เล่าเรื่องจากนาอินทรีย์ ทางออกสุขภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในงาน “มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024”

เกษตรอินทรีย์ตัวจริง มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024

ปัญหาสุขภาพและการฟื้นฟูระบบนิเวศ สู่ “เกษตรอินทรีย์ตัวจริง” ทางเลือกแห่งอนาคต การทำนาอินทรีย์ที่ได้ทั้งสุขภาพดีและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  คอลัมนิสต์และนักเขียนสารคดี กับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและนักนิเวศวิทยา แชร์ประสบการณ์เรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 บนเวทีทอล์ก “เล่าเรื่องข้าวเกษตรอินทรีย์ : เกษตรอินทรีย์ตัวจริง ไม่ใช่คนโลกสวย ปลูกด้วยความอดทน สร้างความสุขผ่านผลผลิตคุณภาพ”

Advertisement

เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน “มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024” จัดโดยเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน งานที่รวบรวมพันธุ์ข้าวไทยไว้เยอะที่สุด มากที่สุด และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใจกลางกรุง ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 5

 “ทำนาอินทรีย์” ดียังไง?

การทำนาอินทรีย์ หรือเกษตรอินทรีย์ คือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ ที่สำคัญคือดีต่อสุขภาพของเกษตรกร คุณวันชัยเล่าว่า “ข้าวอินทรีย์คือคำตอบของโลกในอนาคต เพราะทำให้สุขภาพเราดีขึ้น ชาวนาจำนวนไม่น้อยปลูกข้าวอินทรีย์ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ เพราะมันได้ผลจริง ๆ”

ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวว่า “การใช้สารเคมีในการเกษตรคือการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการใช้คือการก่อแก๊สเรือนกระจก ทำดิน ‘ตาย’ ก่อมลภาวะมากมายตามแหล่งน้ำ บอกได้ว่า ปัญญาจากเกษตรเคมีรุนแรงและเกี่ยวพันกับปัญหาโลกร้อน”

แต่การทำนาอินทรีย์จะช่วยฟื้นคืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับพืชและสัตว์ได้ พร้อมกับห่างไกลจากสาระเคมีที่ก่อโรคต่าง ๆ ด้วย

 “ทุ่งน้ำนูนีนอย” พลิกฟื้นสู่ความสมบูรณ์

ทุ่งน้ำนูนีนอย ที่ อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ ผืนดินที่คุณวันชัยและ ดร.สรณรัชฎ์ ใช้เวลาหลายปีเปลี่ยนทุ่งนา 30 ไร่ เป็น “ทุ่งน้ำ” เปลี่ยนดินที่ถูกชโลมด้วยสารเคมีมาหลายปีจนดินเสื่อมโทรม ให้กลายเป็นระบบนิเวศใหม่ พาสัตว์ที่เคยหายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง เช่น นกนานาพันธุ์ ปลากัดป่า ที่เคยหายไป 20 ปี ก็กลับมาในพื้นที่นี้อีกครั้ง ระบบนิเวศใหม่นี้ยังจัดการตัวเองจนไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีใด ๆ แม้แต่น้อย

ดร.สรณรัชฎ์ เผยว่าการทำทุ่งน้ำเหมาะสำหรับการทำนาข้าว พื้นที่ดังกล่าวยังมีความสำคัญทางวัฒนธรรม เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบฝายเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี จึงอยากรักษาตรงนี้ไว้ แต่เป็นการรักษาไปพร้อมกับการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

“การทำระบบพื้นที่ชุมน้ำที่เราเอามาเรียกแบบไทย ๆ ว่า ‘ทุ่งน้ำ’ ทำเป็น 2 ฟังก์ชัน คือเพื่อให้บริการทางนิเวศวิทยา และเพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ผลิตอาหาร คำขวัญเราเลยเป็น ‘rewilding food production’ ”

ด้านคุณวันชัย เผยว่า ผลผลิตเฉลี่ยของข้าวทั้งประเทศคือ สี่ร้อยกว่ากิโลกรัมต่อไร่ แต่ทุ่งน้ำนูนีนอยได้ 516 กิโลกรัมต่อไร่ คือมากกว่าผลผลิตของข้าวที่ใช้สารเคมี แต่ผลผลิตดังกล่าวเกิดขึ้นในปีที่ 3 หลังการฟื้นฟูดิน แสดงถึงแนวโน้มของการเพิ่มผลิตข้าวต่อไร่เมื่อคุณภาพดินดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

วิทยากรทั้งสองท่านสรุปว่า การทำนาอินทรีย์ต้องใช้ความอดทนสูงมาก ต้องใช้เวลากว่า 3-5 ปี จึงจะเห็นผล เพราะต้องบำรุงดินที่ “ตาย” ไปแล้ว ให้กลับมามีแร่ธาตุสารอาหารอีกครั้ง ภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมหรือออกนโยบายต่าง ๆ ที่สนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น เพราะประโยชน์ 2 ต่อที่จะได้รับกลับมานั้นจะคุ้มค่าและยั่งยืนอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2567