“ศรีเทพ” รากฐานบรรพชนไทย ศูนย์รวมภูมิปัญญาจากหลากดินแดน

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ศรีเทพ

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00-14.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร “ศิลปวัฒนธรรม” ในเครือมติชน ร่วมกับ สํานักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ศรีเทพ มรดกโลกในไทยและในต่างแดน!” มีวิทยากรได้แก่ รศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร และ ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ โดยมี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ศรีเทพ

Advertisement

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ศรีเทพ มรดกโลกในไทยและในต่างแดน!” พาทุกคนไปรู้จักและเข้าใจ “ศรีเทพ” ในแง่มุมที่เจาะลึกยิ่งขึ้น หลังจากเมืองโบราณแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย โดยเฉพาะการหาคำตอบว่า มรดกโลกแห่งใหม่นี้มีความสำคัญอย่างไร หรืออยู่ตรงไหนในวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชาติไทย และเหตุใดสมบัติล้ำค่าของศรีเทพจึงไปอยู่ต่างแดน

รศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มด้วยการอธิบายถึงลักษณะสัณฐานและผังเมืองของศรีเทพ เพื่อเข้าใจการขยายตัวหรือเปลี่ยนแปลงของเมือง

“เมืองศรีเทพ” มีลักษณะผังเมืองแบบเมืองซ้อนเมือง รูปร่างคล้าย “แคปซูล” แบ่งเป็น “เมืองใน” กับ “เมืองนอก” สะท้อนว่าศรีเทพมีการตั้งถิ่นฐานหลายสมัย จึงมีการขยายคูน้ำคันดินออก โดยรวมเป็นเมืองแบบวัฒนธรรมทวารวดี เหมือนเมืองโบราณอื่น ๆ ของไทยที่ร่วมสมัยหรือมีพัฒนาการไล่เลี่ยกัน ทั้งนี้ ผังเมืองศรีเทพไม่ได้เป็นเรขาคณิตเสียทีเดียว เพราะคูน้ำคันดินแปรสภาพไปตามภูมิประเทศ โดยมีศาสนถานอยู่กลางเมือง และมีพระมหาสถูปขนาดใหญ่อยู่นอกเมือง

แต่ศรีเทพมีความแตกต่างจากเมืองโบราณอื่นคือ ตัวเมืองไม่สัมพันธ์กับลำน้ำธรรมชาติ เพราะไม่มีคลองหรือทางน้ำเชื่อมต่อศรีเทพกับแม่น้ำป่าสักที่อยู่ห่างออกไปราว 3-4 กิโลเมตรเลย อ.ประภัสสร์ วิเคราะห์ว่า “เมืองถูกตั้งขึ้นมาบนพื้นที่ที่ถูกเลือกไว้แล้ว… เช่น อยู่บนเส้นทางการค้า การคมนาคมระหว่างภูมิภาค”

อ.ประภัสสร์ ยังยกตัวอย่างงานศิลปกรรมที่พบในศรีเทพ เพื่ออธิบายความเชื่อมโยงระหว่างคนศรีเทพกับดินแดนภายนอก แบ่งออกเป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดีและสมัยอิทธิพลจากทะเลสาบเขมรแพร่เข้ามา เช่น เขาคลังใน สิ่งปลูกสร้างลักษณะแบบ “วิหาร” ที่มีร่องรอยของสถาปัตยกรรมสมัยคุปตะและปาละในอินเดีย

ประติมากรรม พลแบก-ยักษ์แบก หรือ “คนแคระแบก” ที่ อ.ประภัสสร์ ให้ความเห็นว่า เป็นคติที่สืบทอดมาจากปกรณัมกรีกอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือตำนาน “แอตลาส” เทพกรีกที่แบกโลก แปลว่าช่างศรีเทพน่าจะรับแนวคิดดังกล่าวผ่านอินเดียเช่นกัน ต่อมาคือ ลายก้านขด หรือ “กนกผักกูด” ซึ่งพบในศิลปะราชวงศ์คุปตะของอินเดีย ซึ่งช่างศรีเทพเข้าใจรูปแบบกนกผักกูดสูงมาก แปลว่าหากไม่ใช่เพราะศรีเทพเป็นศูนย์กลางด้านงานช่างในยุคนั้น ก็แปลว่าช่างอินเดียเคยเข้ามาถึงที่นี่

นอกจากอิทธิพลจากอินเดียแล้ว ร่อยรอยของดินแดนใกล้เคียงในลุ่มแม่น้ำโขงและที่ราบสูงโคราชยังพบได้ในแท่นหินใกล้ฐานอุโบสถ เรียกว่า “พัทธสีมา” ซึ่งพบในได้เมืองโบราณในกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-แม่น้ำมูลในภาคอีสาน

ประเด็นนี้ ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี ให้ข้อมูลว่า พัทธสีมาที่ศรีเทพคือตัวบ่งชี้ความสัมพันธ์ของศรีเทพกับเมืองเสมาในนครราชสีมา แม้วัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลางจะไม่มีธรรมเนียมเกี่ยวหินตั้งแบบนี้ แต่พัทธสีมาศรีเทพที่มีลวดลายแบบทวารวดีบอกเราได้ว่า คนสร้างสิ่งนี้ต้องมาจากแถบภาคอีสาน มีสัมพันธ์กับเมืองเสมา และเป็นกลุ่มคนจากวัฒนธรรมทวารวดีด้วย

อ.ประภัสสร์ ยังเล่าถึง เขาคลังนอก ว่าเป็นโบราณสถานอันเนื่องใน “ลัทธิการบูชาภูเขา” เชื่อว่าอาจเป็นการจำลองเขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์นอกเมืองมาไว้ในเมือง นอกจากนี้ ปราสาทพนมบาเค็ง และมหาสถูปบุโรพุทโธ ล้วนเป็นโบราณสถานที่สืบเนื่องจากลัทธิบูชาภูเขาและศาสนาผีเช่นกัน แต่ผสมเข้ากับศาสนาพุทธและฮินดูที่เข้ามาภายหลัง

นอกจากโบราณสถาน งานสถาปัตยกรรมที่รับอิทธิพลจากอินเดียแล้ว มรดกทางศิลปกรรมหลายอย่าง เช่น ประติมากรรมรูปธรรมจักร พระพุทธรูป หรือเทพเจ้าอย่าง พระวิษณุ พระสุริยเทพ ศิวลึงก์ และรูปปั้นโคนนทิ ล้วนสะท้อนคติความเชื่ออันหลากหลายของศรีเทพตลอดช่วงเวลาที่เมืองแห่งนี้ดำรงอยู่ คือมีทั้งพุทธศาสนานิกายเถรวาท นิกายมหายาน กับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ไวษณพนิกาย เข้ามายังบริเวณนี้จากดินแดนต่าง ๆ ตั้งแต่อินเดีย ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ราบสูงโคราช ตลอดจนทะเลสาบเขมร และบ่งบอกความเป็นศูนย์กลางศาสนาของศรีเทพด้วย

จะเห็นว่าแม้ศรีเทพจะอยู่ดินแดนตอนใน แต่ติดต่อกับดินแดนมากมาย แสดงว่าศรีเทพต้องตั้งอยู่บนเส้นทางการคมนาคมที่คับคั่งจริง ๆ จึงมีภูมิปัญญามากมายปรากฏอยู่ที่นี่

อ.ประภัสสร์ ให้ความเห็นต่อว่า มรดกจากศรีเทพคงส่งต่อไปยังสุโขทัย-อยุธยาด้วย คือเป็นแขนงหนึ่งของบรรพชนที่สถาปนารัฐเหล่านี้ขึ้นมา เห็นได้จากการสร้าง ตรีมุข ปราสาทศูนย์กลางเมือง การนับถือพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นใหญ่ การสถาปนามหาสถูปทั้งใน-นอกเมือง การสร้างมหาธาตุใจกลางเมือง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้พบทั้งในสุโขทัยและอยุธยา ก่อนจะสรุปว่า

“ครั้งหนึ่งศรีเทพเคยเจริญ แต่เมื่อเส้นทางการค้าเปลี่ยน ภูมิศาสตร์เปลี่ยน คนที่ศรีเทพอาจจะกระจายย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือตั้งศูนย์กลางที่อื่น… หลัง พ.ศ. 1700 ลงมา ถามว่าคนศรีเทพไปไหน? หลักฐานที่แสดงให้เห็นคือขึ้นไปทางเหนือ เป็นบรรพชนส่วนหนึ่งของผู้ที่ตั้งรัฐสุโขทัย อีกส่วนเป็นบรรพชนของผู้ตั้งรัฐอยุธยา สืบมาเป็นประเทศไทย…

ศรีเทพจึงสำคัญมาก เป็นนครขนาดใหญ่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์… และเป็นรากฐานของดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน”

นอกจากนี้ อ.ทนงศักดิ์ ยังเล่าถึงโบราณวัตถุและมรดกจากศรีเทพมากมายหลายชิ้นที่ถูกนำไปที่ต่าง ๆ ทั้งในไทยและพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ เช่น พิพิธภัณฑ์นอร์ตันซิมมอน (Norton Simon Museum) พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art) ในสหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum) ในอังกฤษ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมศิลปากรและภาครัฐมีความพยายามอย่างสูงที่จะนำสมบัติของชาติเหล่านั้นกลับคืนมา เพื่อประกอบการอธิบายตัวตนของศรีเทพให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น โดยกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าเราได้หลักฐานโบราณวัตถุกลับคืน เราจะสร้างเรื่องราวได้ชัดเจนกว่าในปัจจุบัน แม้ว่าเราจะไม่พบติดที่ก็ตาม ก็หวังว่าชาวบ้านหรือชุมชนจะให้ความร่วมมือ บอกเล่าถึงที่มาที่ชัดเจนของของที่ครั้งหนึ่งเคยขุดขายไป… จะทำให้วิเคราะห์ตัวเมืองศรีเทพได้ง่ายขึ้น”

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ศรีเทพ

หลังการบรรยาย อ.ประภัสสร์ และ อ.ทนงศักดิ์ ยังนำผู้ร่วมฟังเสวนาไปชมโบราณวัตถุจากเมืองโบราณศรีเทพ ในนิทรรศการ “ศรีเทพกับมรดกโลก” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ภายใน พร้อมการบรรยายแบบเจาะลึกตลอดการนำชม

ชมย้อนหลัง “ศรีเทพ มรดกโลกในไทยและในต่างแดน!”  เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 แบบเต็มอิ่มกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ที่นี่ :

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2566