ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การพูดคุยในเวที Talk : วาดประวัติศาสตร์ผ่านการ์ตูน โดย อรุณ วัชระสวัสดิ์, “สะอาด” ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ และ “หนุ่มเมืองจันท์” ผู้ดำเนินรายการ ส่วนหนึ่งของ สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์ “พลวัตวันชาติ” เวลา 15.00-16.00 น. ของวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ได้เผยมุมมองต่อการเมืองไทยของนักวาดการ์ตูนการเมืองรุ่นใหญ่กับร่นใหม่ ดังนี้
✨ เริ่มเขียนการ์ตูนได้ยังไง?
คุณสรกล อดุลยานนท์ หรือ “หนุ่มเมืองจันท์” เริ่มด้วยการถามถึงที่มาของการเขียนการ์ตูนของทั้งสองท่าน คุณอรุณเล่าว่า ตนมีความสนใจเขียนรูปตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเป็นคนร่างเล็ก เป็นนักกีฬาไม่ได้ แต่มีความสามารถในการเขียนรูป สร้างคุณค่าได้จากความสามารถนี้ ส่วนต้นแบบ และแรงบันดาลใจ คือการ์ตูนของคุณประยูร จรรยาวงษ์ นักวาดการ์ตูนไทยระดับตำนานผู้มีสมญา “ราชาการ์ตูนไทย”
ด้านคุณธนิสร์ (สะอาด) เผยว่า ความชื่นชอบด้านการเขียนการ์ตูนของตนมีที่มาจากความชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่น จึงชอบการนำเสนอเป็นช่อง ๆ ทั้งมีโอกาสได้ส่งต้นฉบับ และทำงานกับ บก. ตั้งแต่สมัยมัธยม ส่วนนามปากกา (สะอาด) มาจากการตั้งชื่อแบบไม่ได้คิดอะไรมาก ตามประสาเด็ก ๆ
✨ ทำไมสนใจเขียนการ์ตูนการเมือง?
คุณธนิสร์เล่าว่า เริ่มสนใจการเมืองในช่วงมัธยมปลาย ก่อนจะเข้าใจการเมืองมากขึ้นช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และกล้าที่จะใช้การ์ตูนเล่าการเมือง สั่งสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ ขณะที่คุณอรุณ เริ่มเขียนการ์ตูนการเมืองช่วง “14 ตุลาฯ” ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองค่อนข้างรุนแรง
“ผมเรียนศิลปากร มหาวิทยาลัยอยู่ใกล้ ‘สยามรัฐ’ หนังสือพิมพ์ที่เน้นการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับสนใจการเมืองอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สนใจแบบถูก-ผิด สนใจแบบรับรู้เป็นข่าวสาร” คุณอรุณเล่า
✨ ความแตกต่างของการ์ตูนยุคเก่า-ใหม่
คุณอรุณเล่าว่า สมัยก่อนคนทำงานศิลปะไม่ยอมรับการเขียนการ์ตูน เหมือนพระวัดป่ากับวัดบ้าน โดยให้ความเห็นว่า “เด็กรุ่นนี้มีโอกาสที่ดีมาก สามารถวาดการ์ตูน และเรียนศิลปะได้ด้วย แต่การเขียนการ์ตูนการเมืองยังมีความพิเศษอยู่ เพราะไม่มีการสอนที่ไหน ทุกวันนี้ก็ไม่มี ทุกอย่างเลยเป็นการแสวงหาของผมโดยตรง เป็นสูตรของผมเอง”
✨ “การ์ตูนอรุณ” เอาไอเดียมาจากไหน?
คุณอรุณเปรียบเทียบว่า ในหัวของตนมีเมฆอยู่ 2 ก้อน ก้อนแรกคือความความรู้ และประสบการณ์ อีกก้อนคือ ความสามารถในการเขียนการ์ตูน เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เมฆ 2 ก้อนจะลอยมาปะทะกัน แล้วออกมาเป็นผลงาน ประกอบกับตนเป็นคนชอบหนังสือพิมพ์ ชอบอ่านหนังสือ ความรู้ที่มีจึงมีส่วนส่งเสริมไอเดียดี ๆ ออกมาเรื่อย ๆ
ด้านคุณธนิสร์ เสริมเรื่องนี้ว่า ในบรรดาคนเขียนการ์ตูนการเมือง “สูตร” และไอเดียด้านการ์ตูนของคุณอรุณมีความหลากหลายมาก เรียกว่ามี “ลีลา” เยอะที่สุด จนอดประหลาดใจไม่ได้ว่าคิดได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม คุณอรุณเผยว่า ตนไม่ค่อยชอบผลงานของตัวเอง เพราะรู้ว่ามาสามารถทำใหม่ให้ดีกว่าเดิมได้
✨ ทำไม “สะอาด” เลือกเล่าประวัติศาสตร์ยุค 2475 ?
ด้านคุณธนิสร์ เล่าถึงที่มาหนังสือ “2475 นักเขียนผีแห่งสยาม” ผลงานการ์ตูนการเมืองของตนเองว่า เกิดไอเดียช่วง “ม็อบราษฎร” ทำให้อยากเล่าประวัติศาสตร์ 2475 เพราะหากเอามานำเสนอในรูปแบบการ์ตูนจะได้ความ “เซ็กซี่” เป็นรสชาติใหม่ของการเล่าประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ได้ฉุกคิดว่า เราจะเล่ายังไงได้บ้าง โดยเฉพาะการถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ ถ่ายทอดความกลัว ความโกรธ ความเกลียดของตัวละครในประวัติศาสตร์ช่วงเวลานั้น
“ผมคิดแล้วทำคนเดียวไม่ไหว เลยหาคนมาช่วย มารีเสิร์ช วางแผนว่าเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วฟอร์มทีม… นโยบายของทีมคือไม่อยากให้เนื้อหาผิด เพราะงานมันเซนซิทีฟ เราเลยระมัดระวังในทุกส่วน ทุกหลักฐาน คือเราแคร์นักศึกษาประวัติศาสตร์” คุณธนิสร์กล่าว
✨ นักเขียนการ์ตูนการเมืองต้องระวังอะไรบ้าง?
คุณอรุณเล่าว่า “ผมทำงานมานานเลยรู้ว่าอะไรควรเขียน อะไรไม่ควรเขียน การ์ตูนการเมืองสมัยก่อนกับสมัยนี้ไม่เหมือนกัน สมัยก่อนคนไม่ค่อยซีเรียสหรือรู้สึกกับการ์ตูนการเมืองมาก แต่ธรรมชาติของการ์ตูนการเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะมาชมใคร เหมือนนักมวยที่ขึ้นสังเวียนก็ต้องชก ไม่ใช่ขึ้นไปรำ”
คุณอรุณยังเสริมด้วยว่า การเขียนการ์ตูนหน้าคนจะมีเทคนิคอยู่ คน (ดัง) ที่เขียนเป็นการ์ตูนง่ายคือคนหน้าแปลก มีจุดเด่นบางอย่างบนใบหน้า คนหล่อ-สวยจะเขียนยาก
✨ ในมุมนักเขียนการ์ตูนการเมือง มองการเมืองไทยอย่างไร?
คุณธนิสร์ให้ความเห็นว่า “ในมุมผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และเอามาสร้างการ์ตูน ผมได้เห็นความเป็นมนุษย์จากตัวละครในประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่ธรรมะกับอธรรม แต่เป็นมนุษย์”
ด้านคุณอรุณบอกว่า “การ์ตูนผมเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ยังเอามาใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบันได้ ผมแค่เปลี่ยนตัวละคร มีคนแนะนำว่าทำไมไม่เอาเรื่องเก่าที่เข้ากับปัจจุบันกลับมาลง ผมบอกเลยว่าถ้าทำแบบนั้นคือใช้ได้เยอะมาก เพราะการเมืองไทยไม่เปลี่ยน เหมือนเดิมทุกอย่าง อาจเคยดีขึ้นแต่ก็กลับมาเหมือนเดิม”
ก่อนคุณสรกล หรือ “หนุ่มเมืองจันท์” จะกล่าวส่งท้าย Talk : วาดประวัติศาสตร์ผ่านการ์ตูน ว่า “ประวัติศาสตร์มันเดินด้วยคน ข้อเท็จจริงต่างหากที่ทำให้คนเปลี่ยนไป เพราะคนทุกคนต่างมองว่าตัวเองเป็นคนดีในมุมของตน”
อ่านเพิ่มเติม :
- “โรงแรมนรก” ภาพยนตร์ไทยคลาสสิก จากมุมมองของ เอส-คมกฤษ ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับร้อยล้าน
- ปาฐกถาพิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เปิดงาน ‘โมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์ พลวัตวันชาติ’
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2567