ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“พิมพ์ประไพ-สมฤทธิ์” สืบราก “คนไทยเชื้อสายจีน” กลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลในไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
คนไทยเชื้อสายจีน เป็นอีกกลุ่มที่สำคัญและมีมากในสังคมไทย บางคนก็ทราบถึงบรรพบุรุษ แต่บางคนก็อาจไม่รู้ว่าต้นตระกูลของตนเองเป็นใคร แล้วเมื่อไหร่ที่คนจีนเหล่านั้นอพยพเข้ามาในไทย? เริ่มเกี่ยวพันและเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยตั้งแต่ตอนไหน?
ทั้งหมดนี้หาคำตอบได้บนเวที “Author’s Salon สายสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้นอดีตสู่ปัจจุบัน” กับ “พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร” หนึ่งในเจ้าของผลงาน “ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม” ที่มาร่วมแชร์ความรู้ พูดคุยกับ “สมฤทธิ์ ลือชัย” ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอุษาคเนย์ศึกษา ผ่านหนังสือ “ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese” ซึ่งจัดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

บรรยากาศวันนี้คับคั่งด้วยผู้สนใจประวัติศาสตร์จีนในไทย อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, รศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล, อ. วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, สมชาย จิว, ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ. ปานชีวา บุตราช, ปริวัฒน์ จันทร, ธีรภัทร เจริญสุข ฯลฯ มาร่วมรับฟัง โดยมี ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ เครือมติชน ให้การต้อนรับ
📍 จุดเริ่มต้นหนังสือทรงคุณค่าที่มาจากความรักและโชคชะตา
เริ่มต้นทอล์กด้วยการพูดถึงที่มาของหนังสือ 3 เล่มสำคัญของเวทีนี้ ที่จะพาทุกคนไปตะลุยรู้ลึกเรื่องคนจีนที่เชื่อมโยงกับสังคมไทยอย่าง “ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese” เขียนโดย เจฟฟรี ซุน และ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร
พิมพ์ประไพ หนึ่งในเจ้าของผลงานบอกว่า หนังสือเล่มนี้เหมือนกับเลิฟ สตอรี เพราะเกิดขึ้นมาจาก “ความรัก” และ “โชคชะตา” เนื่องจากที่บ้านให้เลือกเรียนมหาวิทยาลัยใดก็ได้ในต่างประเทศ เมื่อเห็นชื่อ “มหาวิทยาลัยคอร์เนล” ที่สหรัฐอเมริกา ก็ทราบทันทีว่าจะต้องเรียนที่นี่ให้ได้ เนื่องจากรู้สึกใช่
เมื่อได้เข้าไปเรียนก็ได้รู้จักนักศึกษาไทยหลายคน รวมทั้งได้รู้จักปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของไทย เช่น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ได้ฉายาว่า “เจ้าพ่อคอร์เนล”รวมทั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แถมสุข นุ่มนนท์, ศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นต้น หลังจากนั้นก็เริ่มได้รู้จักและเข้าใกล้กับประวัติศาสตร์มากขึ้นจนเริ่มหลงรักและศรัทธาในประวัติศาสตร์ แม้ว่าตอนนั้นตนเองกำลังเรียนด้านคณิตศาสตร์อยู่ก็ตาม
จนวันหนึ่งได้เจอกับผู้ชายคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัย นั่นคือ “เจฟฟรี ซุน” ผู้เขียนหนังสือ 3 เล่มนี้อีกท่านหนึ่ง ซึ่งมาชวนไปกินกาแฟด้วยกัน จากนั้นก็พัฒนาความสัมพันธ์จนแต่งงาน เมื่อใช้ชีวิตด้วยกันก็ได้เห็นและอ่านข้อมูลอะไรหลายอย่างด้านประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดข้อสงสัย เช่น เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่มีแม่ทัพจีน 2 คนช่วยรบทัพที่ค่ายโพธิ์สามต้น นั่นคือ พระยาพิพิธและพระยาพิชัย สาเหตุที่ต้องมี 2 คน เป็นเพราะคนหนึ่งเป็นกองจีนแต้จิ๋ว อีกคนหนึ่งเป็นกองจีนฮกเกี้ยน
ความสงสัยใคร่รู้ในมิติประวัติศาสตร์ ทำให้พิมพ์ประไพตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นคู่กับสามี และบอกว่า “ถ้าไม่เจอสามี ก็คงไม่มีทางเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา”
📍 คนจีนมาที่อ่าวไทยก่อนคนไทย บรรพบุรุษจีนมาจากไหน?
หลังจากฟังแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหนังสือทรงคุณค่านี้แล้ว “สมฤทธิ์ ลือชัย” ผู้ดำเนินรายการของเวทีนี้ยิงคำถามนี้ขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนก็ให้คำตอบว่า คงต้องย้อนไปดูที่จดหมายเหตุวันวลิต บันทึกเรื่องราวในสมัยอยุธยา จะเห็นว่าคนอยุธยาเคยเล่าว่าคนจีนนี่แหละคือบรรพบุรุษของคนไทย สะท้อนได้ว่าคนในอยุธยาไม่เคยรังเกียจคนจีน
พิมพ์ประไพ เล่าต่อว่า ถ้าให้พูดว่าลูกหลานจีนในไทยเชื่อว่าตนเองเป็นแต้จิ๋วก็ผิด เพราะถ้าให้อธิบายถึงบรรพบุรุษจีนของคนไทยตอนนี้ ก็สามารถเชื่อมโยงกับซีรีส์ดังใน Netflix เรื่อง “พรห้าประการ” ได้เช่นกัน จะเห็นว่าเรื่องนี้อยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ย้อนไปสมัยนั้น ราชวงศ์ซ่งเป็นราชวงศ์เดียวที่ไม่ต้องถวายบรรณาการ เพราะต้องการเปิดทางให้พ่อค้าจีนเดินทางออกทะเล เพื่อตั้งตัวทำมาหากิน พอเอาสินค้ากลับเมืองจีนก็เก็บภาษีได้เยอะมาก และภาษีก็บำรุงกองทัพซ่งใต้

“ขณะเดียวกันเราก็พบเครื่องถ้วยสมัยซ่งเยอะมากที่ประเทศไทย แถบราชบุรี ท่าจีน อยุธยาเหนือนครสวรรค์และลพบุรีขึ้นไป เนื่องจากพ่อค้าจีนเอาออกมาขายเยอะ ซึ่งถิ่นความเจริญ เมืองท่าในช่วงนั้นก็อยู่แถบเจียงหนาน ฉวนโจว ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง คนพวกนี้แหละคือคนจีนในประเทศไทยที่เข้ามาในสมัยซ่งของจีน ส่วนแต้จิ๋วในตอนนั้นยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เพาะปลูกอยู่เลย” พิมพ์ประไพ เล่า
เรื่องนี้ อ. สมฤทธิ์ ก็เสริมขึ้นมาให้คนที่ได้ฟังเข้าใจง่ายขึ้นว่า เจียงหนานก็คือจีนทางตอนใต้ จีนเขาจะเรียกจีนภาคใต้ว่าเจียงหนาน แถวปากแม่น้ำแยงซีเกียง ที่จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จที่เจียงหนาน ก็คือที่นี่นั่นเอง ขณะที่พิมพ์ประไพก็เสริมว่า ที่จริงแล้วคนจีนเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นแล้วด้วยซ้ำ จากหลักฐานเครื่องถ้วยของฮั่นในสุราษฎร์ธานี
📍คนจีนสู่ผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยในอดีต
หลังจากพูดถึงการเข้ามาของคนจีนในไทยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องพูดถึงพัฒนาการของคนจีนที่ต่อมาเป็นผู้มีบทบาทในเมืองไทย ซึ่งมีคนจีนหลายคนที่ทรงอิทธิพลมาก ประเด็นนี้พิมพ์ประไพเล่าว่า อย่างสมัยก่อน สยามจะมีเมืองแยกกันไป สุโขทัยก็เมืองหนึ่ง อยุธยาก็เมืองหนึ่ง สงขลาก็เมืองหนึ่ง มีเจ้าปกครองเมืองเป็นของตนเอง
อย่างสงขลา ก็มีผู้ปกครองเมืองเป็นคนจีน นามสกุลอู๋ครองเมืองสงขลาถึง 8 คน ก่อนพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียอีก มีอำนาจและมีกองทัพของตนเอง หรือตระกูล ณ ระนอง พวกนี้เป็นจีนฮกเกี้ยน ในหนังสือเขียนถึงคนกลุ่มนี้ไว้เลยว่าเป็น “ฮกเกี้ยนราชา” แต่เมื่อเข้าสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปการปกครอง เจ้าเมืองจึงค่อย ๆ หายไป

เรื่องสงขลานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ก็เห็นด้วยอย่างมาก และบอกว่าสงขลานี้มีฉายาว่า “สร้างด้วยแขก เจริญด้วยจีน และเป็นของไทย”
📍 คนจีนผู้ทรงอิทธิพลในไทยยุคใกล้
แม้เวลาจะผ่านไปคนจีนก็ไม่เคยจางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะมีคนจีนกลุ่มใหม่ ๆ ที่พร้อมขึ้นมามีอำนาจอยู่เสมอ แม้จะอยู่ในช่วงยุคใกล้หรือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม ช่วงนี้คนจีนยังมีอำนาจและบทบาทในการเมืองไทยอย่างมาก
คนจีนหนึ่งคนที่ทำให้เจ้าของผลงานที่ขึ้นเวทีวันนี้ตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นคนจีนที่มีบทบาทสำคัญเรื่องการเมืองในตอนนั้นด้วย นั่นคือคุณตาของพิมพ์ประไพ คือ “ตันซิวเม้ง หวั่งหลี” อดีตนายกสมาคมการค้าจีนเซียงหวย ที่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) ไม่มีใครอยากขึ้นเป็นประธานเซียงหวย คุณตาจึงขึ้นเป็นประธานแทน
ต่อมาจีนต้องการมีความสัมพันธ์การทูตกับไทยอีกครั้ง หลังสิ้นไปในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะไม่งั้นจะไม่อนุญาตให้สินค้าไทยเข้าจีน จึงตั้งให้ “ตันซิวเม้ง หวั่งหลี” ขึ้นเป็นทูตการค้าในตอนนั้น
เจ้าของผลงานจีนกรุงสยามเล่าต่อว่า จนเข้าสู่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกไทยสำเร็จ ทำให้ความสัมพันธ์จีนกับไทยไม่ดี ตอนนั้นไม่มีใครอยากขึ้นเป็นทูตพาณิชย์จีนประจำประเทศไทย คนจีนหลายคนก็หนีไปอยู่ในพื้นที่อื่น ทำให้คุณตาต้องขึ้นมาเป็นประธานเซียงหวยในช่วงญี่ปุ่นบุก แต่ก็ต้องพยายามไม่ออกจากบ้านเพราะความวุ่นวายในหมู่คนจีนช่วงญี่ปุ่นเข้ามา

พอจบสงคราม นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นก็เรียกเข้าพบ เนื่องจากญี่ปุ่นแพ้ อังกฤษกำลังจะมา และต้องการคนที่รู้จักเจียงไคเช็ก นั่นก็คือคุณตา ทว่าระหว่างเดินทางกลับ ท่านก็เสียชีวิตด้วยเหตุลอบยิง เนื่องจากฝ่ายที่หมายชีวิตคุณตาไม่พอใจที่คนจีนไปสมยอมรัฐบาลญี่ปุ่นและไทย
ได้ฟังจบ อ. สมฤทธิ์ก็ยกตัวอย่างบุคคลสำคัญที่เหมือนภาพตรงข้ามที่ทำให้เห็นภาพเรื่องราวนี้ชัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือ “เหียกวงเอี่ยม” คนไทยเชื้อสายจีนที่ต่อต้านฝ่ายอักษะ ที่สุดท้ายแล้วก็จบชีวิตเช่นเดียวกันว่า…
“คุณตาของพี่อ้อย (พิมพ์ประไพ) เข้ากับรัฐบาลไทย เข้ากับญี่ปุ่น ก็เลยถูกสังหาร ตรงข้ามกับเหียกวงเอี่ยมที่แม้จะต่อต้านญี่ปุ่นก็ถูกสังหาร เห็นไหมว่าบทบาทคนจีนไม่ใช่แค่เรื่องการค้า ผมคิดว่าการเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เอาเข้าจริง ๆ บทบาทคนจีนสูงมาก ๆ เลย”
พิมพ์ประไพและ อ. สมฤทธิ์ ยังพูดถึงเรื่องราวของจีนตระกูลใหญ่ ๆ ในสังคมไทยมากมาย ซึ่งมีเรื่องราวเส้นทางชีวิตสุดทรหดกว่าแต่ละคนจะมีวันนี้ เช่น เจ้าสัวเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ผู้บุกเบิกธุรกิจกระจกไทยอาซาฮี รวมถึงเล่าเรื่องราวของ “อั้งยี่” หรือแรงงานจีน ที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองไทยอย่างมาก เพราะถ้าไม่มีพวกเขาก็จะไม่มีอาคาร รถไฟ หรือความสะดวกสบายต่าง ๆ ของไทย

ก่อนเวทีจะจบลง ก็ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พูดถึงความประทับใจในหนังสือเล่มนี้สั้น ๆ
อ. ชาญวิทย์ กล่าวว่า ประทับใจความรู้ของผู้เขียนอย่างมาก ทำให้เรื่องที่เกี่ยวกับจีนมีนัยสำคัญ มีภาพที่ชัดเจน เพราะสามารถแยกได้ละเอียด และจาก love story ในตอนต้นก็กลายมาเป็น academic story
“ขอแสดงความยินดีกับสำนักพิมพ์มติชน โดยเฉพาะคุณปานบัว บุนปาน ที่เห็นคุณค่างานด้านจีน นำหนังสือของวิลเลียม จี. สกินเนอร์ เรื่อง ‘สังคมจีนในประเทศไทย’ มาแปล รวมถึง ‘จิ้มก้องและกำไร’ โดย อ. สารสิน วีระผล เล่ม ‘การค้าสำเภาทางเรือจีน-สยาม’ ของเจนนิเฟอร์ คุชแมน ซึ่งเป็นเพื่อนรักของผม และเล่มล่าสุดคือผลงานของคุณพิมพ์ประไพชุดนี้ ส่วนเล่มที่อยากเสนอ คือ เล่มของ อ. สืบแสง พรหมบุญ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ที่วิสคอนซิน”
เป็นอันจบเวทียามบ่าย “Author’s Salon สายสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้นอดีตสู่ปัจจุบัน” ที่ครบรสเรื่องจีน ๆ ใครอยากฟังเรื่องราวเพิ่มเติมติดตามได้ในไลฟ์ และใครที่คิดว่าฟังไลฟ์แล้วยังไม่จุใจ ตามต่อได้ที่หนังสือ ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese (สำนักพิมพ์มติชน) ได้เลย!
อ่านเพิ่มเติม :
- จุดเปลี่ยนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ยุคนายทุนจีนมีอิทธิพลในภาคการเงินไทยแทนฝรั่ง
- ทำไม “ญี่ปุ่น” ไม่ยึดไทยเป็นเมืองขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2
- พิธีกรรมรวมใจของสมาคมลับ “อั้งยี่” ฉบับจีนแท้ ก่อนเกิดขึ้นในไทย พวกเขาคือซ่องโจร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2568