ผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากรวมตัวต้านมาตรการ “บังคับสวมฮิญาบ” ในวันสตรีสากล 1979

ผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากประท้วงต่อต้านการบังคับสวมฮิญาบ (ภาพจาก Rare Hisorical Photos)

ปลายทศวรรษที่ 1970 เป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอิหร่าน ประเทศที่เคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับโลกตะวันตก แต่การที่ระบอบชาห์ต้องเผชิญกับปัญหาการใช้อำนาจเผด็จการ การทุจริตฉ้อฉล และการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกพร้อมกับกดอิทธิพลของอิสลาม ก็กลายมาเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายต่อต้านที่ยึดโยงกับศาสนานำมาใช้โจมตี จุดชนวนให้เกิดการจลาจลไปทั่วประเทศ

ในปี 1978 (พ.ศ. 2521) ประชาชนที่ไม่พอใจระบอบชาห์ ได้หันไปให้การสนับสนุนอายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำนิกายชีอะห์ แกนนำต่อต้านระบอบชาห์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในปารีสเป็นจำนวนมาก เหตุวุ่นวายทั่วประเทศกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง บีบให้พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ต้องเสด็จออกนอกประเทศในวันที่ 16 มกราคม 1979 (พ.ศ. 2522) ด้านโคมัยนีก็เดินทางกลับมายังอิหร่านเพื่อกุมอำนาจแทน

ไม่นานหลังจากนั้น โคมัยนี ก็ได้ออกประกาศให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมฮิญาบ สัญลักษณ์สำคัญของสตรีมุสลิม เพื่อรื้อถอนอิทธิพลของตะวันตก หลังจากที่ฮิญาบเคยเป็นสิ่งต้องห้ามมาก่อนเนื่องจากระบอบชาห์ต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นตะวันตกพร้อมไปกับการลดบทบาทของศาสนาในพื้นที่สาธารณะ

คำประกาศของโคมัยนี ทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มสมาคมผู้หญิงซึ่งมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติล้มล้างระบอบเก่า และนั่นก็เป็นการส่งสัญญาณของการใช้อำนาจเผด็จการไม่ต่างไปจากระบอบเดิม

“ฉันไม่มีวันสวมผ้าคลุมหน้า ฉันจะไม่สวมชาดอร์ (chardor, ผ้าคลุมศรีษะ หรือฮิญาบ) ฉันไม่มีวันที่จะสวมผ้าพันคอ ไม่มีผู้ชายคนไหน ไม่ว่าจะเป็นชาห์ หรือโคมัยนี ที่จะมาทำให้ฉันแต่งตัวได้ตามที่พวกเขาต้องการ ผู้หญิงอิหร่านไม่สวมผ้าคลุมมานานกว่า 3 ชั่วอายุคน และพวกเราจะต่อสู้กับใครก็ตามที่จะมาขัดขวางวิถีชีวิตของเรา” ฟาร์แซห์ นูห์ Farzaeh Nouh นักกฎหมายและนักกิจกรรมกล่าวที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเตหะราน (เดอะนิวยอร์กไทม์)

การประท้วงครั้งใหญ่ของผู้หญิงอิหร่านต่อผู้นำคนใหม่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม 1979 วันสตรีสากล แต่การเคลื่อนไหวของพวกเธอขาดแรงสนับสนุนจากกลุ่มอื่นๆ ที่อ้างว่า “ความสามัคคี” เป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรีถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

ผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากประท้วงต่อต้านการบังคับสวมฮิญาบ (ภาพจาก Rare Hisorical Photos)

สถานภาพของผู้หญิงในอิหร่านค่อยๆ ถดถอยลงเรื่อยๆ เมื่อกลุ่มอำนาจใหม่วางรากฐานทางการเมืองได้อย่างมั่นคง การสั่งให้ผู้หญิงสวมฮิญาบที่เริ่มจากการขอความร่วมมือ กลายมาเป็นมาตรการที่มีโทษถึงจำคุกสำหรับผู้ฝ่าฝืน แม้กระทั่งการเผยแพร่รูปถ่ายบนโลกออนไลน์โดยมีผมโผล่ออกมาให้เห็นก็อาจต้องโทษได้

“ศัตรูของเราพยายามใช้ภาควัฒนธรรมและสังคมเพื่อแทรกซึมเข้าไปในความคิดของเยาวชน พวกเขาทุ่มเทกำลังในด้านออนไลน์ผ่านการใช้แรงดึงดูดทางเพศ และผลประโยชน์ทางการเงินมาจูงใจ” อับบาส จาฟารี-โดลาตาบาดี (Abbas Jafari-Dolatabadi) อัยการสูงสุดของอิหร่านกล่าว หลังเผยถึงความสำเร็จในการปฏิบัติการกวาดล้างนางแบบที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมบนสื่อออนไลน์

ในปี 2016 อิหร่านได้เพิ่มกำลังตำรวจศีลธรรมอีกกว่า 7 พันนาย เฉพาะในกรุงเตหะราน เพื่อบังคับการสวมฮิญาบให้สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลวางไว้ รวมถึงการสอดส่องพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมแบบอิสลาม จนทำให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวอิหร่านถึงกับอดแสดงความเห็นบนทวิตเตอร์ไม่ได้ว่า “ทั้งประเทศเรามีนักอนุรักษ์ที่คอยปกป้องสิ่งแวดล้อมแค่ 2,600 คน แต่ในเตหะรานที่เดียว เราต้องจ้างคน 7,000 คน เพื่อมาสอดส่องการสวมฮิญาบของชาวบ้าน” (เดอะการ์เดียน)

 


อ้างอิง:

1. Ibrahim, Youssef M.. “‘Death to Despotism Under Any Cover’ Was the Cry Last Week”. The New York Times (11 Mar 1979) <http://www.nytimes.com/1979/03/11/archives/irans-new-women-rebel-at-returning-to-the-veil.html> Accessed 8 Mar 2017.

2. Dehghan, Saeed Kamali. “Iran Arrests Models in Renewed Crackdown on Unlicensed Industry”. The Guardian (16 May 2016) <https://www.theguardian.com/world/2016/may/16/iran-arrests-models-crackdown-unlicensed-industry-hijab> Accessed 8 Mar 2017.

3. “Mohammad Reza Shah Pahlavi”. Encyclopedia Britannica (15 Dec 2016) <https://global.britannica.com/biography/Mohammad-Reza-Shah-Pahlavi> Accessed 8 Mar 2017.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ.2560