มองบทบาท “ผู้หญิง” ในฐานะ “ผี” สตรีมีพื้นที่ในมิติโลกวิญญาณมากน้อยแค่ไหน?

8 มีนาคม เนื่องในวันสตรีสากล เพื่อการตระหนักถึงบทบาทและสิทธิสตรี ศิลป์สโมรสร Thai PBS จัดเสวนาเมื่อวันพุธที่ 4 มีนาคม 2563 หัวข้อ “พลังสตรี ผี เฮี้ยน” มองพลังของ “ผู้หญิง” ผ่านมิติโลกแห่งความตาย ทำไมผู้หญิงจึงเป็นหลักในพื้นที่พิธีกรรมโลกแห่งวิญญาณ? ทำไมผีผู้หญิงถึงน่ากลัวกว่าผีผู้ชาย? ทำไมสื่อบันเทิงมักนำเสนอภาพผีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย?

คติการนำผู้หญิงมาเกี่ยวข้องกับโลกแห่งวิญญาณเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสังคมโบราณหรือยุคสังคมเกษตรกรรม อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อธิบายว่า ในสมัยโบราณมนุษย์จะให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงเป็นเพศแห่งการให้กำเนิด สถานภาพของผู้หญิงในยุคโบราณจึงมีความศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่ากับพลังธรรมชาติ ผู้หญิงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิต การให้กำเนิดชีวิต และความอุดมสมบูรณ์

ทางด้านอาจารย์อานันท์ นาคคง ได้อธิบายคำว่า “ผี” ว่า คนเป็นผีด้วยเหตุใด? ทำไมคนจึงกลายเป็นผี? โดยกล่าวถึงหกเส้นทางของการกลายเป็นผี คือ หนึ่ง คนตายจึงกลายเป็นผี สอง คนที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ป่วย คืออยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นและความตาย สาม คนที่ทำพลาดจากความเชื่อ เช่น มนต์ดำหรือคุณไสย สี่ คนทำผิดศีลธรรม ละเมิดกรอบบางอย่างของศาสนา เช่น การล่าแม่มด ห้า คนทำผิดกฎหมาย ทำผิดกฎของสังคม ถูกผลักให้เป็นผี และหก เป็นผีที่สมมติขึ้น คือผีดี (เทพ) และผีร้าย (ปีศาจ)

อาจารย์อานันท์ตอบคำถามที่ว่า ผีมีไว้ทำไม? ได้สรุปเป็นสองประการสำคัญคือ อำนาจและอำนวย “อำนาจคือการใช้มิติบางอย่างเพื่อให้เราเชื่อ เราศรัทธา เรานับถือ เรายำเกรง เรากลัว อำนาจมีบทบาทในการควบคุมความคิดและพฤติกรรมผู้คน อำนาจมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตประเพณี ผีถูกเอามาใช้ในเรื่องของการสร้างอำนาจ การแสดงอำนาจ ส่วนอำนวยนั้นเป็นเรื่องการติดสินบนผี เราอยากได้อะไรเราก็วิงวอนขอร้องผี เราอยากได้อะไรเราก็เอาอกเอาใจผี และก็เป็นเพื่อนกับผี”

ส่วนคำถามที่ว่า ผีผู้หญิงมีไว้ทำไม? อาจารย์อานันท์อธิบายว่า ผีผู้หญิงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนผู้คนและควบคุมสังคม เช่น การห้ามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เป็น แม่มด ผีกระสือ ผีปอบ หรือผีฟ้า นอกจากนี้ อาจารย์อานันท์ยังอธิบายว่า ผีในปัจจุบันถูกปรับตัวไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ผีแม่นาค ที่คนมักไปขอเรื่องขอไม่ให้ติดทหารเกณฑ์และขอให้ประสบความสำเร็จเรื่องความรัก และผีพุ่มพวง ที่นักเสี่ยงโชคไปขอเลขเด็ดซื้อลอตเตอรีหรือหวย

ทราย เจริญปุระ, อานันท์ นาคคง และอ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (ภาพจาก ไทยบันเทิง ThaiPBS)

ทราย เจริญปุระ สะท้อนมุมมองของตนในฐานะผู้รับแม่นาคว่า มักมีคนทำนายทายทักตนว่า คนที่รับบทเป็นเป็นแม่นาคจะไม่ประสบความสำเร็จเรื่องความรัก ทัศนคติเหล่านี้ทำให้ทราย เจริญปุระตั้งคำถามว่า ผู้คนยังคงนิยามผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จว่าจะต้องมีสามีและลูก แต่ตนมองต่างออกไป โดยเปรียบเทียบว่า หากแสดงภาพยนตร์แล้วมีผู้วิจารณ์ว่าเล่นห่วย แต่ในขณะเดียวกันตนมีสามีที่ดีมาก ตนก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี มองว่า หากแสดงภาพยนตร์แล้วผู้ชมจดจำบทบาทนั้นได้ กลับรู้สึกมีความสุขมากกว่า

ซึ่งไม่ว่าจะในบทบาทละคร ภาพยนตร์ หรือในชีวิตส่วนตัวของทราย เจริญปุระเอง สังคมยังคงนิยามผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบให้อยู่ในฐานะ “แม่” และ “เมีย” โดยมักมีคำถามยอดฮิตอย่าง “เมื่อไหร่จะแต่งงาน?” “เมื่อไหร่จะมีลูก?”

“จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าถนัดด้วยซ้ำในการที่จะเล่นเป็นผู้หญิงที่ถูกกดทับด้วยความเชื่ออะไรแบบนี้บางอย่าง เพราะมันตีความในฐานะนักแสดง มันทำได้ชัดเจนกว่า ง่ายกว่า…พอผ่านการคิดหรือการเขียนบทมาจากมุมมองของผู้ชาย เขาก็จะมี Goal บางอย่างในใจอยู่แล้วว่าผู้หญิงควรจะต้องการความ Perfect ของชีวิตมันควรจะเป็นอันนี้ ถ้าจบแบบ Happy Ending มันต้องเป็นอันนี้ จริง ๆ มันสบายกว่าด้วยนะ เพราะมันตีความได้ง่าย มันก็เป็นความเชื่อที่ก็เอามาทำอีก เราก็เล่น เรารู้ว่าเขาอยากเห็นอะไรจากผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งอันนั้นง่ายกว่าที่จะให้เราเป็นเราให้เขาเห็นด้วยซ้ำ” ทราย เจริญปุระ กล่าว

นอกจากนี้ ทราย เจริญปุระมองว่า ผีผู้หญิงของเอเชียที่กลับมาวนเวียนหลอกหลอน เพราะยังทำหน้าที่ของผู้หญิงไม่สำเร็จ ลักษณะร่วมของผีผู้หญิงเช่นแม่นาคนี้ ปรากฏในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วเอเชีย ที่มีเรื่องราวคล้ายคลึงกัน เห็นจากการนำ “นางนาก” ไปฉายในต่างประเทศ ซึ่งคนต่างชาติเข้าใจเรื่องราวของ “นางนาก” เพราะมีความรู้สึกร่วม จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอีกด้วย

อาจารย์คมกฤช กล่าวเสริมว่า บริบทของสังคมยุคโบราณหรือยุคสังคมเกษตรกรรม การมีลูกถือว่ามีความจำเป็น แต่เมื่อปัจจุบันบริบทของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว นิยามที่ว่าผู้หญิงต้องเป็น “แม่” และ “เมีย” นั้นจึงถูกตั้งคำถาม

ทราย เจริญปุระ แสดงความเห็นว่า นอกเหนือจากสื่อบันเทิงในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ถูกผลิตขึ้นจากมุมมองของผู้ชายแล้ว ผู้หญิงในปัจจุบันก็รับเอามุมมองแบบนี้มาตัดสินผู้หญิงด้วยกันเอง โดยสมมติว่า หากสามีเลิกรากับภรรยาไปแล้ว และผู้ชายได้แต่งงานใหม่ มีครอบครัว มีภรรยาและลูก ผู้หญิงที่เป็นอดีตภรรยาก็จะถูกวิจารณ์ว่า ผู้ชายไม่ได้ต้องการผู้หญิงเก่ง ผู้ชายต้องการเพียงแม่ของลูก ซึ่งทราย เจริญปุระมองว่า คนส่วนใหญ่ที่วิจารณ์ผู้หญิงในกรณีนี้ก็คือผู้หญิงด้วยกันเอง เมื่อมีการผลิตสื่อบันเทิงจึงผลิตซ้ำโดยยึดคติความคิดเหล่านี้ เพราะยังสามารถตอบ “โจทย์” และ “ขายได้” อยู่นั่นเอง

“แม้กระทั่งตัวผู้หญิงเองก็ตัดสินกันเอง มันมีระดับขั้นของความเป็นผู้หญิงกว่า ความเป็นผู้หญิงที่สุด อะไรแบบนี้อยู่ ทรายไม่ว่าจะออกความเห็นในมุมไหนก็ตาม คนที่ตัดสินทรายรุนแรงที่สุดคือผู้หญิงด้วยกัน ผู้ชายเขาจะรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องที่เขาจะต้องลงไปด่าทอ นี่มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะไปพูด…ถ้าจะพูดถึงเรื่องทำร้ายกัน หรือตัดสินกัน หรือให้คุณค่ากัน ผู้หญิงจะทำรุนแรงที่สุด เขาจะรู้สึกว่าเขาเอาตัวเขาเป็นเกณฑ์ได้ ถ้าเป็นฉัน ๆ จะไม่ทำอย่างนี้ ถ้าเป็นฉัน ๆ ไม่ยอม ฉันต้องขัดขืน ฉันต้องอะไร ๆ ใด ๆ ก็แล้วแต่ว่าคุณค่าของแต่ละคนยึดถือตรงไหนกัน ดังนั้น เมื่อมีผู้หญิงสักคนที่ดูจะโจมตีได้ด้วยความเป็นผู้หญิงกว่าของตัวเอง คนนั้นจะเป็นเหยื่อทันที” ทราย เจริญปุระ กล่าว

ไม่เพียงแค่เรื่องของ “ผี” ผู้หญิงอย่างเดียวเท่านั้น อาจารย์อานันท์ให้ความสำคัญกับ “ผี” ที่ถูกสังคมผลักออกไป เพียงเพราะไม่สามารถดำเนินตามกรอบที่สังคมต้องการให้เป็น นั่นคือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นผีที่ยังมีชีวิตและลมหายใจ

ทราย เจริญปุระเองก็มองว่า ตนก็เป็น “ผี” ตนหนึ่งของวงการบันเทิงเพราะเป็นนักแสดงที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่าง ๆ จนทำให้ถูกมองว่าไม่เหมือนนักแสดงคนอื่น ๆ จึงมักมีคำถามถึงตนว่า ทำไมออกมาพูดเรื่องนั้น ทำไมออกความเห็นเรื่องนี้ ซึ่งทราย เจริญปุระกล่าวว่า “แล้วทำไมจะต้องไม่พูด?” แต่กรณีนี้ไม่ได้ทำให้ลำบากใจ เพราะเป็นคนอื่นมาลำบากใจแทนมากกว่า และกล่าวว่า “สิ่งที่นักแสดงหญิงทุกคนทำได้ ทรายก็ทำได้ แต่พอทรายทำงอกออกมาอีกสิ่งหนึ่งที่เขาไม่ทำกัน เราก็มีความเป็นผี ๆ อยู่ขอบ ๆ อยู่รอบ ๆ คอยหลอกหลอนทุกคนในนั้น”

อาจารย์คมกฤชมองว่า ขณะนี้เป็นโลหแห่งความแตกต่างและหลากหลายซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ โจทย์สังคมเก่าคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นคนเหมือน ๆ กัน แต่สังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปกลายเป็นสังคมที่หลายหลายทั้งเรื่องความคิดและเพศ และกล่าวว่า “โจทย์มันจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ความหลายหลายแตกต่างมันอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่โจทย์ว่าทำอย่างไรให้ความหลากหลายมันหายไป…เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะในมุมของการศึกษา ศาสนา หรือแม้กระทั่งเรื่องสังคม การเมือง หรือไปถึงเรื่องความบันเทิง มันต้องตอบโจทย์อันนี้ ไม่ใช่โจทย์ที่เราต้องทำให้ผู้ชมมีรสนิยมเหมือนกัน…ผมคิดว่าโจทย์เปลี่ยน พอโจทย์เปลี่ยน คนที่อยู่ในแวดวงต่าง ๆ เหล่านี้ต้องคิดใหม่”

บทบาทของ “ผู้หญิง” บทพื้นที่ของโลกแห่งความตายในฐานะ “ผี” หลากหลายรูปแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงในแต่ละยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม ชีวิตของผู้หญิงไม่ได้เดินทางไปถึงคำตอบของคำถามที่ว่าจะแต่งงานเมื่อไหร่? จะมีลูกตอนไหน? การนิยามความสมบูรณ์แบบชีวิตผู้หญิงจึงขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกยึดสิ่งใดเป็นคุณค่าให้ชีวิตของตน


[Live] 13.20-16.00 น. ล้อมวงเสวนา #พลังสตรีผีเฮี้ยน (4 มี.ค. 63)

[Live] 13.20-16.00 น. ล้อมวงเสวนา #พลังสตรีผีเฮี้ยน (4 มี.ค. 63)ล้อมวงเสวนา "พลังสตรี ผี เฮี้ยน" พบกับ• คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : อ.ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร• อานันท์ นาคคง : นักมานุษยวิทยาดนตรี/ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล "ศิลปาธร"• อินทิรา เจริญปุระ : นักแสดง/นักเขียน ดำเนินรายการ • อัญชลี โปสุวรรณณ ลานกิจกรรมหน้าห้องสมุด อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส#ThaiPBS #ไทยบันเทิง📌 ชดสดเฉพาะออนไลน์• Facebook Live :

โพสต์โดย Thai PBS เมื่อ วันอังคารที่ 3 มีนาคม 2020