
ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เมาธ์ประวัติศาสตร์จากละคร “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” พูดคุยสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ครั้งแรก! กับ “อ. ธงทอง” ทายาทแม่แฟง และ “ป้าแจ๋ว” ผู้กำกับละคร
ละครที่มาแรงสุดๆ ช่วงนี้ ต้องยกให้ “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ละครพีเรียดชื่อดังทางช่อง 3 และสตรีมทาง Netflix ที่พาผู้ชมย้อนอดีตไปดูโชคชะตาชีวิตของนางคณิกาในแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ (รัชกาลที่ 3) ยุคสมัยที่สยามเปิดการค้าเสรีกับอังกฤษ และเกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งด้วยการเล่าเรื่องที่ละมุนกลมกล่อม แฝงด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์สนุกๆ ทำให้ละครคุณพี่เจ้าขาฯ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
ในงาน “Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ” จัดโดย สำนักพิมพ์มติชน และหน่วยงานพันธมิตร จึงจัดกิจกรรม “Book Talk: กอสซิปประวัติศาสตร์ คุณพี่เจ้าขา…ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ขึ้น เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2568 ในบรรยากาศแดดร่มลมตก ที่มิวเซียมสยาม
เชื้อเชิญ ศ. พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ทายาทยายแฟง และ “ป้าแจ๋ว” ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ ผู้กำกับละครเรื่องนี้ รวมทั้งเหล่านักแสดง นำโดย จอย-รินลณี ศรีเพ็ญ ผู้รับบท “แม่แฟง”, ธัชทร ทรัพย์อนันต์ “พ่อเผือก” ในเรื่อง และ อภัสสรา สนแสบ รับบท “นกน้อย” มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึงละครแบบออกรสออกชาติ โดยมี ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ ดำเนินรายการ
เผยเบื้องลึกเบื้องหลัง เรื่องราวสุดน่าสนใจต่างๆ พร้อมเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในละครแบบหมดเปลือก!

-
ก่อนจะมาเป็น “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์”
ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มด้วยการให้ “ป้าแจ๋ว” ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ ผู้กำกับละครและผู้จัดละครเล่าถึงที่มาของละครเรื่องนี้ ซึ่งป้าแจ๋วเผยว่า ชอบดูละครพีเรียด อยากทำละครพีเรียด และชอบอ่านนิยายพีเรียดอยู่แล้ว รวมถึงชอบเรื่องราวสมัยรัชกาลที่ 3-5 แต่ปัญหาคือหลายๆ เรื่องที่อยู่ในความสนใจก็ถูกสร้างไปแล้ว
กระทั่งได้อ่านหนังสือ “คุณพี่เจ้าขา…ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” แล้วพบว่ามีเนื้อหาสนุกสนาน น่าสนใจ โดยเฉพาะชะตากรรมของนางเอกที่โดดเด่นและแตกต่างกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะย้อนเวลากลับไปเป็น “นางคณิกา” จึงอยากเอามาทำละคร เกิดเป็นละครเรื่องนี้ขึ้นมานั่นเอง
-
ว่าด้วยนางคณิกาและสกุลรุนชาติของ “แม่แฟง”
ป้าแจ๋วชี้ว่า นางคณิกาในประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจากเชลยสงคราม ผู้หญิงที่ไม่มีช่องทางทำมาหากินจึงต้อง “ขาย” และกลายเป็นโสเภณี ซึ่งโรงคณิกาของ “แม่แฟง” เป็นหนึ่งในโรงคณิกาที่ดีที่สุดช่วงระหว่างรัชกาลที่ 3-4
ด้าน ศ. พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และลูกหลานสายตรงของยายแฟง เสริมด้วยว่า อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ และเป็นอาชีพที่มีหลายระดับมาแต่โบราณแล้ว
ก่อนจะไล่ “พงศาวลี” ผังตระกูลตั้งแต่รุ่นแม่แฟงมาเรื่อยๆ จนเผยให้เรารู้ว่า บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในละครผู้นี้เป็น “ทวดของทวด” ของท่านจริงๆ

-
เผยหมดเปลือก! คนละครเล่าประสบการณ์
ในการพูดคุย ป้าแจ๋วได้เล่าถึงความยากง่ายต่างๆ ในการทำละครเรื่องนี้ให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด รวมถึงนักแสดง 3 ท่านที่มาร่วมพูดคุยในวันนี้ ได้แก่ จอย-รินลณี ศรีเพ็ญ, ธัชทร ทรัพย์อนันต์ และอภัสสรา สนแสบ ก็ร่วมเล่าประสบการณ์ เผยแง่มุมต่าง ๆ ของตัวละครในบทบาทที่ตนแสดง รวมถึงในมิติทางประวัติศาสตร์ผ่านตัวละครของตนด้วย


-
“บ้านการบุญ” ที่ตั้งบ้านแม่แฟง?
อาจารย์ธงทองยังเล่าถึง “บ้านการบุญ” บ้านของตระกูลบริเวณตรอกเต๊า เยาวราช ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบงานบุญงานกุศลต่างๆ ในอดีต ทั้งมีกองทุนสำหรับนิมนต์พระมาเทศน์ทุกวันพระ อาจารย์ธงทองตั้งข้อสันนิษฐานว่า บริเวณตรอกเต๊าอาจเคยเป็นที่อยู่อาศัยของแม่แฟงก็เป็นได้
-
“ป้าแจ๋ว” ส่งท้าย
ป้าแจ๋วเผยว่า อยากทำละครให้ดูสนุกและแทรกรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ให้มากที่สุด จึงพยายามมอบความปราณีตบรรจงใส่ไว้ในละคร ในฐานะคนทำละครจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งหากผู้ชมเอาไปต่อยอดด้วยการศึกษาหรืออ่านค้นคว้าเพิ่มเติม
“ความปราณีตหลายๆ อย่างในเรื่องนี้เกิดจากความตั้งใจของทุกส่วน เราอยากให้ท่านได้รับรู้ ได้รับความสนุก และสาระต่างๆ ไปพร้อมกัน ทีมงานไม่อยากให้ละครแค่ดูสนุกแล้วผ่านไป เราอยากให้ความรู้คนดูทั่วไปให้ดูแล้วกลับมาสนใจประวัติศาสตร์ของตัวเองด้วย เพราะเราอยู่มาถึงบัดนี้ไม่ได้ ถ้าประวัติศาสตร์ของเราไม่มั่นคงและแข็งแรง” ป้าแจ๋วกล่าว
เรียกว่าเป็นการพูดคุยกับ “ตัวจริง” ที่อัดแน่นทั้งความรู้ ความสนุก เพลิดพลิน และเกร็ดน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับละครเรื่องดังที่กำลังถูกพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมืองในตอนนี้ ใครได้ฟังรองว่าชมละครสนุกขึ้นเป็นกองเลยทีเดียว!

อ่านเพิ่มเติม :
- ระบบเจ้าภาษีนายอากรคืออะไร? ทำไมเฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 3
- ฟันไม่ดำ!? ทำไมละคร-ภาพยนตร์ย้อนยุค ตัวเอกถึงฟันขาวสะอาด
- ราชทินนาม “ทุกขราษฎร์” ในละคร “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” มีที่มาจากไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2568