ อาจต้องตั้งข้อสันนิษฐานว่า พิธีกรรมนี้จึงใช้กันมานานมาก แทบไม่มีเปลี่ยนแปลงเลย เพราะพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชสมัยหนึ่งกระทำได้ครั้งเดียว ขั้นตอนพัฒนาการในพิธีกรรมย่อมช้ามาก

สระนี้ตั้งอยู่ในเมืองสุพรรณ เมืองสุพรรณในยุคอยุธยาตอนปลายถือว่าไกลมาก โดยเฉพาะบริเวณแถวท่าว้า ถ้าตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่สระนี้ใช้มาตั้งแต่ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เจ้านายข้างสุพรรณภูมิเสด็จฯมาเสวยราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยา พระองค์แรกคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขุนหลวงพระงั่ว หลังจากนั้นกลุ่มวงศ์สุพรรณฯยังยึดถือตามธรรมเนียม นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 สระนี้มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 5 เคยทรงเสด็จฯไปที่สระทั้ง 4 มีข้อมูลปรากฏในพระราชหัตถเลขา มีการกล่าวถึงว่า ในสระนี้ไม่มีสัตว์ใดๆ ถือเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ ใช้เฉพาะองค์พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ไม่มีใครกล้านำไปใช้เพราะถือว่าจะกลายเป็นเสนียดจัญไรเนื่องจากบุญไม่พอ จะต้องมีคนตั้งกองอารักขาไว้ ไม่มีใครตักน้ำในสระนี้ได้ แต่เคยมีเรื่องเจ้าประเทศราชองค์หนึ่งแอบให้คนมาตักน้ำ ถ้านับกันตามกฎคือต้องโทษกบฏ

บริเวณสระทั้ง 4 ตั้งใกล้กับท่าว้า ก็คงเป็นตาน้ำศักดิ์สิทธิ์มาก่อน เพราะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนมีเขื่อนขนาดใหญ่ในช่วงหน้าแล้งก็แห้งมาก เพราะฉะนั้น ตาน้ำในบ่อต่างๆ จึงถือว่าเป็นตาน้ำศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเป็นตาน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้น ในบริเวณใกล้กับสระทั้ง 4 จะมีวัดเขาดิน นั่งรถไปประมาณ 2 กิโลเมตรตามเส้นทางหลวง ถ้าเลาะตามลำน้ำระยะทางไม่ถึง 1 กิโลเมตร

นอกจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แล้ว หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์ อธิบายไว้ว่า เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งรัตนโกสินทร์ มีการเพิ่มน้ำที่เรียกว่า เบญจสุทธคงคา (อ้างอิงการสะกดตามข้อมูลจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) คือแม่น้ำทั้ง 5 สายในประเทศไทย แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 สายในอินเดียกับในไทยนับแตกต่างกัน

สันนิษฐานว่าแต่เดิมยังไม่มีการสำรวจทางภูมิศาสตร์ เรื่องภูมิศาสตร์เป็นเรื่องภูมิศาสตร์ตามความเชื่อ จากหลักฐานในสมุดภาพไตรภูมิหมายเลขที่ 6 ในสมัยอยุธยา เขียนขึ้นประมาณ พ.ศ. 2200 กล่าวว่า น้ำในสระอโนดาต เมื่อไหลออกมาแล้ว ตามขนบอินเดียเมื่อไหลมาแล้วจะเป็นแม่น้ำ 5 สายในแบบอินเดีย แต่ในสมุดภาพไตรภูมิจะเก๋กว่านั้นคือ ไหลจากตัวสระอโนดาตแล้ว ไหลมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา มีกิ่งก้านสาขาเกิดขึ้น

การที่สมมติให้แม่น้ำบางปะกง ป่าสัก เจ้าพระยา แม่กลอง และเพชรบุรี เป็นปัญจมหานทีคงคา เข้าใจว่าคงเชื่อว่าไหลมาจากสระอโนดาต

ทำไมต้องจินตนาการว่า ไหลมาจากสระอโนดาต?

น้ำในสระอโนดาตเป็นน้ำในสระเทพนิยายที่เชื่อว่าจะเป็นสระสุดท้ายที่จะเหือดแห้งเมื่อโลกนี้ถูกไฟไหม้ไป น้ำในสระไม่เคยร้อนเพราะไม่เคยต้องแสงอาทิตย์ แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ น้ำในสระนี้จะใช้เป็นที่รดสรง ใช้เป็นที่อาบน้ำเสวยของพระพุทธเจ้า และพระจักรพรรดิ คือพระราชาเหนือราชาทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชก็จะบอกว่า ทุกวันจะมีคนตักน้ำในสระมาให้พระองค์เป็นน้ำสรง น้ำเสวย ดังนั้น การสมมติให้น้ำต่างๆ เป็นปัญจมหานที ก็เพราะถือว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหาจักรพรรดิ เป็นพระราชาเหนือราชา

แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยาก็ต้องเลือกที่ตัก แม่น้ำบางปะกงจะตักที่บึงพระอาจารย์ที่นครนายก แม่น้ำป่าสักตักที่ตำบลท่าราบ สระบุรี แม่น้ำเจ้าพระยาตักที่ตำบลบางแก้ว อ่างทอง ตำบลบางแก้วสำคัญทางภูมิศาสตร์อย่างหนึ่งคือ เมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาถึงเมืองอ่างทอง ถ้าเลี้ยวซ้ายคือคลองบางแก้ว ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ตื้นเขินในสมัยมาต่อในสมัยรัตนโกสินทร์ ถ้าเลี้ยวขวาลงมาคือแม่น้ำเจ้าพระยาสายปัจจุบัน แต่เดิมเป็นสายรอง แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์เกิดการเปลี่ยนแปลงลำน้ำ

แม่น้ำแม่กลองตักที่ตำบลดาวดึงษ์ สมุทรสงคราม แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าชัย เมืองเพชรบุรี ในจดหมายเหตุพระบรมราชาภิเษก ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเสกน้ำกันที่ไหน

พัฒนาการของการมุรธาภิเษก

ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2411 น้ำที่ใช้ยังเป็นเบญจสุทธคงคา และน้ำ 4 สระที่เมืองสุพรรณเป็นทั้งน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษกแบบเดียวกับรัชกาลก่อน แต่ปี พ.ศ. 2416 พระองค์เสด็จประพาสอินเดีย ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ พระองค์ตักน้ำแม่น้ำคงคาในครั้งนั้นด้วย

ช่วงนั้นโลกทัศน์ในสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มีความคิดวิชาการตามแบบโลกวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งแนวคิดตามจารีต เพราะฉะนั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอินเดีย พระองค์ทรงตักน้ำจากแม่น้ำคงคามาเจือในน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระองค์

แนวคิดเรื่องการสรงน้ำบรมราชาภิเษกเปลี่ยนแปลงไปในช่วงรัชกาลที่ 6 ครั้งนั้นยังยึดถือตามน้ำสรงแบบรัชกาลที่ 5 เป็นพื้นฐาน แต่สังคมในรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนแปลงเพราะว่า หลังรัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองโดยยกเลิกตำแหน่งเสนาบดีและตำแหน่งจตุสดมภ์ บรรดาหัวเมืองเอกโทก็ยกเลิกไป แนวคิดเรื่องความเป็นรัฐชาติเกิดขึ้น เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 การตักน้ำใช้สรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเพิ่มขึ้น น้ำที่เพิ่มขึ้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ น้ำที่ได้จากเจดียสถาน คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐโบราณ อีกส่วนคือน้ำที่เสกตามวัดประจำมณฑลต่างๆ

น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามปูชนียสถานสำคัญตามรัฐโบราณที่มีในประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก เสกที่พระพุทธบาท สระบุรี เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าเสด็จมากดพระบาทประทานให้ ในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่า การกำเนิดของกรุงศรีอยุธยาสัมพันธ์กับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้ามากดรอยพระพุทธบาทที่นี้

ตัวอย่างอีกแห่งคือที่พิษณุโลกตักที่สระแก้ว สระขวัญ และเสกน้ำที่วิหารพระพุทธชินราช โดยถือว่าเมืองพิษณุโลกเคยเป็นศูนย์กลางแห่งราชวงศ์พระร่วง ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมืองพิษณุโลกก็เป็นราชธานีแห่งที่ 2 ของราชอาณาจักร

ในยุคนั้นการปกครองแบ่งเป็นมณฑลแล้ว จึงมีการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามมณฑลต่างๆ อีก 10 มณฑล ถ้ายอมรับว่ามณฑลเป็นศูนย์กลางของเมืองต่างๆในระบบมหาดไทย การตักน้ำต่างๆ หมายถึงผู้คนในมณฑลนั้นยอมรับพระราชอำนาจ อาทิ วัดบรมธาตุเมืองชัยนาท คือมณฑลนครสวรรค์ เมืองชัยนาทเป็นศูนย์กลางหลักในยุครัฐโบราณ นครสวรรค์เพิ่งเป็นตัวเมืองมณฑลเมื่อทางรถไฟผ่าน เพราะฉะนั้น ศูนย์กลางการปกครองกับศูนย์การคมนาคมอาจเป็นคนละที่ก็ได้

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 7 มีตักน้ำเพิ่มและเสกน้ำเพิ่มจากรัชกาลที่ 6 อีกหนึ่งแห่งคือที่พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ เพราะภาคเหนือในปัจจุบัน แต่เดิมแล้ว ก่อนการสถาปนาราชวงศ์มังรายจะมีรัฐแห่งเล็กๆ แพร่และน่านก็เป็นรัฐอีกรัฐที่เกิดขึ้น

เมื่อถึงรัชกาลที่ 9 ทำเหมือนกับรัชกาลที่ 7 โดยเปลี่ยน 2 จุดคือ เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เพชรบูรณ์ และวัดพระธาตุช่อแฮ มาเป็นบึงพลาญชัย ร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน น่านเป็นศูนย์กลางวงศ์เมืองน่านมาก่อน มีความสำคัญมาก่อน ส่วนบึงพลาญชัยก็เป็นบึงใหญ่ในร้อยเอ็ด เป็นเมืองเก่าครั้งทวารวดี แต่เมืองใหม่ไปซ้อนทับอยู่

นัยยะสำคัญของการสรงน้ำที่มณฑปพระกระยาสนาน

การสรงน้ำมุรธาภิเษกที่มณฑปพระกระยาสนานมีนัยยะสำคัญ เพราะมณฑปพระกระยาสนาน เป็นมณฑป 5 ยอด ก่อนที่จะสรงพระมุรธาภิเษก ตั้งรูปพระอินทร์ และจตุโลกบาล แสดงความเป็นศูนย์กลางหลักของโลก เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จต้องเชิญเจว็ดพระอินทร์ไปทางทิศตะวันออก เป็นสัญลักษณ์ชี้ให้เห็นว่า ตั้งข้อสังเกตว่า ตรงนี้เป็นพิธีที่ยกพระเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระอินทร์เกิดขึ้นหรือไม่ ดังที่ในนิทานเรื่องพระเจ้ามันธาตุราชที่พระอินทร์เชิญพระเจ้ามันธาตุราชขึ้นไปเสวยราชย์ เพราะพระองค์เป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่

สรุป

โดยสรุปแล้ว การเสกน้ำและนำน้ำศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเพิ่มจากแม่น้ำคงคา สมัยรัชกาลที่ 6 เพิ่มน้ำมาสถานที่สำคัญและน้ำจากมณฑลต่างๆ รัชกาลที่ 9 ยังคงรูปแบบตามสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นส่วนใหญ่ มีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจว่า รัชกาลที่ 6 ระบบคมนาคมสะดวกมากขึ้น การนำน้ำจากหัวเมืองมาก็ง่าย งานพระบรมราชาภิเษกครั้งเก่าก่อนจะกระทำหลังการเสด็จสวรรคตไม่นาน ไม่เกินเดือน ซึ่งยังเป็นไปไม่ได้ที่จะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากที่ห่างไกล แต่เมื่อการคมนาคมยกระดับขึ้นอีก เลยมีเปลี่นยแปลงไปตามสภาพสังคม


ติดตาม Podcast โดย ศิลปวัฒนธรรม ที่

Podbean
Soundcloud
YouTube