เพลง “ด่วนพิศวาส” โดย อารียา แตงอ่อน อดีตนักร้องวงดนตรี “สุรพล สมบัติเจริญ”

สุรพล สมบัติเจริญ ผู้แต่งเพลง ด่วนพิศวาส ร้องเพลงคู่กับ อารียา แตงอ่อน
สุรพล สมบัติเจริญ (ขวา) ผู้แต่งเพลงด่วนพิศวาส กำลังร้องเพลงคู่กับ อารียา แตงอ่อน ราวยุค 2500 ภาพต้นฉบับของขวัญมิตร ณ บ้านท่า (บำเทอง โชติชูตระกูล) ซีดีเอนก 00467-044-พุธ 28 มีนาคม 2550 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2561)

เพลง “ด่วนพิศวาส” โดย อารียา แตงอ่อน อดีตนักร้องวงดนตรี “สุรพล สมบัติเจริญ”

เพ็ญ (นามสมมติ) เข้ามาทำงานบ้านผมและภรรยาเมื่อปีไหนไม่รู้ แต่ต้องหลัง พ.ศ. 2537 ที่ผมซื้อรถ และหลังจากที่ลูกสาวของผมโตพอสมควร คือโตพอที่จะรู้จักหากระปุกมาหยอดสตางค์เพื่อเล่นเก็บออม

ใครบางคนแนะนำให้เพ็ญขึ้นรถไฟจากสงขลา (ความจริงขึ้นจากหาดใหญ่ เพราะรถไฟสายสงขลากับหาดใหญ่เลิกกิจการไปนานแล้ว) ตรงขึ้นมากรุงเทพฯ แล้วนั่งแท็กซี่ต่อมายังบ้านเป้าหมายย่านบางแวก ธนบุรี

อาจเป็นคนข้างบ้าน หรือคนรู้จักคนใดคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

เพ็ญมีรูปร่างบอบบาง ผอม เล็ก แก้มตอบ หน้าตาอิดโรย ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ชอบสบตาใคร เธอไม่ใช่คนช่างคุยจึงชอบอยู่ในห้องหรือทำงานอย่างเงียบ ๆ หน้าที่ของเพ็ญคือ ซักผ้า รีดผ้า เช็ดถูบ้านไม้ 2 ชั้น และอาจเป็นลูกมือช่วยแม่บ้านทำกับข้าวในบางครั้ง เรื่องเงินเดือน ไม่ต้องห่วง เพราะภรรยาผมคอยดูแลอย่างดี ขาดเหลืออะไรเธอจะคอยจุนเจือเสมอ ไม่ว่ากับคนช่วยงานบ้านคนไหน

เพ็ญแต่งตัวแบบชาวบ้าน คือ นุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อเก่าบาง ๆ ฐานะของเธอไม่ดีพอที่จะซื้อเครื่องสำอางมาประทินโฉมได้ เธอจึงอยู่อย่างเรียบง่าย ซึ่งว่าที่จริงก็ดีแล้ว เพราะบ้านชานเมือง ไม่มีกิจกรรมอะไรให้ตื่นเต้น เพ็ญบอกว่าเธอมีลูกเล็ก ๆ คนหนึ่งเป็นผู้ชาย นัยว่าเธอจะฝากลูกให้อยู่กับยายของเด็ก หรืออะไรทำนองนั้น แล้วตัวเธอก็ขึ้นมาทำงานหาเงินเองคนเดียว

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2561 ผมขับรถไปสูดอากาศที่สถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพิพิธภัณฑ์ สถานีเก่าแก่แห่งนี้มีบึงบัวและชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์อยู่ข้าง ๆ การได้ไปดูกอบัว ฟังเสียงนกการ้องเพรียกหากัน ฟังเสียงรถไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามใกล้ค่ำทำให้หวนคิดถึงอดีตอย่างประหลาด

ภาพของเพ็ญและเพลง “ด่วนพิศวาส” ของ ผ่องศรี วรนุช ผุดขึ้นมาขณะผมเดินหย่อนใจที่สถานี

เพ็ญจากไปโดยไม่มีอาการอ้อยอิ่งหรือโบกมือลาใครสักคน

ส่วนเพลงด่วนพิศวาสเริ่มต้นด้วยเสียงหวูดและเสียงรถไฟที่กำลังเร่งความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ทีละนิด จากนั้นก็เป็นเนื้อร้องที่ขึ้นว่า

“เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย แว่วดังฟังแล้วใจหาย หัวใจน้องนี้แทบขาด” ปิดท้ายด้วยเสียงรถไฟที่กำลังลับหายไปจากสายตา

ฟังผ่องศรีร้องแล้วใจหายจริง ๆ และยิ่งใจหายเมื่อนึกถึงภาพหญิงสาวผู้แพ้รักที่ต้องยอมหลีกทางให้หญิงอีกคน

ยุค 2540 สมัยที่วิทวัส (วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์) จัดรายการตีสิบ ทางช่อง 3 มีสุภาพสตรีผู้มีอายุคนหนึ่งขึ้นมาร้องเพลงประกวดในช่วง “ดันดารา” เพลงที่คุณป้าคนนี้นำมาแสดงความสามารถคือ ด่วนพิศวาส…

กรรมการมี 3 คน ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงคือ อาจารย์เชน หรือ จตุพล ชมภูนิช-ครูอ้วน มณีนุช เสมรสุต และโน้ต เชิญยิ้ม

คืนนั้นผมนั่งดูรายการอยู่ที่บ้านพอดี ทันทีที่คุณป้าขึ้นต้นเพลงด้วยเสียงอันกังวาน ผมก็ขนลุกซู่…

มันเสียดแทงเข้าไปถึงหัวใจจนไม่อาจพรรณนาความรู้สึกให้ครบถ้วนได้ ยิ่งได้ฟังภูมิหลังสั้น ๆ ของคุณป้า ที่เปิดเผยกลางเวทีก็ยิ่งทำให้ผมน้ำตาซึม

คุณป้าบอกว่า เธอเคยอยู่วงดนตรี สุรพล สมบัติเจริญ ผู้แต่งเพลงด่วนพิศวาสทั้งเนื้อและทำนองให้ผ่องศรีร้อง

ธนภัทร บัวเบา เด็กหนุ่มผู้สนใจเพลงเก่าบอกผมว่าตัวแผ่นเสียงน่าจะวางขายเมื่อราว พ.ศ. 2502 เป็นแผ่นเสียงตรานกแก้ว ปรีชา เมตไตรย์ เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน…

คุณป้าเคยร้องเพลงกับผ่องศรี วรนุช ต่อมาผ่องศรีโด่งดังมีชื่อเสียง เป็นดาวค้างฟ้า กระทั่งได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2535 ในขณะที่เธอเป็นได้แค่อดีตนักร้องที่ยังอยู่กับความหลังอันงดงามสมัยดนตรีลูกทุ่งเฟื่องฟู

ผ่องศรี วรนุช ภาพจาก เมืองไทย ภัทรถาวงศ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2561)

ยุค 2500 เป็นยุคที่ทั้งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และสุนทราภรณ์ได้รับความสนใจอย่างสูง รายการวิทยุกระจายเสียงต่าง ๆ ต้องนำเพลงเพราะ ๆ มาเปิดให้ผู้ฟังทางบ้านฟังกันตลอดวัน ในสายเพลงลูกทุ่ง เด็กรุ่นผมต้องคุ้นเคยกับชื่อ สุรพล สมบัติเจริญ-ผ่อง ศรี วรนุช-ชาย เมืองสิงห์-พร ภิรมย์ ฯลฯ กันทั้งนั้น

หลังจากหมดสมัยการเดินสาย คุณป้าทำอะไรบ้าง ผมจำรายละเอียดไม่ได้ รู้แต่ว่าเธอใช้ชีวิตอยู่ที่นครศรีธรรมราช แต่ด้วยความรักในเสียงเพลง คุณป้าจึงยอมทนเหน็ดเหนื่อย นั่งรถไฟขึ้นมาร่วมรายการอันมีชื่อเสียงของวิทวัส

“คุณป้าขึ้นมากับใครหรือครับ” จตุพลถามวิธีการเดินทางอันแสนไกล รถไฟวิ่งจากนครฯ มากรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาข้ามคืน

“ป้านั่งรถไฟขึ้นมาคนเดียว…”

“หา!” จตุพลส่งเสียงอุทาน พลางทำหน้าตาตื่น

“ทั้งขบวนนี่คุณป้านั่งมาคนเดียวเลยหรือครับ”

คนฟังทั้งห้องส่ง รวมทั้งผมคนดูหน้าจอ หัวเราะน้ำหูน้ำตาไหล ผมจำฉากนี้ได้ และได้พยายามเพียรหาผลงานเพลงด่วนพิศวาสของคุณป้าจากยูทูบมาฟัง

ทว่ายูทูบก็หาได้ย้อนอดีตให้ทุก ๆ เรื่องไม่ เพลงด่วนพิศวาสฉบับคุณป้า ไม่มีในยูทูบแม้แต่วินาทีเดียว…

ทบทวนจากวิกิพีเดียได้คร่าว ๆ แค่ว่ารายการตีสิบสมัยมีช่วงดันดารา เริ่มเปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2540 แล้วเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง ออกอากาศเทปสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 นี้เอง!!

ขออภัย…ผมว่าถ้าผมจำไม่ผิด คุณป้าน่าจะชื่อ อารียา แตงอ่อน

ประหลาดมากที่วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ขณะหยิบหนังสือภาพเก่ากรุงเทพฯ ที่ผมเขียนเองมาพลิกเล่น ผมพบภาพ อารียา แตงอ่อน กำลังร้องเพลงคู่กับผู้ชายคนหนึ่งใน น. 316

และเมื่อย้อนกลับไปค้นหาต้นทางในคอมพิวเตอร์ก็พบว่าภาพต้นฉบับเป็นของ ขวัญมิตร ณ บ้านท่า (บำเทอง โชติชูตระกูล) หลังภาพมีลายมือตัวดินสอเขียนว่า “กุหลาบ-สุรพล-อารียา แตงอ่อน…”

ภาพดังกล่าวพลัดหลงมาถึงผมได้อย่างไร นึกไม่ออก เข้าใจว่าอาจติดมากับกองหนังสือที่ผมซื้อจากผู้พันสมชาย หลายกระสอบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ต้องขออนุญาตคุณบำเทองและป้าอารียากลางอากาศนำมาลงในศิลปวัฒนธรรม ด้วยความเคารพ…

สุรพล สมบัติเจริญ (ขวา) ผู้แต่งเพลงด่วนพิศวาส กำลังร้องเพลงคู่กับ อารียา แตงอ่อน ราวยุค 2500 ภาพต้นฉบับของขวัญมิตร ณ บ้านท่า (บำเทอง โชติชูตระกูล) ซีดีเอนก 00467-044-พุธ 28 มีนาคม 2550 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2561)

รถไฟเข้าเทียบชานชาลาสถานีศาลาธรรมสพน์แล้วจากไปจนสุดสายตา ภาพคุณป้าอารียาเลือนหายไป กลับปรากฏภาพของเพ็ญขึ้นมาแทน

เพ็ญจากครอบครัวของผมไปนานมากแล้ว ผมคิดว่าเธอมาอยู่ที่บ้านของเราเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น แล้ววันหนึ่งเธอก็ขออนุญาตกลับบ้าน

ผมเข้าใจว่าเธออาจกลับไปเยี่ยมลูกด้วยความคิดถึงแล้วจะกลับขึ้นมาทำงานอีก จึงอาสาขับรถพาเธอไปส่งที่สถานีรถไฟ พลางถือโอกาสพูดคุยให้กำลังใจและให้อนุสติต่าง ๆ คล้าย ๆ ฉากสุภาพบุรุษในนิยาย

เพ็ญหอบลังเสื้อผ้าไปแค่ใบเดียว และนับแต่บัดนั้น เธอก็หายหน้าไปโดยไม่ย้อนกลับมาอีกเลย

ภรรยาของผมบอกทีหลังว่า เพ็ญยืมเงินไป 5,000 บาท ส่วนลูกสาวของผมก็เพิ่งฟื้นความหลังได้ว่าเพ็ญแคะเอาเงินในกระปุกไปหมด พร้อมกับทิ้งจดหมายไว้ว่าเธอไม่ใช่นักต้มตุ้นหรอก

รถด่วนขบวนสุดท้ายของเพ็ญ ไม่โรแมนติคเหมือนด่วนพิศวาสของผ่องศรีและป้าอารียา น่าเสียดายจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ด่วนขบวนสุดท้าย” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2565