ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบาย “ปฏิทิน” ว่า “น. แบบสำหรับดูวัน เดือน ปี” แต่การเลือกใช้ปฏิทินก็ยังมีรายละเอียดย่อยๆ เฉพาะบุคคลตามพื้นฐานทางวัฒนธรรม เช่น บ้างต้องการแบบที่มีข้างขึ้นข้างแรม จะได้ทราบว่าวันใดวันพระ บ้างต้องการแบบที่มีวันพระจีนและเทศกาลจีนต่างๆ ฯลฯ
แต่ที่ วิภัส เลิศรัตนรังษี เขียนไว้ในบทความ “ ‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5” ปฏิทินไม่ใช่แค่รายละเอียดเล็กๆ ที่พูดถึงกันไป ซึ่งเราคัดย่อมาเพียงบางส่วนให้ได้ดูกันดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำเพิ่ม – โดยผู้เขียน]
หาก “ปฏิทิน” เป็นเครื่องกำกับจังหวะของกิจกรรมส่วนรวมตลอดจนรับประกันความสม่ำเสมอให้กับกิจกรรมต่างๆ เสมอมา รัฐกับสังคมสยามก็ย่อมจะเคยมีจังหวะเวลาและ “อยู่ร่วมเวลาเดียวกัน” ด้วยปฏิทินจันทรคติมาอย่างยาวนานก่อนที่จะเริ่มแบ่งแยกจากกันในปี พ.ศ.2432
ในทุกปีเมื่อถึงพระราชพิธีสงกรานต์ พระโหราธิบดีจะเป็นผู้ถวายปฏิทินฉบับใหม่ให้ทรงประกาศใช้ทั่วพระราชอาณาจักร เพราะหน้าที่อย่างน้อยที่สุดของปฏิทินคือการกำหนดกรอบเวลาของทั้งพระราชอาณาจักร ให้มีทิศทางเดียวกันอย่างหลวมๆ และยังเป็นเครื่องมือที่รัฐจะนำไปใช้ควบคุมกิจกรรมของสังคมด้วย
ดังจะเห็นได้จากการใช้อำนาจบังคับผ่านกำหนดเวลาเกณฑ์ไพร่ การใช้อำนาจพิธีกรรมผ่านวันสำคัญทางศาสนาและพระราชพิธี และการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจผ่านกำหนดวันเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ส่งส่วยภาษี หรือค้าสำเภา เมื่อปฏิทินมีความสำคัญยิ่งยวดเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมรัฐต้องคอยกำชับกำชา องค์กรคณะสงฆ์ที่มีหน้าที่กำกับเวลาของสังคมว่าอย่าปล่อยให้คลาดเคลื่อนได้
แต่การที่ทั้งพระราชอาณาจักรจะใช้ปฏิทินระบบเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกำหนดวันหรือเดือน ให้ตรงกันเสมอไป การเหลื่อมกันของวันตามปฏิทินกับการสังเกตดวงจันทร์ของแต่ละพื้นที่เป็นเรื่องปกติอย่างมาก ความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเช่นวันเพ็ญหรือวันดับที่ไม่ตรงกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้าจริงๆ ยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสมัยนั้น
หากมีความคลาดเคลื่อนกันมากๆ ผู้สร้างปฏิทินก็จะชดเชยวันเดือนที่คลาดเคลื่อนนั้นด้วยการเพิ่มเดือน 8 เข้าไปอีกหน และเรียกปีที่มี 13เดือนนั้นว่า “อธิกมาส” หากไม่ตกลงกันให้เป็นที่แน่นอนว่าจะชดเชยกันเมื่อใด ปฏิทินที่ใช้ก็จะคลาดเคลื่อนจากฤดูกาลจริง ทำให้เข้าพรรษาอาจจะไม่ตรงกับฤดูฝน เริ่มเพาะปลูกแล้วแต่ฝนไม่ตก หรือน้ำท่วมเสียก่อนจะต้องเก็บเกี่ยว ความวิปริตอันเกิดจากปฏิทินที่คลาดเคลื่อนจากฤดูกาลนี้ ดูจะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ราษฎรลุกขึ้นต่อต้านพระเจ้าแผ่นดินอยู่ไม่น้อย เพราะในยุคสมัยดังกล่าวความเข้าใจเรื่องฤดูกาลหรือดินฟ้าอากาศ “มักจะเป็นไปตามอาการของพระเจ้าแผ่นดินประพฤติ”
ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4, ครองราชย์ พ.ศ.2394-2411) พระองค์ต้องการจะทำให้ทั้งพระราชอาณาจักร “อยู่ร่วมเวลาเดียวกัน” ให้ได้มากที่สุด จึงปรากฏความพยายามของรัฐที่จะกำกับสังคมให้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยพร้อมเพรียงกันผ่าน “ประกาศสงกรานต์” ที่ได้เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยนี้ ส่วนความคลาดเคลื่อนสะสมในปฏิทินที่ใช้อยู่ก็คงจะสร้างปัญหาให้รัฐอยู่ไม่น้อย
พระองค์ได้เสนอให้ใช้ปฏิทินระบบเกรกอเรียนที่แบ่งเดือนอย่างสม่ำเสมอมาแก้ปัญหาความคลาดเคลื่อนจากฤดูกาลจริง แต่หลังจากทรงทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่งแล้วก็พบว่าปฏิทินใหม่นี้ไม่สามารถสื่อสารกับสังคมได้อย่างที่คาดหวัง เพราะวิธีการ “แปล” ปฏิทินเกรกอเรียนมาเขียนในระบบสัญลักษณ์ของปฏิทินไทย กลับทำให้ผู้อ่านที่คุ้ยเคยกับปฏิทินไทยมาก่อนรู้สึกขัดแย้งกับสามัญสำนึกในทันทีว่า “ปลายเดือนก็ไม่ได้กับวันดับ กลางเดือนก็ไม่ได้กับวันเพ็ญ”
แต่อย่างไรก็ตาม การใช้งานปฏิทินของชาติอื่นๆ ในทางราชการแล้วกลับไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เราอาจกล่าวได้ว่ารัฐเลือกที่จะใช้ปฏิทินแต่ละฉบับให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องทำโดยเสมอก็ได้ ดังจะเห็นได้จากการใช้ “ปฏิทินจีน” สำหรับดูวันเดือนเพื่อบอกฤดูลมข้างจีน ดังที่เคยมีรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3, ครองราชย์ พ.ศ.2367-2394) ให้เคลื่อนกองทัพเรือจากกรุงเทพฯ ไปยังสงขลานอกฤดูลมเอาไว้ว่า “ออกไปเถิด รดูนี้ก็ยังเปนรดูลมสะดวกดอก คิดดูเปนรดูล่าไม่เหมือนทุกปี ปีนี้ข้างจีนเดือน 8 สองหน ถ้าจะคิดตามเดือน 8 สองหนแล้ว เดือนสี่ก็เปนเดือนสาม ถูกกับรดูลม ดูเลือกแม่ทัพนายกองออกไปเถิด”
ส่วนกรมกองราชการต่างๆ ก็ย่อมจะต้องมีปฏิทินฉบับอื่นๆ สำหรับการแปลหรือเทียบวันเดือนในใบบอกให้เป็นเวลาของกรุงเทพฯ เช่น กรมมหาดไทยก็ต้องมี “ปฏิทินเหนือ” สำหรับแปลงเวลาจากหัวเมืองล้านนาและล้านช้าง กรมพระกลาโหมก็ต้องมี “ปฏิทินแขก” สำหรับแปลงเวลาของหัวเมืองแขกมลายู ส่วนกรมท่าอาจจะมีหลายฉบับกว่ากรมอื่น คือต้องมีทั้ง “ปฏิทินจีน” “ปฏิทินแขก” และ “ปฏิทินยุโรป” เพราะต้องใช้ในการติดต่อค้าขายและการทูตเป็นประจำ
ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 การตั้งหน่วยงานตรวจสอบบัญชีหรือ “ออดิตออฟฟิศ” และ “กรมพระคลังมหาสมบัติ” ตอนต้นรัชกาลก็ยังใช้ระบบจันทรคติอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการทำสมุดบัญชีที่กฎหมายเรียกว่า “ปฏิทิน สำหรับจดบาญชีตรางเดือนกำหนดเงิน ให้ทราบว่าจะต้องใช้ในการข้างน่า มีความว่าวันนั้นจะต้องใช้เงินให้แก่ผู้นั้นเท่านั้น”
แนวคิดของ “สมุดปฏิทิน” ที่ว่านี้มาจากรากศัพท์ของคำว่า Calendar ของตะวันตกมากกว่าจะเป็นรากศัพท์ของคำว่าปฏิทินที่ภาษาไทยนำมาใช้อย่างชัดเจน เพราะคำว่าปฏิทินที่ใช้ในภาษาไทยมาจาก “ปรติทิน” ที่แปลว่า เฉพาะวัน สำหรับวัน แต่คำว่าปฏิทินในภาษาอังกฤษมาจากรากศัพท์ภาษาละตินที่ว่า Calendarium ที่แปลว่า Account Book หรือสมุดบัญชี เพราะจุดกำเนิดของปฏิทินและการทำบัญชีของชาวตะวันตกเป็นสิ่งเดียวกันมาก่อน๒๑
ความโดดเด่นของระบบจันทรคติยังสะท้อนออกมาในข้อกำหนดวิธีการส่งเงินภาษีอากร ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์จะไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มอีกหนึ่งเดือนในปีที่เป็นอธิกมาส “พระราชทานยกเดือนอธิกมาสในจำนวนปีมเมียสัมเรทธิศกนี้ให้เดือนหนึ่ง” แต่เมื่อการปฏิรูปการเงินการคลังเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลของรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว “ถ้าปีใดเป็นอธิคะมาตก็ให้เจ้าภาษีบวกเงินอากรทูลเกล้าถวายขึ้นอีกเดือนหนึ่ง” ทั้งยังกำหนดให้ต้องส่งเงินภาษีอย่างเคร่งครัดทุกๆ เดือนแทนการจ่ายเป็นงวด ส่วนการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ยังไม่ได้บังคับทุกหน่วยงาน บังคับใช้ได้แต่กรมใหม่ๆ ที่เพิ่งตั้งขึ้นเท่านั้น เช่น กรมไปรษณีย์ กรมโทรเลข กรมแผนที่ กรมทหารหน้า เป็นต้น
แม้ว่าการเพิ่มเดือนในปีอธิกมาสจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็จะตามมาด้วยการจ่ายเงินเดือนเพิ่มอีกเช่นกัน
เพราะแนวคิดตั้งต้นที่จะสร้างระบบราชการสมัยใหม่ คือการทำให้ข้าราชการไม่เป็นอิสระจากรัฐด้วยเงินเดือน หากรัฐบาลยืนกรานที่จะใช้ระบบจันทรคติต่อไปเช่นนี้ ก็หมายความว่าทุกๆ 19 ปี ก็จะต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มอีก 7 เดือนตามรอบการชดเชยปฏิทิน การตระหนักได้ถึงปัญหานี้ทำให้รัฐบาลเมจิตัดสินใจยกเลิกปฏิทินจันทรคติทั้งของรัฐและสังคมพร้อมกัน โดยมั่นใจว่าจะเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จภายใน 3 ปีอีกด้วย
แต่ในกรณีของสยามนั้นไม่พบว่ามีการพูดถึงประเด็นนี้ การจ่ายเงินเดือนของข้าราชการกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขก็ยังใช้ปฏิทินจันทรคติมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่ง 4 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2431 ซึ่งจะตรงกับวันที่ 1 มกราคมของปฏิทินยุโรป กรมไปรษณีย์จึงได้มีคำสั่งให้เจ้าเมืองต่างๆ จ่ายเงินเดือนเจ้าพนักงานไปรษณีย์ด้วยปฏิทินยุโรปที่ส่งไปให้ คำสั่งนี้เกิดขึ้นหลังจากทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินไปเพียง 8 เดือนเท่านั้น และความรีบร้อนที่จะประกาศใช้ยังเห็นได้จากการใช้ปฏิทินยุโรปที่ทับศัพท์ไปพลางก่อนด้วย
แน่นอนว่ารัฐบาลคงจะไม่ได้ใช้เวลาแค่ 4 เดือนนั้นคิดการเปลี่ยนปฏิทิน ดังจะเห็นได้ต่อไปข้างหน้าว่ามีการเตรียมการดังกล่าวมาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว แต่การรับรู้นี้ยังจำกัดในหมู่ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ เท่านั้น แกนนำคนสำคัญที่ดำเนินการอย่างลับๆ คือพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ที่มีผลงานเกี่ยวกับปฏิทินมาตั้งแต่พระชนมายุ 18 พรรษา กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2491 พระองค์ได้เผยแพร่ปฏิทินยุโรปลงหนังสือข่าวราชการเป็นครั้งแรกปีต่อมา ทรงสร้างปฏิทินเทียบวันเดือนอย่างไทยและ “วันฝรั่งอย่างนิวสะไตล์” (ระบบเกรกอเรียน) ลงในหนังสือมิวเซียม ฤา รัตนโกษ ปี พ.ศ.2422 (เป็นอย่างช้า) ทรงทำตารางเทียบปฏิทินไทยและยุโรปสำหรับใช้จดพระราชกิจรายวัน ปีต่อมามีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกออดิตออฟฟิศและโอนงานตรวจบัญชีไปอยู่กรมบาญชีกลาง พระองค์ก็ย้ายไปรับตำแหน่งราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศพร้อมทั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมบัญชีกลางด้วย
จากภาระงานทั้งสองตำแหน่งนี้เองกระมังที่ทำให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้ต้องคลุกคลีอยู่กับการใช้ปฏิทินไทยและปฏิทินยุโรปอยู่เป็นนิจ จนนำไปสู่การศึกษาเปรียบเทียบปฏิทินระบบต่างๆ และหลังจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัยไปเพียง 7 วัน พระองค์ก็บันทึกว่าได้เริ่มสร้างตารางปรับเทียบปฏิทินไทยและยุโรปขึ้นแล้ว ซึ่งในวันเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) น้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่าจะทรงยึดโรงภาษีกรมท่าเพื่อเริ่มการสะสางบัญชีภาษีที่คั่งค้างด้วย
การสร้างตารางปรับเทียบนี้จะแตกต่างจากการปรับเทียบที่ทรงเคยทำมาก่อนหน้าทั้งหมด (และรวมถึงการแปลปฏิทินของรัชกาลที่ 4) เพราะจะเป็นคู่มือสำหรับการสะสางปฏิทินที่ผู้ใช้งานจะสามารถเปรียบเทียบปฏิทินใหม่ (เกรกอเรียน) กับปฏิทินเก่า (จันทรคติ) ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที โดยไม่ต้องมาเสียเวลาคำนวณให้ยุ่งยากอีก ผู้เขียนสันนิษฐานว่าตารางปรับเทียบนี้น่าจะเสร็จสมบูรณ์ก่อนที่พระองค์จะไปรับตำแหน่งเสนาบดีกรมท่าแทนเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ที่ลาออกในปี พ.ศ.2428 เพราะในปีรุ่งขึ้นพระองค์ได้เขียนคำอธิบายขนาดยาวถึงวิธีการใช้ตารางดังกล่าวลงในวชิรญาณวิเสศแล้ว
จะเห็นได้ว่าต้องใช้เวลากว่า 1 ทศวรรษในการแปลระบบเกรกอเรียนเข้ามาใช้ แต่ก็ยังมีปริศนาอยู่ว่าทำไมต้องรอจนถึงปี พ.ศ.2432 ถึงจะประกาศอย่างเป็นทางการ ความเป็นไปได้ที่สุดก็คือการรอคอยเวลาที่เหมาะสม เพราะการปรับโครงสร้างการปกครองในปี พ.ศ.2431 ยังเป็นเพียงคณะเสนาบดีชุดทดลองที่การบริหารราชการจริงๆ ยังอยู่ในมือเสนาบดีจตุสดมภ์ตามเดิม แต่การเปลี่ยนปฏิทินนั้นแตกต่างออกไป เพราะถูกนำไปใช้งานจริงในทันทีที่ประกาศ และในปี ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) นี้เอง ยังเป็นปีแรกที่ราษฎรที่เกิดในรัชกาลของพระองค์จะบรรลุนิติภาวะ (21 ปี) ซึ่งรวมไปถึงลูกทาสที่จะปลดตัวเองเป็นไพร่กลุ่มแรกด้วย ผู้เขียนจึงคิดว่าน่าสนใจไม่น้อย ถ้าหากการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างที่จะเริ่มขึ้นในปีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ
หลังจากประกาศใช้ปฏิทินใหม่ไปแล้วครึ่งปี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ ก็ตีพิมพ์คำอธิบายการใช้ปฏิทินดังกล่าวลงในหนังสือ “ประติทินบัตรแลจดหมายเหตุ” โดยใช้คำอธิบายที่เข้าใจง่ายกว่าที่เคยมีการตีพิมพ์ในที่ใดๆ มาก่อน เพราะพระองค์ต้องการจะเผยแพร่ให้ราษฎรนอกพระนครได้รับทราบ ภายหลังมีการเรียกปฏิทินใหม่นี้อย่างลำลองว่า “เทวะประติทิน” ตามพระนามของผู้สร้าง
ส่วนการเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินใหม่ตามหัวเมือง จากการสำรวจใบบอกแล้วพบว่าต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเต็มจึงจะเปลี่ยนได้ทั่วพระราชอาณาจักร
โดยสรุปแล้ว ประกาศ “ให้ใช้วันอย่างใหม่” ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงถึง 4 ประการในเวลาต่อมาคือ
1. ทำให้ระบบราชการอยู่ร่วมเวลาเดียวกัน หัวเมืองประเทศราชที่เคยใช้ปฏิทินของตัวเองก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินของกรุงเทพฯ จึงกล่าวได้ว่าประเทศราชเหล่านี้ถูกผนวก “เวลา” ไปก่อน “พื้นที่” เสียอีก
2. ทำให้สยามอยู่ร่วมเวลาเดียวกับคนอื่น (“แลรู้ทั่วไปในประชุมชนโลกย์นี้ได้มาก”) ซึ่งคนอื่นในที่นี้หมายถึงชาติในยุโรปเพราะใช้ระบบเกรกอเรียนเป็นพื้นฐานเหมือนกัน
3. แก้ปัญหาการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของรัฐบาล โดยแยกการสะสางภาษีและบัญชีตามปฏิทินเก่าออกไปจาก พรบ.วิธีงบประมาณแผ่นดินฉบับใหม่ ที่จะประกาศใช้ในปีต่อมา
4. แยกเวลาของรัฐออกจากสังคม นั่นคือปฏิทินใหม่จะบังคับใช้เฉพาะระบบราชการเท่านั้น ส่วนปฏิทินเก่าจะยังคงควบคุมเวลาของศาสนจักรและสังคมตามเดิมต่อไป
ข้อมูลจาก
วิภัส เลิศรัตนรังษี. “ ‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2563.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2564