เผยแพร่ |
---|
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เข้าใจประวัติศาสตร์ รู้ทันอนาคต สนทนาศิลปะ-วัฒนธรรม กับ “ศิลปวัฒนธรรม Podcast” ใน Season แรก มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จำนวน 5 ตอน พบกันทุกวันจันทร์ เวลา 19.30 น. เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
ใน EP.4 ว่าด้วยเรื่อง “สถาปัตยกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดยผศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร
Index
0:33 สถาปัตยกรรมและพื้นที่ที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเบื้องต้น
3:55 พื้นที่ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
6:51 สถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
9:44 ความหมายของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
12:59 คติและรูปแบบของสถาปัตยกรรม
16:01 ความสำคัญของสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
มาร่วมหาคำตอบใน “ศิลปวัฒนธรรม Podcast” (คลิกฟัง Podcast EP1 เรื่องคติจักรพรรดิราช โดยศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
EP2 เรื่อง น้ำสรงพระมุรธาภิเษก โดยอ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
EP3 เรื่อง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ โดยรศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ)
สถาปัตยกรรมและพื้นที่ที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเบื้องต้น
การกล่าวถึงสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจำเป็นต้องกล่าวถึงพื้นที่ 2 แห่งคือ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และพระองค์ใช้พระที่นั่งนี้ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนที่จะถูกไฟไหม้ในรัชกาลเดียวกัน หลังจากนั้นจึงสร้างใหม่เป็นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพื้นที่เดียวกัน
อีกพื้นที่คือหมู่พระที่นั่งมหามณเฑียร อันเป็นอาคารหมู่ ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 องค์เรียงต่อกันจากตอนใต้ไปทางเหนือ คือพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางตอนใต้สุด ต่อเนื่องเป็นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยที่ตั้งทางเหนือสุด โดยความหมายและรูปแบบของพระที่นั่งทั้ง 3 องค์นี้สร้างขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หลังคาซ้อนชั้น มียกพื้น ลดระดับลดหลั่นตามลำดับ
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน ส่วนถัดขึ้นมาคือพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงสำราญพระราชอิริยาบถ และใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ รวมทั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ถัดมาทางทิศเหนือคือพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยซึ่งเป็นลักษณะท้องพระโรงมีอาคารตัดแกนทิศกันทางทิศตะวันออก-ตะวันตก และมีท้องพระโรงยื่นไปทางทิศเหนือสำหรับเป็นที่ออกว่าขุนนาง ออกว่ามหาสมาคมของพระมหากษัตริย์ พระที่นั่งทั้ง 3 องค์มีความหมายชัดเจน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัตนโกสินทร์มีหลักฐานตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมาว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงโปรดให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแบบโดยย่อ ประกอบขึ้นที่หมู่พระมหามณเฑียรเดิมที่สร้างด้วยไม้ เมื่อสร้างกรุงเสร็จ มีการสร้างพระมหาปราสาทสำคัญคือ พระที่นั่งอมรินทราภิเษก พระองค์โปรดให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งใหญ่ขึ้นที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษก และมีการขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรภายในเขตพระราชฐานชั้นในของพระที่นั่งอมรินทราภิเษก
ต่อมาพระที่นั่งอมรินทราภิเษกถูกไฟไหม้ พระองค์โปรดให้รื้อที่ชำรุดและสร้างเป็นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ช่วงปลายรัชกาลทรงโปรดให้มีการตั้งพระบรมศพของรัชกาลที่ 1 ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ดังนั้น ในการบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 2 จึงย้ายไปประกอบที่หมู่พระมหามณเฑียร และที่นี้เอง โดยเฉพาะพระที่นั่งไพศาลทักษิณจะเป็นที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์สืบเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 9
อาจสรุปได้ว่า พื้นที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์มี 2 พื้นที่คือ รัชกาลที่ 1 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษก ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่หมู่พระมหามณเฑียรโดยมีพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นพื้นที่สำคัญ
พื้นที่ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีมีข้อมูลละเอียดในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ขั้นตอนสำคัญเริ่มจากการเตรียมพื้นที่ในหมู่พระมหามณเฑียรเป็นหลัก โดยมีพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นพระที่นั่งสำคัญในการประกอบพระราชพิธี ความหมายของการประกอบพระราชพิธีฯในพระที่นั่งไพศาลทักษิณคือ ชื่อของพระที่นั่งนี้หมายถึงพื้นที่กว้างใหญ่ทางทิศใต้ ตามคติทางพุทธศาสนาหมายถึงชมพูทวีปซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ และเป็นที่ประทับของพระมหาจักรพรรดิราชซึ่งทรงปกครองพื้นที่ชมพูทวีป การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกภายในพื้นที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณจึงสะท้อนให้เห็นว่า ทรงดำรงสถานะเป็นพระมหาจักรพรรดิราชที่ประทับอยู่ในพื้นที่ชมพูทวีปทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ
การตั้งพระแท่นมณฑล การถวายพระสุพรรณบัฏ การถวายน้ำอภิเษก การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ รวมถึงเครื่องราชูปโภคต่างๆ กระทำขึ้นที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตามคติข้างต้น
ส่วนพิธีกรรมสำคัญอีกประการคือการสรงน้ำที่มณฑปพระกระยาสนานซึ่งใช้น้ำจากปัญจมหานทีของอินเดียตามคติของพราหมณ์ ถัดมาเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระมหากษัตริย์เสด็จฯออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเปรียบเสมือนพระองค์เป็นองค์พระอินทร์หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในเทพทั้งมวล และได้ออกมามหาสมาคมแก่เทวดาทั้งหลาย
หลังจากนั้นพระองค์จะเสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งชื่อนี้มีความหมายเป็นพระที่นั่งของพระมหาจักรพรรดิ ตามคติความเชื่อ เชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์เมื่อทรงรับราชสมบัติแต่ไม่ได้ผ่านกระบวนการบรมราชาภิเษกจะมิได้ทรงเสด็จมาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ดังนั้น เมื่อประกอบพิธีแล้วจึงเสด็จมาประทับยังที่ประทับของพระองค์ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีเสด็จมาประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แต่ในรัชกาล 6 เป็นต้นมา มีการเสด็จไปประทับพระที่นั่งองค์อื่นตามพระราชอัธยาศัยด้วย
สถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือสถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์และขุนนางภายในพื้นที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ อันประกอบด้วยพระที่นั่งสำคัญ 2 องค์ คือ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ชื่อนี้มีความหมายถึงพระที่นั่งอันมี 8 ทิศ และสร้างโดยไม้มะเดื่อ พระมหากษัตริย์จะเสด็จประทับที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ในทิศตะวันออกเป็นเบื้องแรก และรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์ หลังจากนั้นจะหันพระพักตร์ไปยังทิศต่างๆ เพื่อรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์หรือขุนนาง ในรัชกาลปัจจุบันทรงรับน้ำจากผู้แทนราษฎรจากทั้ง 8 ทิศจนครบ
การรับน้ำอภิเษกทั้ง 8 ทิศมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระจักรพรรดิราชที่มีอำนาจแผ่ไปทั้ง 8 ทิศของชมพูทวีป ส่วนการสร้างพระที่นั่งจากไม้มะเดื่อ ให้ความหมายสืบเนื่องจากในเอกสารกรุงศรีอยุธยาที่กล่าวว่า กษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาทรงสร้างพระแท่นจากไม้มะเดื่อเพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความหมายสืบเนื่องจากนั้น ตามคติของพราหมณ์แล้ว เชื่อกันว่าไม้มะเดื่อเป็นที่สถิตของพระตรีมูรติ เป็นตัวแทนของเทพเจ้าอันยิ่งใหญ่ 3 องค์สูงสุดของพราหมณ์รวมร่างกัน สื่อถึงพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นองค์อวตารของเทพสูงสุดทั้ง 3 องค์
บริเวณต่อมา หลังจากทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์และขุนนางแล้วจะเสด็จฯ ไปประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นบัลลังก์ที่เป็นมงคล ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์รวมทั้งเครื่องราชูปโภคต่างๆ ที่สำคัญคือทรงรับ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง
การที่เสด็จมารับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งภัทรบิฐเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการที่พระองค์บรรลุถึงการเป็นพระจักรพรรดิราชตามกระบวนการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
หลังจากนั้นเสด็จฯ ไปประทับที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษกฯ เพื่อออกมหาสมาคม
ความหมายของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
พระที่นั่งไพศาลทักษิณที่ใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำคัญทั้ง 2 ขั้นคือการรับน้ำอภิเษก และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ นอกจากชื่อของพระที่นั่งองค์นี้ซึ่งหมายความว่า พระมหากษัตริย์เป็นพระจักรพรรดิราชซึ่งเสด็จประทับทางตอนใต้ของเขาพระสุเมรุ ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณยังมีการประดับตกแต่งต่างๆ ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ความเป็นใหญ่หรือองค์เทพเจ้าตามคติศาสนาพราหมณ์ฮินดูประดับประดาอยู่ด้วย
จิตรกรรมฝาหนังของพระที่นั่งไพศาลทักษิณถูกวาดเป็นเรื่องราวที่สำคัญ เรื่องแรกคือประวัติของพระอินทร์ หรือที่เรียกว่าเรื่องมฆมาณพ เป็นเรื่องของชายซึ่งเกิดในตระกูลสูงได้ทำบุญต่างๆ ให้กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศาลา แผ้วถางทาง ชักชวนเพื่อนต่างๆ ร่วมกันทำให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวกสบาย เป็นกิริยาบุญสำคัญซึ่งทำให้มฆมาณพได้มาเกิดเป็นพระอินทร์ รวมทั้งเพื่อนทั้ง 32 คนก็เกิดเป็นเทวดาที่เป็นบริวารของพระอินทร์ สื่อถึงการบำเพ็ญเพียรในชาติที่แล้วทำให้กษัตริย์ซึ่งมาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีสถานะเทียบเท่ากับองค์พระอินทร์
ภาพจิตรกรรมฝาหนังอีกส่วนที่สำคัญของพระที่นั่งไพศาลทักษิณคือภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระอิศวร หรือพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ สะท้อนความเป็นเทพเจ้าอันสูงสุดขององค์พระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน เมื่อเสด็จฯ จากพระที่นั่งไพศาลทักษิณไปประทับที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษกจะเสด็จฯ โดยใช้พระทวารชื่อพระทวารเทวราชมเหศวร
ซึ่งวาดเป็นภาพของพระอิศวรปางดุร้าย ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาฮินดูที่ลงมารวมอยู่ในร่างพระมหากษัตริย์ที่เสด็จมาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเรียบร้อยแล้ว
หลังจากเสด็จออกมหาสมาคม ยังมีขั้นตอนที่สำคัญอีกประการคือการเฉลิมพระราชมณเฑียรซึ่งเสด็จไปประทับประกอบพระราชพิธีเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง การเฉลิมราชมณเฑียรเปรียบเทียบได้กับการขึ้นบ้านใหม่สำหรับประชาชนทั่วไป หากกษัตริย์พระองค์ใดมีพระราชประสงค์ประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานก็จะประทับต่อ หากมีพระประสงค์ประทับยังพื้นที่อื่นก็จะเสด็จไปประทับหลังจากที่ได้ทรงประทับแรมแล้ว 1-2 ราตรีเป็นพิธี
รูปแบบสถาปัตยกรรมและคติ
รูปแบบสถาปัตยกรรมสำหรับหมู่พระมหามณเฑียรมีการสร้างและซ่อมมาหลายสมัย เชื่อกันว่า สร้างครั้งแรกด้วยเครื่องไม้ในสมัยรัชกาลที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีซ่อมแซมดัดแปลงให้เป็นอาคารเครื่องก่อ แต่ยังคงลักษณะสำคัญคือการแบบลักษณะไทยประเพณีคืออาคารที่มีการประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาและหางหส์ และมีการซ้อนชั้นหลังคาที่สื่อถึงความเป็นอาคารเชิงอุดมคติและอาคารฐานันดรศักดิ์ตามความคิดแบบไทยประเพณีโบราณโดยที่อาคารเหล่านี้แม้จะสร้างเป็นอาคารเครื่องก่อ แต่มีการยกพื้น สร้างมุขทวาร เชื่อมต่อกันโดยหน้าที่ใช้งานเพื่อให้เสด็จต่อกันในพระที่นั่ง แนวคิดการสร้างหมู่พระมหามณเฑียรนั้น สร้างให้เป็นที่ประทับและออกว่าราชการขุนนางมหาสมาคมของพระมหากษัตริย์จึงถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกัน
ในแง่คติความหมายจะเห็นได้ว่าชื่อของพระที่นั่งแต่ละองค์ มีความหมายแสดงความเป็นพระจักรพรรดิราช และความหมายความเป็นเทพเจ้า ตั้งแต่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีความหมายเป็นที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ คำว่าวิมานแปลว่า เรือนที่ลอยได้ เป็นเรือนของเทวดา เพราะฉะนั้น ที่ประทับของพระจักรพรรดิราชในที่นี้คือเป็นที่ประทับของเทพเจ้าในตัว
ความพิเศษของสภาปัตยกรรมเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำหรับคนทั่วไปคงมองเห็นว่าพื้นที่ซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพื้นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ของหมู่พระมหามณเฑียรเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพระจักรพรรดิราช และความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่เรื่องกรรมวิธีการก่อสร้าง ชื่อ และพื้นที่ที่ใช้ จุดนี้อยากให้สังเกตว่าขณะที่พระมหากษัตริย์เสด็จไปประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแต่ละจุดภายในพื้นที่ต่างๆ ก็มีความหมายที่ส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์ค่อยๆ แปรสภาพเป็นเทพเจ้าจากสัญลักษณ์ต่างๆ
ความสำคัญของสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กล่าวได้ว่า พื้นที่หมู่พระมหามณเฑียรเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดในการเสด็จมาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าชื่อของพระที่นั่งองค์นี้หมายถึงที่ประทับของพระมหาจักรพรรดิราช งานประดับตกแต่งสื่อถึงพระมหากษัตริย์ที่เป็นองค์อวตารของเทพเจ้าที่สำคัญในศาสนาฮินดู คือพระอิศวรและพระอินทร์เป็นสำคัญ
ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีความหมายเชิงศาสนาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรียกของพระที่นั่ง วัสดุอุปกรณ์ เช่น ไม้มะเดื่อที่ใช้ประกอบสร้างพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ชื่อพระที่นั่งภัทรบิศที่แปลว่าบัลลังก์ที่เป็นมงคล การรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่แสดงถึงความเป็นเครื่องยศของพระมหากษัตริย์ การรับพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ก็กระทำที่พระที่นั่งแห่งนี้ ดังนั้น หมู่พระมหามณเฑียรภายในพระบรมมหาราชวังนี้จึงเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของการประทับอยู่ และการดำรงขึ้นครองราชสมบัติในพระบรมราชจักรีวงศ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน