พิธีกรรมรวมใจของสมาคมลับ “อั้งยี่” ฉบับจีนแท้ ก่อนเกิดขึ้นในไทย พวกเขาคือซ่องโจร?

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องริมน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ในเครือมติชน จัด สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “อั้งยี่ : ‘จีนเทา’ ในไทยสมัยแรก” วิทยากรโดย ผศ. ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ และ สมชาย แซ่จิว มี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา มีการกล่าวถึง “สมาคมลับ” ของชาวจีนซึ่งเชื่อว่าเป็น “ต้นแบบ” ของ “อั้งยี่” ในไทย หรือที่คนไทยมักเรียกติดปากกันว่า “อั้งยี่ซ่องโจร”

ผู้ดำเนินการเสวนาเริ่มจากขอคำอธิบายของคำว่า “อั้งยี่” ว่าคืออะไร มีที่มาอย่างไร ซึ่งวิทยากรทั้งสองท่านยืนยันว่าคำว่า อั้งยี่ ในไทยนั้นยังมีความคลุมเครือเรื่องความหมายและที่มา ทราบเพียงเป็นคำที่ของทางการไทยใช้เรียกกลุ่มชาวจีนที่รวมตัวกันเป็นสมาคมนอกกฎหมาย โดยเป็นคำที่มีความหมาย “เชิงลบ” เพราะมีการบัญญัติคำ “อั้งยี่ซ่องโจร” ในกฎหมายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และปัจจุบันยังปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ที่ระบุลักษณะและกำหนดระวางโทษอย่างชัดเจนด้วย

ผศ. ดร. กรพนัช อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ให้ข้อมูลว่า ในประเทศจีนมีวรรณกรรมและงานศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการรวมตัวหรือรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสมาคมคล้าย “อั้งยี่” โดยเป็นกลุ่มคนที่รวบรวมสมัครพรรคพวก มีเป้าหมายเพื่อการต่อต้านการกดขี่จากทางการจีนในสมัยราชวงศ์ชิง เริ่มจากการรวมตัวของประชาชนในภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงหรือภูเขา ชื่อว่าสมาคม “หงเหมิน” หรือพรรคฟ้าดิน ทั้งมีส่วนเชื่อมโยงกับราชวงศ์หมิงของชาวจีนฮั่น

อั้งยี่ในจีนดังกล่าว จึงมีอุดมการณ์หลัก ๆ  2 ประการ คือ รวมพลังเพื่อต่อต้านผู้ปกครองต่างชาติอย่างราชวงศ์ชิงที่เป็นชาว “แมนจู” และเพื่อต่อต้านการกดขี่ข่มเหงโดยรัฐหรือทางการ ทั้งนี้ ผศ.ดร. กรพนัช ลงความเห็นว่า จุดมุ่งหมายหลักของสมาคมลับนี้คือเพื่อต่อต้านการข่มเหงจากทางการมากกว่าประเด็นทางชาติพันธุ์

การมีอยู่ของสมาคมลับเหล่านี้ในสมัยราชวงศ์ชิงยังถูกนักปฏิวัติจีนอย่าง “ซุน ยัตเซ็น” ใช้ประโยชน์ในการต่อต้านและโค่นล้มราชวงศ์ชิงด้วย โดยพยายามดึงอุดมการณ์และพลังจากสมาคมลับ อ้างอิงวรรณกรรมที่บอกเล่าเกี่ยวกับพรรคฟ้าดิน อั้งยี่เวอร์ชั่นดั้งเดิมของจีนจึงเป็นกำลังสำคัญหนึ่งในยุคเปลี่ยนผ่านของจีนจากระบอบราชาธิปไตยสู่ระบอบสาธารณรัฐ

อีกความน่าสนใจของการรวมตัวเป็นสมาคมลับ คือต้องผ่านพิธีกรรมเพื่อหลอมรวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกสมาคมทั้งหลาย ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้อ่านวรรณกรรม “สามก๊ก” คงคุ้นเคยกันดี นั่นคือ พิธีร่วมสาบาน เพื่อให้เกิดการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนเป็นครอบครัว พี่-น้องร่วมกัน สร้างความแข็งแกร่งและขยายอำนาจรูปแบบหนึ่งของสมาคม

ประเด็นนี้ คุณสมชาย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน อธิบายเสริมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พิธีการนี้ทำให้สมาชิกสมาคมลับ “ตายแล้วเกิดใหม่” คือเกิดมาเป็นพี่น้อง มีการกรีดเลือด-ดื่มเลือดร่วมสาบาน เหมือน “การสาบานในสวนท้อ” ของเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ในวรรณกรรมสามก๊ก การกรีดเลือดอยู่ในวัฒนธรรมจีนมานานแล้ว จึงมีคำว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ” ซึ่งที่จริง เลือดในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเลือดคนร่วมพิธี อาจเป็นสัตว์ก็ได้ (ส่วนใหญ่เป็นเลือดไก่)

ผศ.ดร. กรพนัช ย้ำว่าตัวสมาคมลับมีจุดหมายเพื่อต่อต้านทางการที่กดขี่ ก่อนดูดซับเอาคำขวัญ-อุดมการณ์ ในภายหลัง รวมถึงความขัดแข้งทางชาติพันธ์ุของชาวฮั่นกับแมนจู (ราชวงศ์ชิง) เป็นผลจากความขัดแย้งทางสังคมมากกว่าชาติพันธุ์ เพราะเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องต่อสู้ให้ได้รับความเป็นธรรม นักปฏิวัติจีนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมและต้องใช้พลังจากสมาคมจึง “วิ่งเข้าหา” กลุ่มเหล่านี้

แต่หลังการปฏิวัติสำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างคณะปฏิวัติกับสมาคมลับก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะสมาคมลับมีความเป็นจารีตสูง และรัฐใหม่ไม่สัมพันธ์กับระบบเหล่านี้ ภายหลังจึงมักถูกใส่ความว่า อาชญากรรมทุกอย่างมาจากสมาคมลับ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะสมาคมลับอาจเป็นสาเหตุบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ในขณะที่การรวมตัวของสมาคมชาวจีนในไทยนั้น คุณสมชายอธิบายว่า ระยะแรกของสมาคมลับชาวจีนเหล่านี้ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยคำว่า “ตั้วเหี่ย” ส่วนคำว่า อั้งยี่ มีขึ้นในภายหลัง คือช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนสาเหตุของการก่อตั้งก็คล้ายคลึงกับของฝั่งจีน คือ ไม่ได้รวมตัวเพื่อมาเป็น “โจร” หรือก่อการที่เป็นภัยต่อรัฐ แต่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกพ้อง ไม่ให้อำนาจรัฐเอารัดเอาเปรียบ สมาคมรูปแบบดังกล่าวปรากฏอยู่ทั่วทุกพื้นที่ที่มีชุมชนชาวจีน และสรุปว่า “ที่ไหนมีกุลีจีน ที่นั่นมีสมาคมลับ”

คุณสมชายยังขยายความเรื่องของจีน ตั้วเหี่ย ในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่าก่อการหรือสร้างความวุ่นวายใดบ้างตามพื้นที่หัวเมืองต่าง ๆ และอั้งยี่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นสมาคมที่ต่อต้านอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย จนเป็นที่มาของคำว่า “อั้งยี่ซ่องโจร” รวมถึงกล่าวถึงบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นอั้งยี่ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีลักษณะของการเป็น “ซ่องโจร” แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566