ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
🌾 “ข้าว” ถือเป็นอาหารที่คนไทยขาดไม่ได้ คนไทยมีส่วนร่วมกับข้าวตั้งแต่ปลูกจนถึงปาก ในเมื่อ “ข้าว” ผูกโยงกับชีวิตของคนไทยขนาดนี้ แล้วอาหารมื้อหลักของไทยเริ่มตั้งแต่ตอนไหน เรื่องราวของข้าวเป็นอย่างไรบ้าง?
ถ้าใครสงสัย… เรื่องนี้ “ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้มาไขข้อข้องใจให้แล้วในงาน “มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024” งานที่รวบรวมเรื่องข้าว ๆ ไว้เยอะที่สุดที่หนึ่งในประเทศไทย ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 5
ภายใต้หัวข้อเสวนา “เล่าเรื่องข้าวในเชิงประวัติศาสตร์ : ตามรอยข้าวไทยจากกำเนิดอารยธรรมโลกสู่ดินแดนอุษาคเนย์” พร้อมบรรยากาศชิล ๆ สบาย ๆ ในยามเช้า ขณะที่คนต่างมานั่งฟังอย่างเนืองแน่น
🌾 คนกินข้าวตั้งแต่ตอนไหน?
ศิริพจน์ เริ่มต้นด้วยประเด็นนี้ที่ใครต่างก็อยากรู้ เขากล่าวว่ามนุษย์กินข้าวเป็นอาหารหลัก เมื่อตอนที่เริ่มทำเกษตรกรรม เพราะก่อนหน้านี้มนุษย์เราต่างก็ร่อนเร่ไปมา จนกระทั่งมีการทำเกษตร โดยเฉพาะพวกพืชตระกูลคาร์โบไฮเดรต ก็ทำให้คนอยู่ติดที่และเริ่มกินข้าวตั้งแต่นั้นมา
ข้าวที่พบเจอแรก ๆ จะอยู่ที่บริเวณพื้นที่แถบตะวันออกกลาง จากการพบเมล็ด ส่วนข้าวเจ้า ที่คนไทยกินกัน พบที่อินเดียใต้ ประมาณ 5,000 ปีก่อน ส่วนข้าวเหนียว ก็พบที่มหาสมุทรแปซิฟิก หรือจีน เมื่อ 9,000 ปีก่อน รวมถึงญี่ปุ่น
อินเดียและจีนถือเป็นประเทศที่ถูกกล่าวขานว่าค้นพบข้าวมาเป็นระยะเวลานาน ข้าวจึงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของตนเองและคนทั่วโลก
ในจีน มีการใช้ข้าว 3 ชนิดในประเพณีสำคัญอย่างการไหว้เจ้า ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวเหนียว ปรากฏในคัมภีร์สมัยราชวงศ์ฮั่น โดยต้องไหว้ข้าวสาลีเป็นอันดับแรก เนื่องจากข้าวสาลีออกผลผลิตต้นปี ตามด้วยข้าวฟ่าง ที่ออกผลกลางปี และข้าวเหนียวในช่วงปลายปี
ด้านอินเดีย ก็มีอิทธิพลในเรื่องชื่อและการใช้คำแทนข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ภาษาลาตินที่ใช้เรียกข้าวเจ้า อย่าง “Oryza sativa L.” หรือคำว่า “Rice” ที่แปลว่าข้าวในภาษาอังกฤษ ล้วนได้อิทธิพลมาจากอินเดีย
🌾 ข้าวไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ ทำไมคนไทยเรียกว่าข้าว?
ศิริพจน์ เล่าว่า ที่ไทยค้นพบหลักฐานเรื่องข้าวที่เก่าแก่ บริเวณถ้ำปุงฮุง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพบการปลูกข้าวในทั้งในที่ราบสูง อย่าง นครราชสีมา เมื่อ 1,500 ปีก่อน
เหตุที่คนเรียกว่าอาหารที่มีรูปเม็ดรีสีขาวนี้ว่า “ข้าว” มีอยู่ 2 ข้อสันนิษฐาน บ้างก็ว่าเป็นเพราะในอดีตคนไทยทั่วไปมักกินข้าวเหนียว ส่วนชนชั้นเจ้านายกินข้าวสวย เลยเรียกว่า “ข้าวเจ้า” ส่วนอีกอย่าง เป็นเพราะ “จ้าว” แปลว่าหมาด ๆ แห้ง ๆ ไม่เปียก หรือร่วนซุย ซึ่งตรงกับกายภาพของข้าวเจ้าที่เราเห็นนั่นเอง
🌾 เจาะลึก “ข้าวพันธุ์ไทย” แม้แตกต่างแต่มีดีไม่เหมือนกัน!
ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จะเริ่มมาเจาะลึกเรื่องข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่เริ่มขึ้นสมัยปฏิวัติเขียว ช่วง 2490 จนถึงต้น 2500 ซึ่งเป็นการปฏิวัติเกษตรกรรม เช่น ข้าว ให้มีคุณภาพหรือพันธุ์ที่ดีขึ้น ซึ่งข้าวแต่ละพันธุ์ ก็จะมีข้อจุดเด่นแตกต่างกันไปและเป็นข้าวที่คนไทยต่างรู้จักกันดี เริ่มต้นที่ “ข้าวหอมมะลิ”
เจ้าของเวทีเสวนาเล่าว่า… ข้าวชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากการผสมของข้าวอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนแรกข้าวหอมมะลิ มีชื่อเดิมว่าข้าวขาวมะลิ เริ่มปลูกที่ภาคกลาง ตามนโยบายการโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวระดับโลก หลังจากคนต่างตระหนักถึงความสำคัญของข้าวที่ขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ทว่าการปลูกที่ภาคกลางกลับไม่เวิร์กอย่างที่คิด จึงย้ายมาปลูกที่บริเวณภาคอีสาน ก่อนจะได้ผลดี เนื่องจากพื้นที่อีสานเต็มไปด้วยดินเค็ม มีความแห้งแล้ง รวมถึงพื้นที่แถวโคกพนมดี เนื่องจากในอดีตเป็นชายฝั่งทะเลมาก่อน
นี่จึงเป็นที่มาของ “ข้าวหอมมะลิ” อีกหนึ่งข้าวสายพันธุ์ดีของไทยที่ใครก็ต่างรู้จักและรับประทาน
ต่อมา ศิริพจน์ ยังพูดถึงข้าวปิ่นแก้ว ข้าวเสาไห้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดเด่นที่ชัดเจนในข้าวไทยแต่ละสายพันธุ์ ว่าไม่มีชนิดไหนที่ดีที่สุด แต่เป็นข้าวที่มีดีในแบบของตัวเอง
“พันธุ์ที่เคยดังมาก่อนข้าวหอมมะลิ คือข้าวปิ่นแก้ว หรือจะมีพันธุ์ข้าวที่กินกับแกงแล้วอร่อยกว่าข้าวหอมมะลิก็คือข้าวเสาไห้ จะร่วน ๆ พันธุ์ข้าวจะมีการกินต่างออกไป… ไม่จำเป็นต้องมีข้าวที่ดีที่สุด”
นอกจากนี้ยังพูดถึงเกร็ดสนุก ๆ ของ “ข้าว” อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ในอดีตคนไทยส่วนใหญ่กินข้าวเหนียวมากกว่าข้าวสวย ซึ่งส่งผลต่อวัฒนธรรมภาพรวมอย่างวัฒนธรรมการกินแบบจิ้มของไทย จนเกิดคำว่า “กับข้าว” ที่ไม่ปรากฏในภาษาอังกฤษ
รวมถึงเรื่องเล่าสุดสนุกในบันทึกของลาลูแบร์ ที่เชื่อมโยงกับประโยค “กินข้าวกินปลามาหรือยัง?” โดยประโยคนี้เกิดมาจากสมัยอยุธยาที่คนไทยล้วนกินข้าวกับปลา กับแมลง ไม่ปรากฏการกินสัตว์ใหญ่อย่างในปัจจุบัน
📍 ใครที่อยากฟังเรื่องสนุก ๆ เกี่ยวกับ “ข้าว” พร้อมชม ชิม ชอป โชว์ และแชร์ เรื่องข้าวแบบจุใจ มาพบกันได้เลยที่งาน “มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024” ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน นี้ เวลา 10.00-20.00 น. ที่ สามย่านมิตรทาวน์ฮออล์ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 5
อ่านเพิ่มเติม :
- ขนมจีน (ยี่) ปุ่น หรือเมี่ยงข้าวปุ้น (ลาว) สำรับนี้ “ยี่ปุ่น” ตรงไหน!?
- “จีน” ลูกค้ารายใหญ่ ซื้อข้าวอยุธยา ยุค “พระเจ้าท้ายสระ-พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2567