สมมติฐานใหม่ที่ “บ้านโปรตุเกส” วัดโดมินิกัน ข้อมูลที่ด่วนสรุป?

(ซ้าย) แผนที่กำหนดที่ตั้งของโบสถ์สำคัญ ๓ แห่งในหมู่บ้านโปรตุเกส , (ขวา) หนังสือ "ไทย-โปรตุเกส หลายทศวรรษแห่งสายสัมพันธ์"

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในบรรดามหามิตรตะวันตกนั้น “โปรตุเกส” คือฝรั่งชาติแรกที่มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย โดยหลักฐานในอดีตหลายอย่างยังคงยืนยงเป็นพยานจนถึงปัจจุบัน และในพยานใหญ่น้อยทั้งหลาย “บ้านโปรตุเกส” เป็นหลักฐานพยานหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี

โดยในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มีการขุดแต่งโบราณสถานในหมู่บ้านโปรตุเกส ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากมูลนิธิกุลเบงเกี่ยน (A Fudacao Calouste Gulbenkian) ประเทศโปรตุเกส และการทำงานของกรมศิลปากร ในการขุดแต่งพื้นที่ตรงข้ามหมู่บ้านญี่ปุ่นที่เรียกว่า “บ้านนักบุญเปโตร” 

ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ ๑. กรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของมิสซังประเทศไทย ที่อนุญาตให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๒. พื้นที่ดังกล่าวกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว ๓. สถานที่ตั้งของโบราณสถาน การคมนาคมสะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ เหมาะแก่การปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เขาเรียกคณะโดมินิกัน 

สิ่งที่พบจากการขุดแต่งในคราวนั้น แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม คือ ๑. ซากโบสถ์ เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวอาคารกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร ฐานอาคารสูง ๑.๖๐ เมตร ๒. โครงกระดูกจำนวนกว่า ๒๐๐ โครง ทั้งใน-นอกอาคาร โดยในบริเวณทิศตะวันออก มีการกำหนดขอบเขตที่ฝังศพด้วยการก่ออิฐโดยรอบ เพื่อแสดงขอบเขตที่ตั้งศพอย่างแน่นอน ๓. โบราณวัตถุสำคัญทางศาสนา เช่น กางเขน ลูกประคำ เหรียญรูปเคารพทางศาสนา ฯลฯ ๔. เงินตราทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น เบี้ยจั่น เหรียญกษาปณ์ไทยและต่างประเทศ ฯลฯ ๕. เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ขวดแก้ว กระสุนปืน กล้องยาสูบ กำไลสำริด เครื่องกระเบื้อง ฯลฯ

การขุดแต่งในครั้งนั้นเสร็จสิ้น ได้มีพิธีเปิดโบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกสอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ กรมศิลปากรได้จัดทำหนังสือชื่อ “ไทย-โปรตุเกส หลายศตวรรษแห่งสายสัมพันธ์” บทความหนึ่งในหนังสือเล่มนั้นที่ชื่อว่า “ศาสนาคารซาวโดมิงโก จุดเริ่มต้นแห่งการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในกรุงศรีอยุธยา” เรียบเรียงโดยศิริพันธ์ ตาบเพ็ชร์ กล่าวถึง

“สมณทูตคณะแรกที่เป็นทางการเดินทางเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาเป็นบาทหลวงในคณะโดมินิกัน ๒ ท่าน คือ บาทหลวงเจรอนิโม ดา ครูซ (Jeronimo da Cruz) กับบาทหลวงเซบาสติเยา ดา กานตู (Sebastiao da Canto) บาทหลวงทั้งสองได้พำนักอยู่ในโบสถ์ซาวโดมิงโก หรือเซนต์โดมินิค ของคณะโดมินิกัน ซึ่งเป็นโบสถ์หลังแรกในหมู่บ้านโปรตุเกส เป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี

ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ บาทหลวงคณะใหม่ในคณะฟรานซิสกันได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาอีก ๒ ท่าน เข้ามาสร้างโบสถ์ของตนเองขึ้นในบริเวณทางทิศเหนือของค่าย

การขุดแต่งที่หมู่บ้านโปรตุเกส อยุธยา

ในปี พ.ศ. ๒๑๕๒ บาทหลวงในคณะเยซูอิตก็เดินทางเข้ามาสมทบในค่ายโปรตุเกส ได้สร้างโบสถ์ของตนเองขึ้นในบริเวณท้ายค่ายอีกหลังหนึ่ง มีชื่อว่า ซาวเปาโล หรือเซนต์พอล…”

โดยโบสถ์ในหมู่บ้านโปรตุเกส ปรากฏหลักฐานในเอกสารหลายฉบับดังนี้ คือ ๑. บันทึกของแกมป์เฟอร์ (Kaempfer) ที่กล่าวถึงการตั้งหมู่บ้านของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาว่า “ทางทิศใต้มีหนทางแคบๆ ลงสู่แม่น้ำ ชาวดัทช์ตั้งโรงงานและร้านค้าที่หรูหรา สะดวกสบายบนพื้นที่แห้ง ต่ำลงไปอีกนิดบนฝั่งเดียวกันนั้น มีหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น พะโค และมะละกา ฝั่งตรงข้ามมีชาวโปรตุเกสที่เกิดจากชนพื้นเมือง ถัดออกไปเป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์โดมิงโก เป็นคณะบาทหลวงชาวโดมินิกัน ด้านหลังโบสถ์เล็กๆ อีกหลังหนึ่งชื่อเซนต์ออสติน เป็นของบาทหลวง ๒ ท่าน ไม่ไกลจากนี้เท่าใดนัก มีโบสถ์เยซูอิตชื่อเซนต์พอลซึ่งเลียนแบบมาจากโบสถ์ใหญ่ในเมืองกัว”

๒. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ของบาทหลวงกีร์ ตาชาร์ด ความว่า “ที่กรุงสยามนั้นมีวัดโปรตุเกส ประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากกว่าสี่พันคน วัดทั้งสองแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสังฆราชแห่งเมืองมะละกา” 

๓. แผนที่จากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนในปี พ.ศ. ๒๒๓๐ ได้แสดงอาณาบริเวณของค่ายโปรตุเกสและแสดงขอบเขตตำแหน่งของโบสถ์ ๒ หลัง อธิบายว่า

“The Portuguese Jacobins (Jacobin เป็นภาษาฝรั่งเศส ตรงกับภาษาอังกฤษว่าโดมินิกัน) อยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านญี่ปุ่น The Portuguese Jesuits อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน” 

การได้ข้อมูลจากการขุดแต่งและเอกสาร นำมาซึ่งบทสรุปถึงโบสถ์สำคัญ ๓ แห่งในหมู่บ้านโปรตุเกสไว้ดังนี้ ทางทิศเหนือของโบสถ์ซาวโดมิงโก คณะโดมินิกัน เป็นที่ตั้งของโบสถ์คณะฟรานซิสกัน ส่วนทางทิศใต้เป็นโบสถ์ซาวเปาโล ของคณะเยซูอิต (หนังสือ “ไทย-โปรตุเกส หลายศตวรรษแห่งสายสัมพันธ์” จัดทำแผนที่ระบุตำแหน่งของโบสถ์ทั้งสาม)

แผนที่กรุงศรีอยุธยา โดยลาลูแบร์ แสดงอาณาบริเวณในค่ายโปรตุเกส

ส่วนโครงกระดูกที่พบนั้น เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส” วันที่ ๒๓-๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ ในส่วนของ “ข้อมูลที่ได้มาจากหมู่บ้านชาวต่างประเทศ” เขียนโดยคุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ระบุว่า

“พระสังฆราชเฟอร์นานโด เดอ ซานมาเรีย แห่งเมืองกัว ส่งบาทหลวง ๒ รูป ที่ชื่อบาทหลวงเจอโรนิโม ดา ครูซ กับบาทหลวงเซบาสติโอ ดา คูโต ซึ่งเป็นบาทหลวงในคณะโดมินิกันที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยา…

ในการขุดค้นทางตอนหน้าของแท่นบูชา ซึ่งพบโครงกระดูกเรียงรายอยู่เป็นแนวเดียวกันประมาณ ๗ โครง จากลักษณะทิศทางการวางศพและตำแหน่งที่ฝังนั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นศพของบรรดาบาทหลวงที่เข้ามาเสียชีวิตในระหว่างที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในกรุงศรีอยุธยา บาทหลวงสององค์แรกมีทิศทางการวางศีรษะที่แตกต่างไปจาก ๕ โครงหลัง 

อาจจะเป็นการด่วนเกินไปหากจะสันนิษฐานว่าโครงกระดูกสองโครงที่พบอยู่ทางด้านทิศใต้สุดของแถวบาทหลวงนั้นเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงเจอโรนิโม ดา ครูซ กับบาทหลวงเซบาสติโอ ดา คูโต ทั้งๆ ที่จากการตรวจสอบสภาพของโครงกระดูก…โดยศาสตราจารย์สุด แสงวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญทางกายวิภาคศาสตร์ ระบุว่า โครงนี้ถูกฆาตกรรม โดยมีร่องรอยของกะโหลกส่วนหน้าที่ถูกกระทบโดยของแข็งจนแตกยุบ…

จำนวนบาทหลวงที่เสียชีวิตซึ่งมีอยู่ประมาณ ๗ รูปนั้นก็ไม่เป็นเรื่องที่จะเกินจากความเป็นจริงไปได้ โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ของการเผยแพร่ศาสนาของคณะโดมินิกันระบุไว้ด้วยว่า บาทหลวงองค์แรกนั้นถูกฆาตกรรมโดยชาวมุสลิม ในปี พ.ศ. ๒๑๐๙ และอีกองค์หนึ่งก็เสียชีวิตลงในระหว่างสงครามอยุธยากับพม่า ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ เช่นกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าบาทหลวงทั้งสองรูปนั้นคือโครงกระดูกสองโครงนั่น” 

ส่วนโครงกระดูกมนุษย์ที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนั้น มีนักวิชาการและมัคคุเทศก์หลายท่านอธิบายไปในแนวทางเดียวกันว่า

“โครงกระดูกชุดหนึ่งที่เราขุดพบ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ เพราะถูกฆาตกรรมตาย โดยพบว่ากระดูกบริเวณหน้าผากแตก สันนิษฐานว่าถูกตีด้วยของแข็ง เจ้าหน้าที่คณะขุดค้นมีการสืบค้นเอกสารอีก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโครงกระดูกดังกล่าวน่าจะเป็นของบาทหลวงเจรอนิโม ดา ครูซ ๑ ใน ๒ ของบาทหลวงคณะโดมินิกันที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยา เพราะตามเอกสารที่ระบุไว้ในประมาณปี ค.ศ. ๑๕๖๖ (พ.ศ. ๒๑๐๙) มีความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์ บาทหลวงเจรอนิโม ดา ครูซ ถูกตีที่บริเวณหน้าผากเสียชีวิต”

แล้วเคยมีใครตั้งคำถามหรือไม่ว่า ทำไมโปรตุเกสจึงเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา? ทำไมจึงเชื่อว่าสถานที่ทำการขุดแต่งคือวัดของคณะโดมินิกัน? ทำไมจึงมีคำร่ำลือว่าโครงกระดูกที่พบเป็นของบาทหลวง ๒ ท่านแรกที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา? 

บทความและคำอธิบายของบาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธ์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ช่วยอธิบายคำตอบข้างบนได้ดี

ทำไมเป็นโปรตุเกส? 

บทความเรื่อง “มิสซังในอดีต…สู่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ” (จาก www.catholic.or.th/archbkk/historybkk/archbkk5/archbkk5.html) กล่าวถึงการเข้ามาของโปรตุเกสว่า

“ในศตวรรษที่ ๑๔ และ ๑๕ แขกมุสลิม หรือพวกเติร์ก (Turk) กำลังมีอำนาจมากและรุกรานยุโรป และเมื่อเมืองสำคัญ เช่น Constantinople ถูกตีแตกในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๔๕๓ (พ.ศ. ๑๙๙๖) ชาวยุโรปและพระศาสนจักรเองก็เริ่มกลัวกันว่า ยุโรปจะรอดพ้นมือของพวกเติร์กหรือไม่ในยุโรป

ตอนนั้นก็มีเพียงประเทศ ๒ ประเทศที่มีอำนาจและเข้มแข็งเพียงพอที่จะต้านทานการรุกรานของพวกแขกมุสลิมได้ ได้แก่ โปรตุเกสและสเปน นอกจากมีอำนาจและกำลังเพียงพอแล้ว ยังมีความก้าวหน้าในการสำรวจดินแดนใหม่ๆ อีกด้วย กษัตริย์ของทั้ง ๒ ประเทศ (ซึ่งเป็นประเทศคริสตัง) ต่างก็ขออำนาจจากพระสันตะปาปา ที่จะทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อไปยังดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่ๆ เหล่านั้น บรรดาพระสันตะปาปาในสมัยนั้น ต่างก็เห็นถึงประโยชน์ทั้งด้านวิญญาณและด้านวัตถุด้วย ก็ได้มอบสิทธิพิเศษมากมายแก่พวกนักสำรวจของโปรตุเกส และสเปน และมอบหมายให้ทั้ง ๒ ประเทศนี้ทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้… 

บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธ์

โปรตุเกสและสเปนต่างก็เป็นมหาอำนาจด้วยกันทั้งคู่ในสมัยนั้น เพื่อมิให้ทะเลาะวิวาทและบาดหมางกันเอง โลกใบนี้ก็กว้างใหญ่ พระสันตะปาปา Alexander VI จึงได้ออกกฤษฎีกา Inter Caetera วันที่ ๓ พฤษภาคม ๑๔๙๓ (พ.ศ. ๒๐๓๖) แบ่งโลกออกเป็น ๒ ซีก โดยการขีดเส้นจากขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลกหนึ่ง ซีกโลกด้านตะวันตกมอบให้สเปน, ด้านตะวันออกมอบให้โปรตุเกส”

ทำไมเป็นวัดโดมินิกัน?

ส่วนบทสรุปจากการขุดแต่งในหมู่บ้านโปรตุเกสในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ นั้น คุณพ่อสุรชัยได้แสดงความคิดเห็นว่า “การสรุปว่าโบสถ์ที่อยู่ตรงข้ามหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นวัดซาวโดมิงโกของพระคณะโดมินิกันนั้นออกจะเร็วเกินไป แม้มีเอกสารอ้างอิงต่างๆ ที่กำหนดตำแหน่งของโบสถ์คณะโดมินิกันว่า โบสถ์ของคณะโดมินิกันตั้งอยู่ตรงกลาง โดยทิศเหนือมีโบสถ์ของคณะฟรานซิสกันที่เป็นอาคารเครื่องไม้ ส่วนทิศใต้มีโบสถ์ของคณะเยซูอิตที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน”

เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการขุดแต่งบริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นโบสถ์ของคณะเยซูอิตและคณะฟรานซิสกันเลย ถ้ามีการขุดค้นทางทิศเหนืออาคารเครื่องไม้ต้องไม่มีหลักฐานพยานให้เห็น แต่ทางตอนใต้น่าจะยังมีซากอาคารปูนหลงเหลือให้เห็น และหากพบซากอาคารทั้งทิศเหนือและใต้ สมมติฐานใหม่จะเกิดขึ้น

“เพราะหลังจากที่ลาลูแบร์ทำแผนที่ไปประมาณ ๑๐ ปี คือระหว่างปี ค.ศ. ๑๖๖๐-๑๖๗๐ (พ.ศ. ๒๒๐๓-๒๒๑๓) มีการสร้างวิทยาลัยซานซาวาดอร์ (San Salvador) ในพื้นที่หมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งเป็นทั้งที่พักและให้การศึกษาอบรม โดยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนเช่นกัน”

นอกจากนี้ยังมีบันทึกของบาทหลวง G.F. De Marini มิชชันนารีในคณะเยซูอิต กล่าวถึงการเดินทางมากรุงศรีอยุธยาของคณะเยซูอิตว่า เป็นไปเพื่อดูแลจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น เนื่องจากการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น เวลานั้นถูกต่อต้านอย่างรุนแรง มีแต่สยามที่ให้การต้อนรับคนทุกศาสนา คนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์จึงอพยพมาตั้งรกรากที่อยุธยา บาทหลวงคณะนี้เข้ามาดูแลเรื่องการทำพิธีต่างๆ เช่น มิสซา การล้างบาป ฯลฯ จึงมีความเป็นไปได้มากว่าที่ตั้งของคณะโดมินิกันปัจจุบันจะเป็นคณะเยซูอิต

ส่วนเรื่องโครงกระดูกที่อ้างอิงว่าเป็นของบาทหลวงเจรอนิโม ดา ครูซ บาทหลวงเซบาสติโอ ดา คูโต นั้น คุณพ่อสุรชัยยืนยันเป็นไปได้

“เมื่อคุณพ่อเจรอนิโม ดา ครูซ เสียชีวิตจากการขัดแย้งกับมุสลิมในอยุธยาจริง แต่ว่าศพของท่านนั้นคุณพ่อเซบาสติโอ ดา คูโต ได้นำไปประกอบพิธีที่เมืองมะละกา ส่วนตัวคุณพ่อเซบาสติโอ ดา คูโต นั้น ท่านเสียชีวิตที่อยุธยา ซึ่งเรื่องนี้มีการบันทึกไว้ในเอกสารของคณะโดมินิกันเป็นภาษาละติน Acta Capitulorum Generalium, Vol.V pp.149-153”

สำหรับโครงกระดูกจำนวนมากที่ขุดพบในบริเวณเดียวกันนั้น คุณพ่อสุรชัยตั้งข้อสันนิษฐานว่า ๑. การฝังศพซ้อนทับกันไม่ใช่เรื่องปกติที่ปฏิบัติกันในศาสนาคริสต์ แม้จะเป็นการตายด้วยโรคระบาดหรือสงครามก็ตาม ๒. พื้นที่ขุดพบโครงกระดูกบริเวณด้านหน้าของโบสถ์ ซึ่งหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยานั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าปฏิบัติเนื่องจากการคมนาคมสมัยนั้นอาศัยเส้นทางการจราจรทางน้ำเป็นหลัก และบริเวณด้านหน้าของโบสถ์ที่มีต้องใช้สัญจรไปมา และรับรองผู้คนนั้น ไม่ควรใช้เป็นที่ฝังศพ

“บทสรุปที่ชัดเจนในเรื่องคงอยู่ที่การสำรวจพื้นที่ข้างเคียงที่คาดว่าเป็นวัดของคณะฟรานซิสกันและคณะเยซูอิต แต่การดำเนินคงเป็นเรื่องยากพอสมควร เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองแห่ง แม้จะอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านโปรตุเกสเดิม แต่ปัจจุบันมีประชาชนเข้าพักอาศัยในพื้นที่ การเวนคืน หรือการสำรวจ”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านโปรตุเกส หรือโบราณสถาน และประวัติศาสตร์อื่นๆ เมื่อปรากฏหลักฐานพยานเดิม ก็ย่อมมีสมมติฐานใหม่ตามมาอยู่เนืองๆ ความจำกัดของเวลา เครื่องมือ และองค์ความรู้ในอดีตช่วยไขเรื่องที่ไม่รู้ แต่เมื่อวันเวลาในอนาคตจะช่วยลดทอนความจำกัดต่างๆ และคลี่ให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น


ที่มา : สมมติฐานใหม่ที่ “บ้านโปรตุเกส” วัดโดมินิกัน ข้อมูลที่ด่วนสรุป ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2548