“ภาพถ่ายเก่า” ขณะทำการขุดค้น วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย

แผ่นหินปิดปากกรุเจดีย์ พบจากการขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย

เพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเก่าการขุดค้น วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย และให้ข้อมูลของภาพชุดนี้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2496 รัฐบาลในขณะนั้น (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองสุโขทัยขึ้น โดยเริ่มมีการขุดแต่งที่วัดมหาธาตุเป็นแห่งแรก และตามด้วยโบราณสถานที่สำคัญอื่นๆ ทั้งภายในกำแพงเมือง และภายนอกกำแพงเมือง

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ตามแบบแผนความเชื่อในเรื่องจักรวาลแบบอินเดียโบราณ เป็นวัดที่มีความสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมาก ถึง 200 องค์

ภาพถ่ายเก่าเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
ภาพถ่ายเก่าขณะกำลังเคลือนย้ายเสาศิลาแลง วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

เจดีย์ประธานของวัด ซึ่งตั้งเด่นสง่างามมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ แต่คงมิได้เป็นรูปแบบแรกเริ่มเมื่อมีการสร้างวัดมหาธาตุขึ้น ของเดิมน่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์ทิศที่ตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่บนฐานเดียวกัน

รายรอบเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทิศ จำนวน 8 องค์ องค์ที่อยู่ตรงมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ที่มีอิทธิพลของศิลปะหริภุญไชยล้านนา ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของด้านทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยซึ่งมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา รอบๆ เจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลีเดินประทักษิณโดยรอบพระมหาธาตุ

แผ่นหินปิดปากกรุเจดีย์ พบจากการขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้บรรยายว่า กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธอันใหญ่ มีพระพุทธอันราม พระพุทธรูปทองเข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงหลวงพ่อโตของชาวเมืองเก่า เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ที่ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญโดยล่องแพไปไว้ที่ วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามว่า พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปนี้น่าจะเป็นพระพุทธรูปสำริดที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1905 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อันเป็นแบบที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุสุโขทัยจึงยังปรากฏแท่นฐานขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปองค์นี้เหลือให้เห็น

ภาพถ่ายเก่าขณะกำลังขุดแต่ง วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ส่วนพระอัฎฐารศ ที่กล่าวถึงในจารึกหมายถึงพระพุทธรูปยืน ที่มีขนาดใหญ่สูงราว 18 ศอก ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน

ถัดจากวิหารหลวงไปทางตะวันออกเป็นวิหารสูง ที่เรียกชื่อเช่นนี้ เนื่องจากวิหารหลังนี้มีฐานก่ออิฐเป็นลักษณะฐานบัว มีความสูงประมาณ 1.5 เมตร เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าวิหารสูงกับกำแพงแก้วด้านหน้าเหลือเพียงพื้นที่แคบๆ ไม่ได้สัดส่วนกับความสูงของตัวอาคาร

นอกจากนี้ภายในวัดมหาธาตุยังมีกลุ่มเจดีย์ จัดแยกออกเป็นกลุ่มหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ 5 ยอด ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 รองจากเจดีย์ประธาน ได้พบหลักฐานที่เป็นจารึกลานทองมีข้อความระบุเป็นที่น่าเชื่อว่าเจดีย์ 5 ยอดองค์นี้เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท

โบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ พบจากการขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
ภาพถ่ายเก่าบริเวณฐานเจดีย์ประธาน วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งมีการขุดแต่งพบพระสาวกเวียนประทักษิณรอบเจดีย์ประธาน (ภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ปล.โบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้จากขุดค้นปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง

[ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย]


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ.2562