ปฏิทินถิ่นอุษาคเนย์ ไม่ได้มีแค่ปี พ.ศ. กับปี ค.ศ.

(บางส่วนของ) ปฏิทิน พ.ศ. 2458 จากร้านมรดกไทย ถ่ายโดย ประเวช ตันตราภิรมย์ นิตยสารสารคดี

ปฏิทิน เป็นศัพท์ผูกใช้ทางภาษาบาลี มาจาก ปฏิ+ทิน (สันสกฤต ปฺรติทิน) แปลว่า ช่วงเวลา 24 ชั่วโมงเฉพาะ แต่ชาวฮินดูเองรู้จักปฏิทินในชื่อว่า “ปัญจัง (Panchang)” เพราะหมายถึง

1. ดิถี-ค่ำ หรือข้างขึ้น (ศุกลปักษ์) และข้างแรม (กาฬปักษ์) ในหนึ่งรอบเต็มมี 30 ดิถีด้วยกัน

2. วาร-วันนับตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นเป็นเกณฑ์ มี 7 วัน ไม่นับเที่ยงคืนว่าเป็นวันใหม่

3. นักษัตร-27 ดาวฤกษ์ตามการยึดครองเสวยฤกษ์ ของดวงจันทร์

4. โยค-การพบกันแห่งดวงดาว และตำแหน่งโคจรของดวงดาว

5. กรณะ-ช่วงเวลาหรือยาม หรือครึ่งดิถีจันทร์ซึ่งมี 60 เสี้ยวในหนึ่งรอบ

รวมทั้ง 5 องค์นี้ประกอบขึ้นเป็นปฏิทินสำหรับชาวภารตะในชมพูทวีป นับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5,000 ปี ด้วยเหตุนี้วันและเดือนทางจันทรคติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการกำหนดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น วันพระจันทร์เพ็ญ วันพระจันทร์ดับ (อมาวาสี) ในที่นี้จะนำเสนอแง่คิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนปีศักราชใหม่ ทั้งในระบบจันทรคติและสุริยคติที่ใช้ลักลั่นกันในดินแดนชมพูทวีปฮอดสุวรรณภูมิ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักความเชื่อถือที่แนบอิงกับหลักโหราศาสตร์ (ตำราว่าด้วยวิชาบอกวัน-คืนดีหรือร้าย), ดาราศาสตร์ (ตำราว่าด้วยวิชาดวงดาวบนท้องฟ้า), ศาสนศาสตร์ (ตำราว่าด้วยความเชื่อถือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ) เป็นแนวกำหนด

ปฏิทินอินเดีย

ชาวฮินดูส่วนใหญ่ใช้ศักราชแบบทางการ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกเรียกว่าวิกรม (Vikram Samvat = ว.ส.) คือปีของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ เท่ากับ พ.ศ. 485 และแบบที่สองได้รับความนิยมแพร่หลายมากในปัจจุบันเรียกว่าศกะ (Shaka) ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่เรารู้จักกันในนามว่ามหาศักราช (ม.ศ.) ซึ่งเท่ากับ พ.ศ. 621 สาเหตุจำเป็นต้องตั้งชื่อเพิ่มให้ว่าเป็น มหาศกะ เพื่อบ่งบอกถึงพระเจ้าศกะใหญ่ เพื่อไม่ให้ซ้ำและสับสนกับปีของพระเจ้าศกะน้อย คือจุลศักราช (จ.ศ.) ของพม่า นอกจากนี้ ในโหราศาสตร์ฮินดูยังได้ระบุถึงศักราชระบบอื่นๆ ที่เลิกนิยมใช้กันแล้ว ชื่อว่า ยุฐิษฎร์ศกะ (ย.ศ.) ซึ่งบอกว่าเริ่มใช้ประมาณก่อน พ.ศ. 5,000 ปี และศักราชที่เก่าแก่รองลงมา โดยถือว่าเป็นพื้นฐานแม่แบบของศักราชอื่นๆ ใน เวลาต่อมา เรียกกันว่ากลียุคศักราช (ก.ศ.) ซึ่งเท่ากับก่อน พ.ศ. 2,559 ปี

คำว่า ศกะ เป็นคำในภาษาสันสกฤต มีความหมายที่คลุมเครืออยู่มาก คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นชื่อของพระมหากษัตริย์ในอดีตพระองค์หนึ่งของอินเดียทางตอนเหนือโดยเฉพาะมุ่งหมายถึงพระเจ้าศาลิวาหะนะ (ศาลิวะหัน) แต่นักปราชญ์ยังไม่ลงมติแน่นอนถึงความหมายนี้ เพราะอาจจะหมายถึงประเทศ, เผ่าพันธุ์ หรือเชื้อชาติอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ที่ตกลงกันแน่นอนเป็นเอกฉันท์ คือศกะเป็นชื่อของปีหรือยุคที่เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 621

ข้อเท็จจริงที่พึงทราบบางประการ

1. ศาสนาเชนนิยมใช้การเปลี่ยนปฏิทินปีใหม่ 2 แบบ แบบที่หนึ่งเรียกว่ากัตติกาทิ คือเดือน 12 ขึ้น 1 ค่ำ โดยถือเป็นวันปีใหม่หลังวันที่ปะวลี (เทศกาลจุดโคมไฟประทีป) ปีใหม่แบบนี้ยังคงนิยมปฏิบัติกันในเพียงเขตกุชราช ประเทศอินเดียเท่านั้น แบบที่สองเป็นลัทธิธรรมเนียมปฏิบัติในหลายท้องถิ่นคือการเปลี่ยนตามปีวิกรมในเดือนจิตรมาส ศุกลปักษ์ (เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ) อันเป็นช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ปัจจุบันปฏิทินเชนเท่ากับปี 2524 นับแต่วันนิพพานขององค์วีระศาสดาจารย์

2. ตามปฏิทินอินเดียนั้น วันทางจันทรคติคลาดเคลื่อนจากปฏิทินไทย เช่นเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ตรงกับวันที่ 8 เมษายน 1997 (ปฏิทินไทยตรงกับวันที่ 7 เมษายน 2540) และเดือน 12 ขึ้น 1 ค่ำ คือวันที่ 1พฤศจิกายน 1997 (ปฏิทินไทยตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2540)

3. ปฏิทินศกะ หรือ ม.ศ. สันนิษฐานว่าตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ม.ศ. 1 ซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรรอบผ่านเส้นศูนย์สูตรพอดี จึงตั้งให้เป็นเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำเริ่มแรกสุด

4. ประเทศอุษาคเนย์ที่ใช้ จ.ศ. เปลี่ยนตัวเลขใหม่ตรงกันหมดคือในวันที่ 16 เมษายน 1359 (และปี 1360) โดยทั่วไปวันเปลี่ยนจุลศักราชอยู่ในระหว่างวันที่ 15 และ 16 เมษายนของทุกปี ขึ้นอยู่กับการโคจรของดวงอาทิตย์และวันเนาเป็นหลัก

พ.ศ. – พุทธศักราช หรือพุทธศาสนกาล

ในภูมิภาคแหลมทองนี้ ปรากฏว่านิยมใช้อัญชนะศักราช (ก่อน พ.ศ. 147 ปี) (ดูศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2538, หน้า 194-198) บ้าง, ม.ศ. บ้าง, จ.ศ. บ้าง และที่ยังนิยมใช้กันในดินแดนอุษาคเนย์ คือ พ.ศ. ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงทักท้วงว่า ที่ถูกแล้ว พ.ศ. เป็นคำย่อของ “พุทธศาสนกาล ไม่ใช่ว่าพุทธศักราช” (สาส์นสมเด็จ ภาค 4 กรมศิลปากร, 2499, หน้า 247) หมายถึง พุทธศาสนายุกาล จำเดิมแต่ปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตามแนวประเพณีนิยมใน ประเทศศรีลังกา-พม่า-กัมพูชา เริ่มใช้ พ.ศ. ตรงกับวันพระพุทธเจ้าปรินิพพานในปีแรก ส่วนคตินิยมตามปฏิทินไทย-ลาว เริ่มใช้ พ.ศ. หลังพุทธปรินิพพานได้ 1 ปีล่วงแล้ว แต่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกส่วนมากเชื่อว่า พ.ศ. เริ่มใช้เมื่อพระพุทธเจ้าสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนม์ได้ 20 พรรษา

ปฏิทินศรีลังกา

ชาวสิงหลใช้ปฏิทิน มีการกำหนดใช้ปฏิทินวันพระทางจันทรคติทั่วไป เหตุผลหนึ่งที่ปฏิทินไม่ตรงกับปฏิทินแหลมทองทีเดียว ก็เนื่องจากการกำหนดปีอธิกมาส เช่นชาวสิงหลจะมีเดือนเพิ่มเป็นอธิกมาสให้มี 13 เดือนในทุกๆ 4 ปีหนหนึ่ง ในขณะที่ปฏิทินไทยเพิ่มอธิกมาสในระยะทุกๆ 2 ปี ในส่วนการเปลี่ยนตัวเลข พ.ศ. นั้น นิยมกำหนดเอาเดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ คือวันวิสาขะของปีนั้นๆ เป็นเกณฑ์ ขณะที่ไทยโบราณนับเริ่มพุทธศักราชใหม่หลังจากวันวิสาขะนั้นๆ เฉพาะในปี พ.ศ. 2541 วันวิสาขะของไทยตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม ปรากฏว่าตามปฏิทินพระจันทร์เต็มดวงที่ศรีลังกาและอินเดียตรงกับวันที่ 11 เหตุการณ์สำคัญเช่นนี้ รัฐบาลอินเดียถึงกับได้ออกประกาศเป็น วันพุทธะชยันตี (Buddha Jayanti) เพื่อให้เกียรติยศยกย่องพระพุทธเจ้า ในฐานะเป็นบุคคลสำคัญของโลกพระองค์หนึ่ง

ชาวศรีลังกาใช้ปฏิทินวันพระเหมือนแบบฮินดูทั่วไป แต่ก็มีวันคลาดเคลื่อนจากปฏิทินฮินดูบ้าง มีการดัดแปลงเปลี่ยนตัวเลขเป็นปี พ.ศ. ใหม่ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะนั่นเอง ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปทั้งที่เป็นชนเชื้อชาติสิงหลและทมิฬก็มีการเฉลิมฉลองปีใหม่แบบจุลศักราชด้วยเช่นเดียวกัน

ปฏิทินพม่า

จุลศักราชประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1181 สันนิษฐานว่า เป็นศักราชมอญมาก่อน มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์วรมันซึ่งคงจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียตอนใต้ โดยเฉพาะราชวงศ์ปาลวะ ที่แผ่อิทธิพลมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมกับตัวอักษรมอญ-เขมรในยุคต้นๆ ในความเชื่อถือของตำราโหรไทยต่างเชื่อกันว่า จ.ศ. ตั้งขึ้นเมื่อสมัยกษัตริย์พม่าพระนามว่า สังฆราชมุนโสรหัน ซึ่งได้ลาสิกขาออกมาชิงเอาราชสมบัติสำเร็จ เป็นผู้ประกาศใช้

ระบบศักราชพม่าใช้การคำนวณทางจันทรคติและสุริยคติควบคู่กันไป มีชื่อเรียกในอินเดียอย่างเป็นทางการว่าระบบไวศาขิ หรือยุคะธิ คือเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติ เป็นเดือนที่พระจันทร์เสวยฤกษ์จิตรมาส (ประมาณมีนาคม-เมษายน) ตรงกับเดือนเมษายนในระบบสุริยคติ ที่พระอาทิตย์จะเดินทางผ่านจักรราศีเมษ (ดาวแพะ) จึงประกาศถือว่าวันปีใหม่ จะตรงกันกับวันที่ 13 (หรือ 14) เมษายนของทุกปี เมื่อพระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ จึงเรียกเป็นวันมหาสงกรานต์

ปฏิทินพม่านี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย จะเห็นได้ว่าหลายประเทศในปัจจุบันประกาศให้วันที่ 13-14-15 เป็นวันหยุดแห่งชาติ อิทธิพลวัฒนธรรมไวศาขิได้ซึมซับไปถึงประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา, ศรีลังกา และชนเชื้อชาติทางอินเดียตอนใต้ โดยเฉพาะชาวเตลุกู และชาวทมิฬ ตามประวัติเล่าเรื่องเกี่ยวกับต้นกำเนิดวันสงกรานต์ จะเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวข้องหนักไปทางลัทธิพราหมณ์ และลัทธิประเพณีนิยมมากกว่า

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งคือ การพยายามใช้วันเพ็ญวิสาขะในปีที่พระพุทธเจ้าประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน เป็นตัวกำหนดปีใหม่แบบพม่านี้ เพราะได้มีการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และสรุปผลออกมา (อย่างไม่เป็นทางการ) ว่า วันประสูติตรงกับวันอังคารที่ 14 เมษายน ก่อน พ.ศ. 80 บ้าง, ตรงกับวันศุกร์ที่ 25 เมษายน ในปีเดียวกันบ้าง (ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2540, หน้า 204), ในประเทศญี่ปุ่นและบางกลุ่มในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถึงกับกำหนดให้ฉลองวันประสูติของพระพุทธเจ้าว่าตรงกับวันสุรทินที่ 8 เมษายนของทุกปี โดยยึดถือเอาตามเนื้อความในคัมภีร์พุทธจริตฉบับจีน ที่แปลมาจากภาษาสันสกฤต

สิ่งเหล่านี้แสดงว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับ จ.ศ. ในระดับหนึ่งที่ว่าในบางยุคบางสมัยนั้น วันเพ็ญ เดือนวิสาขะ อาจจะตรงกับกลางเดือนเมษายน ประกอบกับเหตุผลที่ว่า คณะกรรมการปฏิรูปปฏิทินศาสนาของอินเดียปี 2500 ยังได้เสนอให้วันที่ 13 เมษายน เป็นเดือนวิสาขะแรกของ 12 เดือน ทางจันทรคติ โดยเริ่มที่พระอาทิตย์สถิตอยู่เส้นรุ้งจริงๆ ตำแหน่งที่ 23 องศา 15 ลิปดา เกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวเลขพุทธศักราชนั้น เนื่องจากพม่าใช้ จ.ศ. เป็นเวลายาวนานในการเปลี่ยนปีใหม่ จึงสันนิษฐานว่าคงจะเปลี่ยนตัวเลข พ.ศ. ใหม่ในวันดังกล่าวนั้นด้วย

ปฏิทินเขมร

ชื่อปีนักษัตร-ชื่อเดือน ชื่อวัน ที่เรียกว่าปีชวด…กุน, เดือนมกราคม…ธันวาคม และวันอาทิตย์…เสาร์ ล้วนเป็นวัฒนธรรมเขมรทั้งนั้น โดยการรับถ่ายทอดชื่อวัน, ชื่อเดือนทางจันทรคติและสุริยคติมาจากภาษาสันสกฤตอีกต่อหนึ่ง เมื่อมองภาพแบบวงกว้างแล้ว วัฒนธรรมปฏิทินเขมรล้วนเป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมชาวภารตะมาก่อน ชาวสยามได้นำมาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นตนอย่างกลมกลืน ชาวเขมรนับถือศาสนาพุทธอย่างแนบแน่น ไม่แพ้ชนชาติอื่นใดในโลก แต่เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวเลข พ.ศ. กลับมี 3 มติที่ยังไม่ลงรอยกัน คือ

1. เปลี่ยนตัวเลขใหม่เหมือน จ.ศ. มตินี้ได้รับการยืนยันอย่างน้อยจากพระสังฆราชของคณะสงฆ์เขมรในต่างประเทศ ท่านอาจารย์มหาโฆสนันดา วัย 73 ปี ประจำวัดเขมรแห่งเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา (ดูเอกสารปฏิทินเขมรเดือนเมษายนประกอบ)

2. เปลี่ยนตัวเลข พ.ศ. ใหม่ โดยนับเอาช่วงเดือน 6 ขึ้น 1 ค่ำ เป็นเกณฑ์ เช่นปีใหม่ พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1998) จะตรงกับวันอาทิตย์ เดือนวิสาขะ (เดือน 6) ขึ้น 1 ค่ำ ซึ่งตรงกับปฏิทินไทยวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2541 หรือก่อนวันวิสาขบูชา 15 วัน

3. เปลี่ยนตัวเลขใหม่ในวันวิสาขบูชา

ปฏิทินไตลาวหรืออ้ายลาว

ปฏิทินฮินดูมีวิธีนับรอบ 60 ปี มีชื่อเรียกปีต่างๆ กัน เช่น ประภวะ, วิภวะ, สุกละ เป็นต้น ทำให้จดจำยาก จึงไม่แพร่หลายเท่าที่ควร วงล้ออายุในรอบปัจจุบันเริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1987 (เริ่มแต่เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำของอินเดียเป็นต้นไป) และจะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน ค.ศ. 2047 ข้างหน้า โดยที่ในแต่ละปีก็ประกอบด้วย 12 เดือน (13 เดือนถ้าปีนั้นเป็นปีอธิกมาส)

ปฏิทินจีนก็เป็นระบบนับทั้งทางสุริยคติและจันทรคติ ใช้การคำนวณตำแหน่งของพระอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นกฎเกณฑ์ มีการกำหนด 60 ปีเป็นรอบหนึ่งเช่นเดียวกันกับอินเดีย ใช้ชื่อ ฟ้า (10) ผสมกับชื่อดิน (12) วงล้อ 60 รอบปัจจุบันเริ่มเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984 ชื่อปีเชียจี้ (ปีหนึ่งชวด)

คตินิยมที่กำหนดถือเอาวงล้อชีวิต 60 ปีของอินเดียและจีนจึงเหมือนกันมากกับปฏิทินอ้ายลาว ซึ่งมี 10 แม่ปีผสมกับ 12 ลูกปีเป็นรอบหนึ่ง ต่างกันแต่ว่าชาวฮินดูมีชื่อเฉพาะของแต่ละปีๆ ถึง 60 ชื่อ ปฏิทินอ้ายลาวจึงเหมือนไปทางปฏิทินจีนมากกว่า วงล้อปัจจุบันเริ่มเมื่อเมษายน พ.ศ. 2527 เป็นการนับผสมเริ่มแต่ปีกาบใจ, ฮับเป้า เป็นต้น วงจรจะครบสมบูรณ์ในเมษายน พ.ศ. 2587 ซึ่งเป็นปีก่าใค้ การนับเช่นนี้ ถือว่าเป็นประดิษฐ์ผลทางภูมิปัญญาแท้ๆ ที่ยังนิยมใช้กันในประเทศลาว, แถวแทบล้านนาไทย, ดินแดนอีสาน และกลุ่มชนชาติไตอื่นๆ

ลูกปีในปฏิทินอ้ายลาวนั้นก็คือนักษัตรสิบสองโดยใช้รูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์ มีที่แตกต่างกับชนชาติอื่นๆ คือ ปีใค้ แปลว่า ปีช้าง ในปฏิทินอื่นๆ ปีกุนเป็นปีหมู และปีมะโรง (งูใหญ่) ปฏิทินอ้ายลาว แปลว่า นาค ซึ่งใกล้เคียงกับความหมายในจีน ที่แปลว่ามังกร เป็นที่น่าสังเกตว่าชื่อปีนักษัตรไทยเหมือนกับเขมรทุกอย่าง ส่วนชื่อในภาษาอื่นๆ แตกต่างกันไป แต่มีสัญลักษณ์รูปสัตว์เหมือนกัน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้เคยเสนอไว้ว่า “สิบสองนักษัตรเอาเป็นแน่ได้ว่ามาทางจีน ทางอินเดียไม่มี เมืองที่ใช้สิบสองนักษัตรตามที่พบทราบเป็นแน่แล้ว มีเมืองเนปาล จีน ญี่ปุ่น เขมร ไทย” (บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม 3, สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 297-298)

…………

ปฏิทินไทย

ปฏิทินไทยนิยมกำหนดใช้ ม.ศ. ปีพระเจ้าศกะใหญ่มาตลอด ปรากฏหลักฐานตามจารึกสมัยสุโขทัยหลายแห่ง และสมัยต้นอยุธยา เช่นหนังสือขอมจารึกบนใบลานเรื่องแม่นางเกื้อนามที่ปริวรรตเป็นไทย มีใจความว่า “ศุภมัสดุ 1416 ปีขาล ขึ้นสิบสองค่ำ เดือนหก วันพุธ ฤกษ์งาม” (สาส์นสมเด็จ ภาค 1, หน้า 55) จึงน่าสันนิษฐานว่ามีการใช้เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ เป็นวันเปลี่ยนปีใหม่ จนต่อมาเมื่ออิทธิพลพม่าได้แพร่ขยายมาถึง จึงได้เปลี่ยนมาใช้ตาม จ.ศ. มีการคำนวณนับทางฝ่ายสุริยคติเพิ่มเข้ามาด้วย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการใช้ผสมคละเคล้ากันไปของศักราชต่างๆ ดังปรากฏในจารึกพระธาตุศรีสองรักว่า

“ตั้งแต่ศุภมัสดุศักราชอดิเรกได้ 1482 โทศก ปีวอก จุลศักราชได้ 922 อตีตะวรพุทธศาสนา ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่นิพพานไปแล้วได้ 2103 ปี” (ท้าวอู่คำ พมวงสา, ความเป็นมาของลาว, กระทรวงการคลังแห่งพระราชอาณาจักรลาว, 2506, หน้า 154) เมื่อคราวสยามประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีในครั้งที่ 1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2112  นั้น จุลศักราชคงได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและอย่างเป็นทางการ

ถึงแม้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2432 (ร.ศ. 108) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ออกพระราชบัญญัติประกาศให้ใช้ศักราชใหม่ชื่อว่ารัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) มีการกำหนดปีนับย้อนหลังตั้งแต่ปี 2325 เป็น ร.ศ. 1 เพราะเป็นปีแห่งการก่อตั้งสร้างกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นศักราชของไทยโดยเฉพาะ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ได้ทรงท้วงติงว่า วันเดือนคลาดเคลื่อนกันอยู่เสมอมา จึงประกาศให้เปลี่ยนหันมาใช้พุทธศักราชแทน ร.ศ. อย่างเป็นทางการจนถึงทุกวันนี้

จากหลักฐานบางชิ้นทางประวัติศาสตร์ ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าปฏิทินไทยมีการแก้ไขดัดแปลงหรือไม่ เช่นเมื่อ จ.ศ. 1000 (พ.ศ. 2181) มีความพยายามที่จะลบศักราช ดังข้อความที่นักปราชญ์คนสำคัญของไทย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า “ที่ว่าพระเจ้าปราสาททองลบศักราชนั้น เมื่อพิจารณาคำเล่าอย่างละเอียดในพระราชพงศาวดาร เป็นว่าลบปี ไม่ใช่ลบศักราช ถ้าคำกล่าวนั้นเป็นความจริงก็ไม่ยังผลให้ศักราชใดๆ เคลื่อนคลาดไปเลย จะเคลื่อนคลาดก็แต่ปีในการแก้ปีให้กุนตกในสัมฤทธิศกนั้น” (สาส์นสมเด็จ ภาค 5, หน้า 247)

เมื่อตรวจดูปฏิทินไทย 150 ปี (2425-2575) จะเห็นว่าทุกปีจะเริ่มต้นจากวันที่ 1 เมษายน สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป หลักฐานในประวัติศาสตร์บอกว่า สมัยเมื่อ พ.ศ. 2430 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศใช้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันปีใหม่ และได้ใช้เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2484 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ประกาศให้เปลี่ยนมาใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสากลนิยม อย่างน้อยที่สุดจะเห็นได้ว่าปีที่มีอายุน้อยที่สุดคือปี พ.ศ. 2483 เพราะมีอายุใช้งานเพียง 1 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม รวมแค่ 275 วันเท่านั้น ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีวันในปี 2483 หายไปทีเดียวรวม 90 วัน

การลบเปลี่ยนปฏิทินนั้นทางฝ่ายตะวันตกก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน เช่นสันตะปาปาเกรโกรี่ ผู้ค้นคิดระบบการปฏิทินเกรโกเรี่ยนที่ใช้ในปัจจุบันนี้ ได้ประกาศให้ 10 วันหายไปจากโลกของชาวคริสเตียน คือเมื่อถึงวันที่ 4 ตุลาคมแล้วก็ให้วันถัดไปเป็นวันที่ 15 ตุลาคม ใน ค.ศ. 1582 (พ.ศ. 2125) เพื่อทำให้ปีต่อไปมีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน ในวันที่พระอาทิตย์โคจรผ่านเส้นศูนย์สูตรในวันที่ 21-22 มีนาคม หลายๆ ประเทศมีประเทศอังกฤษเป็นต้นก็ปฏิบัติตามในเวลาต่อมา จึงไม่ทราบว่าประเทศสยามจะได้รับอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มประเทศตะวันตกในยุคนั้นบ้างหรือเปล่า แต่ที่ทราบแน่ๆ คือว่าประเทศไทยเมื่อมีการเปลี่ยน พ.ศ. ใหม่เมื่อ ปี 2484 เป็นไปตามสมัยนิยมมากกว่าตามความเป็นจริง เพราะสมควรรักษาวิธีเปลี่ยนชื่อปี พ.ศ. ไว้ตามเดิมเหมือนปฏิทินอ้ายลาว

โดยแท้นั้นวันเปลี่ยนศกใหม่ของไทยถือตามศักราชพม่า เมื่อดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษเป็นระยะเวลาร่วม 300 กว่าปี จนฝังเข้าในกระดูกดำของวัฒนธรรมไทย จึงเรียกชื่อว่าเป็นปีใหม่ไทยแบบเก่า แต่คงไม่เก่าแก่มากที่สุด เพราะหลักฐานปี ม.ศ. เป็นประจักษ์พยานเด่นชัดอยู่ในหลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับปฏิทินฮินดู

ไทยเรียกชื่อเดือนแรกทางจันทรคติว่าเดือนอ้าย ตกอยู่ช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และถือเอาเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ (ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน) เป็นวันปีใหม่ไทย แต่ไปฉลองตรุษสงกรานต์ในวันที่ 13 เมษายน เปลี่ยนตัวเลข จ.ศ. ใหม่เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 15 หรือ 16 ถัดไป (ปีใหม่มอญ-เขมร) และเปลี่ยนตัวเลข พ.ศ. ใหม่ในวันที่ 1 มกราคม (ปีใหม่สากล) นี่คือดินแดนมหัศจรรย์จริงๆ จนอดฉงนไม่ได้ว่า ปฏิทินไตลาวน่าจะมีความถูกต้องตามประเพณีโบราณไทยมากกว่า เพราะไทยเองก็เคยร่วมวัฒนธรรมใช้ปฏิทินอ้ายลาวมาช้านาน ก่อนที่จะแยกตัวเป็นอิสระ….

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ปฏิทินอุษาคเนย์” เขียนโดย เบญจะ ชนะสิฏฐิ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2541


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2565