เผยแพร่ |
---|
การขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศไทย นอกจากจะมีศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์และโบราณดคีมาเกี่ยวข้องแล้ว ยังมีด้านไสยศาสตร์หรือที่นิยมเรียกกันว่า “มูเตลู” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ในเสวนา “อยุธยาที่ไม่มู ฝ่ากระแสมู ดูอยุธยา มรดกของเราและของโลก” ในวันพฤหัสบดี 16 กรกฎาคม 2563 ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองโดย อาจารย์ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส, อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ และคุณสุริษา มุ่งมาตร์มิตร บรรณาธิการข่าวศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส
อาจารย์ปฏิพัฒน์บอกเล่าเรื่องราวการขุดค้นโบราณสถานที่อยุธยาไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งได้ลงพื้นที่สำรวจขุดค้นเมื่อราว พ.ศ. 2527 อาจารย์ปฏิพัฒน์กล่าวว่า “…พอขุดลงไป พบเพียบเลย ผี ผีอยุธยาจริง ๆ เพราะว่าเป็นคนอยุธยาตาย ตั้งแต่สมัยอยุธยา สองร้อยกว่าศพ…” โดยบริเวณที่ขุดค้นนี้พบโครงกระดูกกว่า 200 โครง
โดยเฉพาะการขุดค้นพบโครงกระดูกที่สำคัญ 2 โครง อาจารย์ปฏิพัฒน์เล่าสาเหตุการขุดค้นว่า ราวสามทุ่มวันหนึ่ง บริเวณศาลคาทอลิกที่ชาวบ้านตั้งไว้ ได้สังเกตเห็นคนอยู่บริเวณนั้น เมื่อเรียกนักประวัติศาสตร์และชาวบ้านมาดูก็เห็นเป็นเช่นเดียวกัน รุ่งเช้าจึงให้เริ่มขุดค้นบริเวณนั้น เมื่อขุดลงไปจึงพบโลงศพตั้งคู่กันอยู่ ไม่เหลือสภาพโลง สภาพเหลือแต่ปูนขาวที่ใส่ไว้ในโลง ซึ่งปูนขาวพอกโครงกระดูกเอาไว้ จึงทำให้มีสภาพสมบูรณ์
เมื่อนายแพทย์ สุด แสงวิเชียร ได้ลงพื้นที่สำรวจและตรวจพิสูจน์วิเคราะห์โครงกระดูกนี้ พบว่า โครงกระดูกหนึ่ง พบรอยแตกระหว่างคิ้ว ซึ่งไม่อาจแตกโดยสาเหตุธรรมชาติได้ น่าจะถูกกระแทกด้วยของแข็ง และยังพบว่าไหปลาร้าหักอีก ตรวจสอบโดยละเอียดพบว่าเป็นโครงกระดูกของมนุษย์คอเคซอยด์ ซึ่งแน่ชัดว่าต้องเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา สรุปได้ว่า คน ๆ นี้ถูกฆาตกรรมจนถึงแก่ความตาย
นักประวัติศาสตร์จึงต้องหาหลักฐานมาประกอบและไขปัญหาโครงกระดูกนี้ กระทั่ง พบเอกสารฉบับหนึ่ง เป็นจดหมายของพวกมิชชันนารีในสมัยอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรรพรรดิ์ มีบาทหลวง 2 องค์ เดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในอยุธยา องค์หนึ่งถูกฆาตกรรม อีกองค์หนึ่งเดินทางกลับไปมะละกา และภายหลังจึงเดินทางกลับมาอยุธยาอีกครั้ง ก่อนจะถึงแก่กรรมที่อยุธยาเช่นเดียวกัน
บาทหลวงชาวโปรตุเกส 2 องค์เป็นบาทหลวงในคณะโดมินิกัน ชื่อ เจอโรนิโม ดาครูซ (Jeronimo da Cruz) และ เซบาสติเอา ดา คูโต (Sebastiao da Couto) ซึ่งมีบันทึกว่าบาทหลวงเจอโรนิโม ดาครูซถูกฆาตกรรม ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า โครงกระดูกที่พบพบรอยแตกระหว่างคิ้วนี้อาจเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงท่านนี้
อีกโครงกระดูกหนึ่ง ขุดลงไปพบเหล็กอยู่ตรงหน้าอก อาจารย์ปฏิพัฒน์หวนนึกถึงเรื่องแดรกคูลา คิดว่าน่าจะเป็นผีดิบหรืออะไร เพราะมีเหล็กตอกอยู่ที่หน้าอก ขณะที่คนงานขุดพบก็เกิดหวาดกลัว กระโดดขึ้นจากหลุมกันทั้งหมด คืนนั้นปรากฏว่ามีฝนตก จนน้ำท่วมหลุม ปรากฏว่าเช้าวันต่อมา ข่าวเรื่องการขุดค้นพบโครงกระดูกที่หมู่บ้านโปรตุเกสนี้แพร่กระจายเล่าลือไปทั่วอาณาบริเวณ กระทั่งมีชาวบ้านมาเจอน้ำท่วมอยู่ในหลุม ด้วยความเชื่อ ด้วยศรัทธา จึงตักน้ำจากหลุมไปอาบหรือดื่มกิน จนเล่าลือต่อ ๆ กันว่า ดื่มแล้วหายป่วยทุกโรค คนก็ยิ่งแห่กันมามากขึ้น เป็นอีกเรื่อง “มูเตลู” แบบไทย ๆ
นอกจากนี้ อาจารย์ปฏิพัฒน์ยังได้เล่าอีกว่า มีคนทรงขออนุญาตเข้ามาในพื้นที่ขุดค้น ด้วยเพราะไม่ทราบสาเหตุการตายของโครงกระดูกบริเวณนั้น และมีคนตายจำนวนมาก อาจารย์ปฏิพัฒน์จึงอนุญาตให้เข้าไป เมื่อคนทรงลงไปนอนกับโครงกระดูก ผ่านไปครึ่งชั่วโมง อาจารย์ปฏิพัฒน์ถามว่า “ตกลงเขา (ผี) บอกอะไรบ้าง” คนทรงตอบว่า “คุยกันไม่รู้เรื่อง คนละภาษา”
อาจารย์ปฏิพัฒน์กล่าวว่าพบเจอเรื่องแปลก ๆ นี้เป็นปกติ มักมีเรื่องราวลักษณะแบบนี้หรือคนแปลก ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีอยู่เสมอ ส่วนเรื่องเล้นลับหรือ “มูเตลู” เหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญ แต่ไม่ได้จัดอยู่ในความสำคัญลำดับต้น ๆ ของการนำมาวิเคราะห์ในทางโบราณคดี

สำหรับโครงกระดูกกว่าสองร้อยโครงนี้ อาจารย์ปฏิพัฒน์กล่าวว่า “…จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า พวกผี ๆ ทั้งหลายในอยุธยาไม่ได้ตายเพราะว่าสงคราม แต่ตายเพราะเป็นไข้ทรพิษ… การเป็นไข้ทรพิษไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้จากโครงกระดูก เพราะว่ามันเป็นที่ผิวหนัง แต่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระบุไว้ว่าในช่วงท้ายของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เกิดโรคระบาดหนักในอยุธยา มีคนตายมากกว่าพันคนในต่อหนึ่งวัน เพราะฉะนั้น โครงกระดูกที่พบหมู่บ้านโปรตุเกส ส่วนใหญ่จำนวนหนึ่ง จึงตายเพราะว่าเป็นไข้ทรพิษ…”
โดยอาจารย์ปฏิพัฒน์อธิบายว่า ในการขุดค้นจะพบโครงกระดูกมีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ซึ่งอาจตายทั้งครอบครัว ซ้อนทับถมกันไปยังไม่ทันเน่าเปื่อย ก็นำปูนขาวโรยทับลงไป แล้วนำศพมาฝังทับถมอีก ดังนั้น จึงปรากฏร่องรอยปูนขาวอยู่ชัดเจน
เรื่อง “มูเตลู” นี้ก็มิใช่เรื่องที่จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ในมุมของคุณสุริษานั้น ก็พบเจอเรื่องราวลักษณะเช่นนี้บ่อยครั้ง แต่ไม่เลือกที่จะนำเสนอผ่าน “สื่อ” ออกมาในรูปแบบความลี้ลับ น่ากลัว ชวนหัว แต่เรื่อง “มูเตลู” อย่างเช่น การทรงเจ้า ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิต เห็นถึงประเพณีของคนที่มีต่อสิ่ง ๆ หนึ่ง เป็นวัฒนธรรมที่ก่อตัวขึ้นผ่านสิ่งเหนือธรรมชาติ
ในขณะที่อาจารย์รามมองว่า เรื่อง “มูเตลู” รวมถึง “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” และประวัติศาสตร์ที่ถูก “แต่ง” ขึ้นนั้นก็มีประโยชน์ แต่ต้องวางอยู่บนหลักฐาน แม้การเชื่อเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ก็ต้องนำมาตรวจสอบเทียบเคียงกับหลักฐาน เทียบเคียงกับข้อเท็จจริง โดยต้องแยกหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชิงประจักษ์ออกจากเรื่องที่แต่งขึ้นภายหลัง
ติดตามชมย้อนหลังได้ที่นี่ https://www.facebook.com/ArtClubThaiPBS/posts/3136534686453314