Podcast EP1 “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เรื่องคติจักรพรรดิราช โดยศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เข้าใจประวัติศาสตร์ รู้ทันอนาคต สนทนาศิลปะ-วัฒนธรรม กับ “ศิลปวัฒนธรรม Podcast” ใน Season แรกมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จำนวน 5 ตอน พบกันทุกวันจันทร์ เวลา 19.30 น. เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

ใน EP. แรกประเดิมด้วยประเด็น “คติจักรพรรดิราช” โดย ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แถวหน้าในไทย … “คติจักรพรรดิราช” หมายความว่าอย่างไร เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างไรบ้าง มาร่วมหาคำตอบใน “ศิลปวัฒนธรรม Podcast”

Index

0:45 ที่มาและความหมายของคติจักรพรรดิราช
3:20 หลักฐานที่ค้นพบเกี่ยวกับคติจักรพรรดิราช
3:56 การแสดงสถานะจักรพรรดิราช
8:36 ที่มาของพิธียกสถานะไปสู่พระเจ้าจักรพรรดิ
11:24 พระราชพิธีราชาสูยะกับความสำคัญของการประกอบพิธี
12:01 ความสำคัญของน้ำในพระราชพิธี
13:05 ช่วงแพร่หลายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจนถึงไทย
17:50 พัฒนาการของพระราชพิธีราชาภิเษกตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์
20:40 การแสดงออกสถานะจักรพรรดิราชในไทย และข้อสังเกต

ติดตาม Podcast โดย ศิลปวัฒนธรรม ที่

Podbean
Soundcloud
YouTube


ความหมายและที่มาที่ไป

คติเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราช คือคติว่าด้วยการเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลาย ความเชื่อเกี่ยวกับราชาเหนือราชาทั้งหลายเป็นความเชื่อสากล ในสังคมวัฒนธรรมที่มีการพัฒนาทางการเมืองจนสลับซับซ้อน มีผู้ปกครองหลายสถานะ บ้านเล็กเมืองน้อย บ้านใหญ่เมืองโต จะมีคติความเชื่อว่าต้องมีพระมหากษัตริย์ที่เหนือกว่ากษัตริย์อื่นๆ ในโลกตะวันตกมีคำว่า Emperor หรือว่าเจงกิสข่าน ก็มีความหมายโดยนัยยะใกล้เคียงพระจักรพรรดิเหมือนกัน

แต่ในคติคำว่าจักรพรรดิที่แพร่หลายในอุษาคเนย์นี้ มีต้นรากมาจากคติศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา ถ้าสมมติว่าจะพูดถึงคติที่ยอมรับนับถือและปฏิบัติมา อย่างน้อยตั้งแต่ในยุคสุโขทัยหรืออยุธยาไล่เรียงมา ถือเป็นคติของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทซึ่งรับมาจากลังกา

ที่จริงแล้วจะตรงกับคำว่าจักรวาทิน คือผู้ที่หมุนกงล้อ ในที่นี้อาจมีนัยยะว่าเป็นกงล้อแห่งธรรมที่แผ่ผ่านพระธรรมคำสั่งสอนออกไปยังทวีปต่างๆ ซึ่งเป็นทวีปที่มนุษย์อยู่อาศัยซึ่งมี 4 ทวีปด้วยกัน หรืออาจพูดถึงกงล้อซึ่งเป็นกงล้อของราชรถซึ่งใช้ในการขับเคลื่อนไปเพื่อทำสงคราม ถ้าสมมติในลักษณะนี้จะหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ปกครองเฉพาะชมพูทวีป

เพราะฉะนั้น คำว่าจักรพรรดิหรือที่มาจากคำว่าจักรวาทินในที่นี้จึงมีรากมาตั้งแต่ศาสนาพราหมณ์ มาถูกขับเน้นในลักษณะของคติทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่รับมาจากลังกา

หลักฐานการค้นพบแนวคิด

อย่างช้าที่สุด พบเห็นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 โดยทรงประกาศสถานะความเป็นจักรวาทินของพระองค์บนเขาพนมกุเลน หรือมเหนทรบรรพต ครั้งนั้นเป็นหลักฐานที่น่าจะมีร่องรอยมาจากจารึก “สด๊กก๊อกธม” ซึ่งแสดงการประกาศสถานะของพระองค์เหนือราชาทั้งหลายในกัมพุชประเทศ

การแสดงสถานะ

การแสดงสถานะพระจักรพรรดิราชนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าเป็นพระจักรพรรดิราชในตำนาน ในจักรวาทินสูตรจะพูดถึงพระจักรพรรดิราชที่ปกครองทั้ง 4 ทวีปซึ่งเป็นพระจักรพรรดิราชในอุดมคติ ถ้าสมมติพูดถึงพระจักรพรรดิราชในโลกความเป็นจริงที่อยู่ในการรับรู้ การยอมรับ หรือเป็นต้นแบบเป็นแบบอย่างของพระมหากษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โบราณอาจจะยึดถืออย่างพระเจ้าอโศกเป็นบรรทัดฐาน

การแสดงออกซึ่งความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชของพระมหากษัตริย์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือพม่าจะแสดงออกในฐานะพระเจ้าจักรพรรดิราชที่ปกครองเฉพาะสกลชมพูทวีปซึ่งเป็นพระจักรพรรดิราชที่ใช้กำลังเป็นอุปกรณ์ในการแผ่ขยายพระราชอำนาจ จักรพรรดิในลักษณะนี้บางครั้งจะเรียกว่า พละจักรวาทิน คือจักรพรรดิที่เป็นใหญ่ด้วยกำลัง

การแสดงออกถึงคุณสมบัติ หรือสำแดงให้เห็นความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิของพระมหากษัตริย์ในแต่ละพระองค์ บางครั้งก็แสดงในเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่น พ่อขุนรามคำแหง อาจบอกว่าทรงแผ่ขยายอำนาจถึงฝั่งสมุทรเป็นที่แล้ว คือแผ่ขยายอำนาจจากภูเขา ตีนเขาไปถึงฝั่งสมุทร

การแสดงอำนาจของพระมหากษัตริย์จะแสดงจากตีนเขาหิมาลัย ไปจนถึงฝั่งทะเล อาจไม่ต้องประกาศพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่บอกว่าพระองค์นั้นขยายอำนาจอย่างนี้ ลักษณะเดียวกันนี้ จะเจอในจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

มีบ่อยครั้งที่พระมหากษัตริย์ที่แสดงองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจะใช้นามพระเจ้าจักรพรรดิเลย หรือมิฉะนั้นจะใช้นามบรมราชา เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ทั่วไปหรือราชาธิราชา ราชาธิราช จะเห็นอยู่ในสมัญญานามของพระมหากษัตริย์อยุธยาแทบทุกพระองค์

สำหรับคติการประกาศพระบารมี พระราชอำนาจโดยธรรมมีอยู่ในคติพุทธตั้งแต่เบื้องต้น มีอยู่ในคัมภีร์ อย่างเช่นจักรวาทินสูตร

ภายหลังจากพระมหากษัตริย์ผู้อ้างพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิขยายอำนาจปราบบ้านเมืองต่างๆ ราบคาบแล้วจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซ่อมแซมเจดีย์วิหาร ใส่บาตรพระเท่าอายุของพระองค์ ประพฤตินี้เห็นได้ในกรณีพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาได้ในปี พ.ศ. 2112 บ้านเมืองก็ยับเยินเป็นผลจากการทำสงคราม พระองค์ก็บูรณะปฏิสังขรณ์ พระราชทานเงินให้ซ่อมแซม แล้วก็ทำบุญเป็นการใหญ่

ตรงนี้เป็นการแสดงบทบาทอย่างหนึ่งของพระเจ้าจักรพรรดิ ในชั้นต้นเป็นพลจักรวาทิน ใช้กำลังก่อน หลังจากนั้นพระองค์ก็แสดงบทบาทในฐานะผู้ที่ค้ำจุนดูแลพระศาสนา

ความสำคัญของน้ำ

พระราชพิธีราชาสูยะ องค์ประกอบที่สำคัญจะต้องเป็นเรื่องการสรงน้ำ ตรงนี้เรียกว่าเป็นการอภิเษก ก็คือสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าเป็นหัวใจของการประกอบพิธีซึ่งต่างจากโลกตะวันตก เพราะโลกตะวันตกเมื่อพูดถึง Coronation (ราชาภิเษก) จะเป็นเรื่องการสวมมงกุฏ แต่ของเราจะอาศัยน้ำเป็นสัญลักษณ์ หรือสื่อหลัก

เพราะว่าน้ำจะเข้ามาสัมพันธ์โดยเบื้องต้นเกี่ยวกับการ Purify หรือการทำให้สะอาด การทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีนัยยะว่าพระองค์ที่จะได้รับยกย่องขึ้นมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิต้องผ่านการสรงน้ำที่เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ คำว่าอภิเษกคือการสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุประการนี้จึงต้องมีการเอาน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อย่างเช่น ปัญจมหานที เพื่อนำมาสรง พอสรงแล้วก็มีความศักดิ์สิทธิ์เพราะผ่านการสรงน้ำที่เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เท่ากับยกสถานะของพระองค์ขึ้นเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลาย

แพร่หลายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจนถึงไทย

พิธีนี้เข้ามาแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเชื่อว่า แหล่งหนึ่งที่รับพิธีนี้คืออาณาจักรพระนครหลวงสมัยโบราณ เพราะฉะนั้น จะมีการพูดถึงเครื่องราชเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญอย่างเช่น พระขรรค์ชัยศรี ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ การรับพระขรรค์ชัยศรีจะรับในพิธี ถ้ามาแปลงอยู่ในบ้านเราคือราชาสูยะ หรือพิธีราชาภิเษกนี้เอง

เชื่อว่าคติของไทยที่เห็นร่องรอยของการรับพิธีกรรมนี้จากเขมร ต้องย้อนกลับไปดูศิลาจารึกหลักที่ 2 ของวัดศรีชุม ซึ่งพ่อขุนผาเมืองอภิเษก ใช้คำว่า “อภิเษก” พ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นเป็นกษัตริย์สุโขทัย นอกจากจะมีการอภิเษกซึ่งเป็นคำที่มีรากมาตั้งแต่ทางอินเดียแล้ว ครั้งนี้ไทยรับมาโดยผ่านทางเขมรเข้ามา มีการมอบพระขรรค์ชัยศรี ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่สำคัญ เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็ว่าได้ให้กับพ่อขุนบางกลางหาว เชื่อว่าโดยส่วนหนึ่งมีร่องรอยที่รับมาจากเขมร

ที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ไม่ว่าพระมหากษัตริย์ของไทยหรือพม่าก็ดี นอกจากมีการส่งผ่านวัฒนธรรมมาจากบ้านเมือง ซึ่งอาจมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่เก่าก่อนแล้ว ยังมีความพยายามที่จะสืบหาค้นคว้าความรู้หรือการพระราชพิธีให้ถูกต้องที่สุด ตรงนี้มีการรับมาจากตำราของอินเดียเลยทีเดียว มีหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลมาเป็นภาษาของตน มีหลักฐานแน่ชัดในสมัยของพระเจ้าปดุง หรือโบดอพญาของพม่า พระองค์จัดพระราชพิธีราชาภิเษกถึง 2 ครั้งเป็นปีติดกัน

ในการจัดพระราชพิธีราชาภิเษกนี้ พม่าจะเรียกว่ามุรธาภิเษก ซึ่งของไทยก็มีการสรงน้ำมุรธาภิเษกก่อนที่จะเสด็จเข้าไปในหมู่พระมหามณเฑียร แต่ของพม่ามีพระราชพิธีนี้ที่เล่าว่า การจัดการในพระราชพิธีนี้นำเอาจากตำราอินเดียมาเลย โดยมอบหมายให้พระภิกษุสงฆ์ที่มีความสามารถและรู้ภาษาสันสกฤตแปลออกมา

ความเปลี่ยนแปลงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีราชาภิเษกของเราที่เห็นมาตั้งแต่ในช่วงรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์จะมีพระราชนิยมที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถือเป็นปกติธรรมดาที่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตอนพระองค์สรงพระมุรธาภิเษกหันพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา ตามความเชื่อถ้าหันไปทางทิศนั้นถือว่าพระองค์ทรงประสงค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฏร์

ปกติแล้วพระมหากษัตริย์บางพระองค์หันพระพักตร์ไปทางทิศที่ตรงกับวันเกิดของพระองค์เพื่อความมั่นคงของราชบัลลังก์ แต่ถ้าหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกถือว่าให้ความสำคัญกับอาณาประชาราษฏร์เป็นหลัก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า พระองค์มีอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามาไม่น้อย เนื่องจากทรงเสด็จฯไปศึกษาในตะวันตก มีการแทรกธรรมเนียมตะวันตกเข้ามาในพระราชพิธีราชาภิเษก เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ต้นฉบับเป็นอย่างไรถือเป็นอีกอย่างหนึ่ง ส่วนเมื่อรับต้นฉบับมาแล้วเอามาดัดแปลงแก้ไขอย่างไร ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้อาจรู้ว่าในสมัยอยุธยาทรงกระทำอย่างนี้ แต่ในสมัยของพระองค์ก็ขึ้นกับความเหมาะสมของสถานการณ์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งราเชนทรยานเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่จากเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประทับพระราชยานที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2454

ในสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีการประกอบราชพิธีราชาภิเษกแบบสังเขป เพราะมีสงครามกับพม่าอยู่ จะมาจัดโดยละเอียดยาก หลังจากเสร็จสิ้นสงครามแล้วก็จัดพระราชพิธีราชาภิเษกแบบพิสดาร ในที่นี้หมายความว่าลงในรายละเอียดเลย ดังนี้เป็นต้น

โดยรวมแล้ว คติเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราช การแสดงออกหรือสำแดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์พระองค์เป็นจักรพรรดิ กระทำได้อย่างน้อยที่สุด 2 ประการด้วยกัน ประการสำคัญประการหนึ่งกระทำผ่านพิธีกรรม ในการกระทำผ่านพิธีกรรมอาจไม่ได้หมายความว่า และในทางปฏิบัติในโลกความเป็นจริง พระองค์แผ่พระราชอำนาจไปได้อย่างกว้างไกล กระทำพิธีกรรมซึ่งแสดงสัญลักษณ์ อย่างสรงน้ำมุรธาภิเษกเป็นต้น ในทางปฏิบัติ ถ้าพระองค์จะแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระองค์จะต้องใช้กองทัพ ใช้กำลัง ผ่านพระราชอำนาจไปยังอาณาบริเวณหรือปริมณฑลที่พระองค์เห็นว่าอยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์

ในทางคติความเชื่อ ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์ของไทยเอง หรือของบ้านเมืองใกล้เคียง เช่นกรณีพม่าจะอ้างพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่เป็นพระจักรวาทินและปกครองเฉพาะชมพูทวีป แต่ในการรับรู้และความเข้าใจรวมทั้งคัมภีร์ทางศาสนาต่างๆ ก็จะบอกว่าชมพูทวีปมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก เป็นไปไม่ได้ที่พระมหากษัตริย์พระองค์เดียวจะปกครองไปทั้งชมพูทวีป สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงเพราะพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์จะกำหนดปริมณฑลทางอำนาจของพระองค์ขึ้นมา

สิ่งนี้นักวิชาการจะเรียกว่า Mandala หรือ Ring of Power คือขอบเขตของพระราชอำนาจ อย่างเช่น พระมหากษัตริย์อยุธยาอาจนับประมาณว่าเชียงใหม่ เขมร เลยนครศรีธรรมราชลงมา หรือทวาย มะริด ตะนาวศรี ดังนี้เป็นต้น อยู่ในขอบเขตพระราชอำนาจ หรือ Mandala ของพระองค์ ถ้าพระองค์พิสูจน์ได้ว่าในปริมณฑลที่พระองค์อ้างความเป็นใหญ่นี้ พระองค์เป็นราชาที่เหนือราชาทั้งหลายจริงๆ พระมหากษัตริย์ใหญ่น้อยต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาที่ราชสำนักของพระองค์เป็นประจำ อาจทุกปี หรือ 3 ปี ก็ถือว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชได้

ติดตาม Podcast โดย ศิลปวัฒนธรรม ที่

Podbean
Soundcloud 
YouTube 

ติดตามเนื้อหาอื่นๆ ได้ที่

Facebook 
Twitter
Instagram