8 มีนาคม “วันสตรีสากล” เริ่มในสหรัฐฯ ขยายไปยุโรป และมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติรัสเซีย

วันสตรีสากล 8 มีนาคม ผู้หญิง รัสเซีย ชุมนุม ประท้วง
กลุ่มผู้หญิงรัสเซียร่วมการประท้วงในวันสตรีสากลเมื่อปี 1917 ที่เปโตรกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในปัจจุบัน)

วันสตรีสากล 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยในปี 1908 ได้มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในนิวยอร์ก ด้วยการเดินขบวนของผู้หญิงกว่า 15,000 คน เพื่อเรียกร้องชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง ค่าจ้างที่ดีขึ้น และสิทธิในการลงคะแนนเสียง

ในปี 1909 พรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกาได้จัด “วันสตรีแห่งชาติ” เป็นครั้งแรก ตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีผู้หญิงจำนวนมากออกมาเดินขบวนในหลายเมืองทั่วประเทศ จากนั้นจึงได้กำหนดให้วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์เป็น “วันสตรีแห่งชาติ” เรื่อยมาจนถึงปี 1913

ในปี 1910 สภาสังคมนิยมสากลได้เห็นชอบให้มีการจัดงาน “วันสตรีสากล” หลังการผลักดันของ คลารา เซตกิน (Clara Zetkin) นักกิจกรรมชาวเยอรมัน และในปีถัดมา หลายประเทศในยุโรปจึงเริ่มจัดงานวันสตรีสากลเป็นครั้งแรก ในวันที่ 19 มีนาคม มีประชาชนรวมกันนับล้านที่เข้าร่วมการเดินขบวนในวันนี้

ในวันที่ 8 มีนาคม 1917 (23 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินจูเลียน) สาวรัสเซียได้ออกมาเดินขบวนเนื่องในวันสตรีสากล พร้อมกับการประท้วงเพื่อ “ขนมปังและสันติภาพ” หลังทหารรัสเซียต้องเสียชีวิตไปกว่า 2 ล้านรายในสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้รัฐบาลของกษัตริย์รัสเซียพยายามกำราบ แต่ประชาชนยังคงลุกฮือต่อต้านอย่างแข็งขัน จนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกขับออกจากราชบัลลังก์

Woman’ s Day, German poster printed in Munich for March 8, 1914. (ภาพโดย Karl Maria Stadler)

ในปี 1921 เป็นวันกำเนิด วันสตรีสากล 8 มีนาคม อย่างเป็นทางการ ซึ่งในทศวรรษถัดมาหลังการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการลงคะแนนเสียงของสตรีเป็นผลสำเร็จ การให้ความสำคัญกับวันสตรีสากลจึงค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งถึงทศวรรษที่ 1960 เมื่อลัทธิสตรีนิยมเริ่มเติบโตขึ้น และด้วยการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ วันสตรีสากลจึงถูกกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

ปัจจุบัน วันสตรีสากล ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้ส่งเสริมสิทธิสตรี และบอกเล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่ผู้หญิงต้องประสบโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“About International Women’s Day”. International Women’s Day. <https://www.internationalwomensday.com/About> Accessed 7 Mar 2017.

“International Women’s Day”. Encyclopedia Britannica (5 May 2011) <https://global.britannica.com/topic/International-Womens-Day> Accessed 7 Mar 2017.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2560