จุดเปลี่ยนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ยุคนายทุนจีนมีอิทธิพลในภาคการเงินไทยแทนฝรั่ง

(ขวา) พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยาการ เสด็จมาเปิดธนาครกรุงเทพ สำนักงานใหญ่พลับพลาไชย, (ซ้าย) นายห้างชิน โสภณพนิช

ปฏิเสธได้ยากว่านายทุน(เชื้อสาย)จีน เข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก จากการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในอดีต ผู้ศึกษาข้อมูลพบจุดเปลี่ยนที่นำมาสู่การเข้ามาของ “นายทุนจีน” แทนที่นายทุนฝรั่ง ส่วนหนึ่งมาจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

บทความเรื่อง “การ ‘ปรับตัว’ ของ ‘นายทุนจีน’ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในทศวรรษ 2490” โดย ณัฏฐพงษ์ เลี่ยววิวัฒน์อุทัย เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2551 อธิบายไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการออนไลน์)


“…สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำให้ ‘ทุนยุโรป’ ที่เคยมีอิทธิพลสูงในวงธุรกิจการเงินต้องปิดกิจการไปจึงเกิดช่องว่างในธุรกิจด้านนี้ขึ้น คอมประโดร์และเสมียนพนักงานที่เคยทำงานในสำนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศจึงพยายามจะตั้งธนาคารของตัวเองขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของบริษัทในกลุ่มตนเอง เช่น นายลิ้ม ธรรมจารีย์ คอมประโดร์เก่าของธนาตารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้จัดการของธนาคารไทย จำกัด เป็นต้น

การประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะแรก ภายหลังสงครามเลิกใหม่ๆ ยังมิได้เข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจเท่าไรนัก กิจกรรมหลักมักได้แก่การให้บริการแก่ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและนำเข้า นอกจากนั้นกิจการส่วนใหญ่ของธนาคารยังมุ่งไปในทางช่วยเหลือ ‘กลุ่มการค้า’ ในวงแคบๆ ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีเครือข่ายการค้าด้วยกันอยู่แล้ว เช่น ธนาคารหวั่งหลี ที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนธุรกิจการค้าของตระกูลหวั่งหลีเป็นหลัก เป็นต้น

ธนาคารกรุงเทพ ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางเปลวไฟของสงคราม จากการริเริ่มของกลุ่มขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าคหบดีและอดีตพนักงานธนาคารสยามกัมมาจล กลุ่มคนเหล่านี้ได้ชักชวนกันเข้ามาร่วมหุ้นก่อตั้งธนาคารกรุงเทพเมื่อปลายปี 2487 ก่อนสงครามจะสงบราว 1 ปี ทั้งคณะผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการชุดแรกของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ล้วนประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี และได้รับความเชื่อถือในวงสังคมเวลานั้น

นับตั้งแต่ประธานกรรมการธนาคาร คือ พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) อดีตข้าราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยร่วมงานที่ธนาคารสยามกัมมาจลมาก่อน หลวงรอบรู้กิจ (นายทองดี ลีลานุช) ข้าราชการกรมรถไฟหลวงหรือการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกี่บัญชีและเคยรักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ผู้ได้ลาออกจากงานก่อนที่จะเกษียณ เพื่อร่วมคิดร่วมตั้งธนาคารกรุงเทพขึ้น หลวงบรรณกรโกวิท (นายเปา จักกะพาก) อดีตนายช่างใหญ่กรมไปรษณีย์โทรเลข นายสวัสดิ์ โสตถิทัต อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายถวิล มีสมกลิ่น ผู้จัดการบริษัทข้าวไทยทวีผล นายห้างชิน โสภณพนิช นักธุรกิจที่ต้องการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่ออำนวยประโยชน์ในการทำธุรกิจให้กับพ่อค้าในประเทศไทย

แม้ว่าสงครามเกาหลีได้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์ภาวะเศรษฐกิจและการธนาคารของประเทศไทยเพราะภาวะสงครามเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความต้องการสินค้าออกต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่คณะกรรมการชุดแรกของธนาคารภายใต้การนำของหลวงรอบรู้กิจไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับธนาคารได้ตามมุ่งหวัง ความตั้งใจที่จะให้ธนาคารสามารถให้บริการแก่ตลาดในประเทศเหมือนอย่างที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศกระทำกับลูกค้าของตน ก็สัมฤทธิผลดีในระดับหนึ่งเท่านั้น

ทั้งนี้เพราะผู้บริหารของธนาคารบางคนไม่ได้ยึดมั่นอยู่กับนโยบายนี้เสมอไป ผู้บริหารกลุ่มหนึ่งมีความคิดว่า ถ้าเอาเงินที่ลูกค้านำมาฝากไปลงทุนในธุรกิจที่ดินที่กำลังรุ่งเรืองในช่วงหลังสงครามน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าเพราะอย่างน้อยก็จะมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มที่ จึงได้มีการนำเงินฝากส่วนหนึ่งของธนาคารไปลงทุนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว คือ ซื้อที่ดินแถวพระโขนงกักตุนไว้มากเกินไปจนทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเงินฝากกับเงินปล่อยกู้ และกลายเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาด เนื่องจากไม่สามารถขายที่ดินนั้นได้ ธนาคารกรุงเทพจึงประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหรือขาดแคลนทุนหมุนเวียน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2494 ถึงต้นปี 2495 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารชุดใหม่

ปรากฏว่า นายชิน โสภณพนิช ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อมา ซึ่งภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการชุดใหม่นี้ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนสะท้อนภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี…


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “การ ‘ปรับตัว’ ของ ‘นายทุนจีน’ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในทศวรรษ 2490” เขียนโดย ณัฏฐพงษ์ เลี่ยววิวัฒน์อุทัย เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2551


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2561