
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ฟันไม่ดำ!? ทำไมตัวเอกในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ หรือละครย้อนยุค ถึงมีฟันขาวสะอาด ไม่ดำเพราะกินหมาก
“ถึงเขาจะดูหล่อ แต่เขาเคี้ยวหมากฟันดำแบบนี้ ฉันไม่ชอบหรอก” นี่คือประโยคที่ บุญตา (รับบทโดย เมลดา สุศรี) นางเอกจากละครเรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” พูดกับลำเจียก และป้าเมี้ยน ซึ่งสื่อไปถึงพระเอกของเรื่องคือ หลวงทุกขราษฎร์ หรือคุณฉาย (รับบทโดย ณวัสน์ ภู่พันธัชสีห์) ซึ่งเป็นคนกินหมากฟันดำ จนเป็นเหตุให้คุณฉายต้องขัดฟันจนขาว
จริง ๆ แล้วในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ หรือละครย้อนยุค ก็มักเห็นตัวละครฟันดำจากการกินหมาก ไม่ว่าจะยุคอยุธยา หรือยุครัตนโกสินทร์ ก็จะเห็นแทบทุกเรื่อง ซึ่งในชีวิตจริงแล้ว คนไทย และคนในภูมิภาคนี้กินหมากมานับพันปี ในไทยเพิ่งจะเสื่อมความนิยมลงก็สมัยรัชกาลที่ 5-6 หรือราวร้อยกว่าปีนี้เอง
แต่ถ้าสังเกตแล้วจะพบว่า ตัวละครฟันดำมักเป็นตัวประกอบ หรือตัวรอง ไม่ใช่ตัวเอกของเรื่อง พระเอก และนางเอก แทบจะไม่มีใครฟันดำ
ละครคุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ ป้าเมี้ยนฟันดำ ละครบุพเพสันนิวาส ป้าปริก ผิน แย้ม จ้อย ก็ฟันดำ, ละครศรีอโยธยา, ละครนางทาส, ภาพยนตร์ทวิภพ, ภาพยนตร์ตํานานสมเด็จนเรศวรมหาราช หรือภาพยนตร์สุริโยไท ต่างก็มีตัวละครฟันดำจากการกินหมากทั้งสิ้น

เหตุที่ตัวเอกของเรื่องฟันไม่ดำ คงเป็นเพราะเรื่องของ “ภาพลักษณ์” และแน่นอนว่าความสวยความงามตามสมัยปัจจุบันนิยม จะต้องนำไปใส่ในภาพยนตร์หรือละครแนวนี้ด้วย เพราะนี่คือ “วัฒนธรรมบันเทิง” ที่ยังต้องคง “จุดขาย” ประการหนึ่งคือ “ภาพลักษณ์” ของพระเอก และนางเอก
การที่ตัวเอกฟันไม่ดำ เสมือนเป็นการ “อนุญาต” กลาย ๆ จากผู้ชม ที่จะมองข้ามจุดนี้ไปได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ
ในประเด็นฟันดำนี้ ผู้อ่านนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเมื่อปี 2544-2545 เคยตั้งข้อสงสัยเมื่อได้ชมภาพยนตร์สุริโยไทว่า ตัวละครหลายตัวไม่มีใครฟันดำ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยทัย ท้าวศรีสุดาจันทร์ ล้วนฟันขาว เว้นเพียงตัวละครบางตัวเช่น หมื่นราชเสน่หา (นอกราชการ) ที่รับบทโดยสรพงศ์ ชาตรี ฟันดำ

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตอบถึงประเด็นนี้ว่า
“เรื่องคนไทยกินหมากในภาพยนตร์สุริโยไท ว่า กินหมากแล้วทำไมฟันไม่ดำ เรื่องนี้จริง ๆ จะเป็นอย่างไรต้องถามผู้สร้าง สำหรับผมไม่คิดว่ารายละเอียดเล็กน้อยอย่างนี้เขาคงไม่ลืมหรอกครับ น่าจะรู้ด้วยซ้ำว่า มิใช่ฟันดำอย่างเดียว เหงือกดำด้วย ยิ่งต้องมีเรื่องคิดมาก ภาระมากต้องช่วยพระสวามีทุกอย่าง จนกลายเป็นคุณนายสุริโยไทด้วยแล้ว คงกินหมากจนปากเปรอะเป็นแน่
แต่พอมาสร้างภาพยนตร์ที่ต้องการคนดูมาก ๆ ผมก็ไม่ทราบว่า บทรักของขุนวรวงศากับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ หรือพระอาทิตยวงศ์กับพระมเหสีองค์เด็ก ที่อาจมีอยู่ในส่วนที่ตัดออกไปเห็นว่าตั้ง 10 ชั่วโมงนั้น จะมีการจุมพิตพระโอษฐ์ต่อพระโอษฐ์หรือเปล่า ลองคิดดูเถอะถ้าคู่พระคู่นางในภาพยนตร์ฟันก็ดำเหงือกก็ดำ ปากหนาเปรอะเพราะคราบหมาก ภาพการจุมพิตที่ออกมาคงน่าเกลียดพิลึก คนจะอยากดูหรือครับ เดี๋ยวก็จะขายตั๋วไม่ได้…”
ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ หรือละครย้อนยุค สร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิง “วัฒนธรรมบันเทิง” เช่นนี้ไม่ใช่ “การศึกษาประวัติศาสตร์” ที่มุ่งทำความเข้าใจข้อเท็จจริง ดังนั้น “ภาพลักษณ์” ของพระเอก และนางเอก จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของคำถามที่ว่า ทำไมตัวเอกของเรื่องฟันไม่ดำ
อ่านเพิ่มเติม :
- ชาวสยามเชื่อ “ฟันดำ” ถึงจะดี เพราะอะไรถึงเปลี่ยนรสนิยมเป็นฟันขาว?
- หญิงแรกรุ่นยุคอยุธยา ‘ฟันดำ’ ส่งสัญญาณ ‘ออกเรือนได้’
- รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกถึงการขัดพระทนต์ เปลี่ยน “ฟันดำ” เป็น “ฟันขาว”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2568