“นกพิราบสื่อสาร” นวัตกรรมการติดต่อทางไกลอายุนับพันปี มีที่มาและฝึกนกอย่างไร?

นกพิราบ นกพิราบสื่อสาร ถูกปล่อย จาก รถถัง
นกพิราบถูกปล่อยออกจากรถถัง ระหว่างการรบที่อาเมียง, ปี 1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 (ภาพจาก Imperial War Museums 2022)

“นกพิราบสื่อสาร” นวัตกรรมการติดต่อทางไกลอายุนับพันปี มีที่มาและฝึกนกอย่างไร?

เมื่อกล่าวถึงวิธีการสื่อสารทางไกลในอดีตก่อนยุคโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต หลายท่านต้องเคยเห็นผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ มาแล้วว่ามีทั้งการใช้คน (ขี่ม้า) รวมถึงการใช้นก ซึ่งนกส่วนใหญ่ที่เห็นกันก็จะมีทั้ง กา เรเวน และ “นกพิราบ” นั่นทำให้คนจำนวนมากมีภาพจำถึงนกพิราบทั้งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ และสัตว์ที่ทำหน้าที่ส่งจดหมายด้วย

คำถามคือ วิธีการสื่อสารด้วยนกพิราบเกิดขึ้นได้อย่างไร เริ่มต้นหรือถูกพัฒนาขึ้นที่ไหน และมีกระบวนการอย่างไรกันแน่

ประเด็นแรก นกพิราบสื่อสาร มีมานานมากแล้ว และใช้กันอยู่นานหลายพันปีด้วย การใช้สัตว์เป็นตัวแทนในการส่งจดหมายเกิดจากอุปสรรคหลาย ๆ ประการที่เกิดจากการใช้คน หรือคนขี่ม้า เพราะหากข้อมูลในจดหมายเป็นความลับ เจ้าของจดหมายหรือข้อมูลนั้นย่อมเผชิญกับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนในประเด็นความสื่อสัตย์ของผู้ทำหน้าที่ส่งจดหมาย รวมถึงเหตุไม่คาดฝันอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อุบัติเหตุ การปล้นชิง จึงนำไปสู่การนำสัตว์ปีกอย่างนกพิราบมาส่งจดหมายแทนมนุษย์

ชาวอียิปต์โบราณคือคนกลุ่มแรก ๆ ที่ใช้นกพิราบสื่อสารทางไกลเมื่อราว 5,000 ปีก่อน หรือ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล มีบันทึกว่า ในสมัย ฟาโรห์รามเสสที่ 3 (Ramses III, 1200 ปีก่อนคริสตกาล) มีการใช้นกพิราบเพื่อส่งจดหมายแจ้งเตือนข่าวน้ำท่วมแก่เมืองต่าง ๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำไนล์ของอาณาจักรอียิปต์

วิธีดังกล่าวใช้เรื่อยมาในสมัยของชาวกรีกและโรมัน พลินี (Pliny) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันบันทึกว่า ปีที่ 43 ก่อนคริสตกาล เดซิมุส บรูตุส (Decimus Brutus) สลายการปิดล้อมของ มาร์ค แอนโทนี ที่เมืองมูทิน่า (Mutina) ได้สำเร็จ เพราะเขาส่งจดหมายขอความช่วยเหลือไปยังกงศุลที่กรุงโรมด้วยนกพิราบ นอกจากนี้ ชาวโรมันยังใช้นกพิราบเพื่อแจ้งผลการแข่งขันรถม้าแก่เหล่าเจ้าเมืองและอารักษ์ที่อยู่ในเมืองห่างไกลด้วย

การส่งจดหมายผ่าน นกพิราบสื่อสาร แพร่หลายมากขึ้นในตะวันออกกกลางโดยชาวเปอร์เซีย โดยเฉพาะหลังการกำเนิดศาสนาอิสลาม เมื่อชาวอาหรับก้าวเข้ามามีบทบาทในการปกครองตะวันออกกลาง พวกเขาพัฒนาและขยายเส้นทางการสื่อสารด้วยนกพิราบไปทั่วจักรวรรดิ

ศตวรรษที่ 12 นครต่าง ๆ ในจักรวรรดิอิสลามมีเครือข่ายนกพิราบสื่อสารที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพสูงมาก โดยเฉพาะบริเวณซีเรียกับกรุงแบกแดดในอิรัก ชาวอาหรับขยายเครือข่ายการสื่อสารด้วยนกพิราบตั้งแต่หัวเมืองในตะวันออกกลาง ไปถึงคาบสมุทรไอบีเรียทางตะวันตกในทวีปยุโรป นับเป็นยุคเฟื่องฟูของนกพิราบสื่อสาร ก่อนเกิดสงครามครูเสดระหว่างชาวยุโรปและอาณาจักรอิสลาม

เครือข่ายไปรษณีย์แห่งจักรวรรดิมองโกลของเจงกิสข่านเองก็ใช้ประโยชน์จากนกพิราบสื่อสาร นอกจากมีสถานีที่เป็นคอกม้าสำหรับให้ทหารเปลี่ยนม้าระหว่างเดินทางไกลเพื่อแจ้งข่าวแล้ว ชาวมองโกลยังจัดตั้งสถานีนกพิราบขึ้นทั่วจักรวรรดิ ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปกครองจักรวรรดิทางบกขนาดใหญ่นี้ได้อย่างทั่วถึงด้วย

สำหรับนกพิราบที่ใช้ส่งจดหมายนั้นจะเป็นพันธุ์เฉพาะ ชื่อว่า “Homing Pigeon” เป็นพันธุ์ที่ใช้ฝึกสำหรับการนำส่งจดหมายโดยเฉพาะ เพราะเป็นนกที่มีนิสัยชอบบินกลับบ้าน สามารถจดจำทิศทางและเส้นทางในการบินกลับรังของตนได้อย่างแม่นยำ ลักษณะเด่นอีกประการ คือ มันสามารถบินได้ในระยะทางไกล ๆ โดยไม่ต้องพักเหนื่อย

วิธีการฝึกนกพิราบให้ส่งจดหมายได้ เริ่มจากการสร้างบ้านหรือรังสำหรับนกก่อน ให้นกจดจำรังของตนเอง เมื่อมนุษย์เดินทางไปที่ใดที่หนึ่งก็จะนำนกพิราบติดไปด้วย จากนั้นส่งข่าวโดยติดข้อความไปกับตัวนกหรือพันติดขาก่อนปล่อยนกไป นกพิราบก็จะนำข้อความกลับไปยังบ้านหรือรังที่ตนจากมา

สำหรับการส่งจุดหมายไป-กลับ มนุษย์สามารถฝึกนกพิราบโดยสร้างรังนกและจุดที่นกได้รับอาหารให้อยู่คนละที่กัน นกพิราบจะจดจำสถานที่เหล่านั้น และบินไป-กลับระหว่างรังกับแหล่งอาหารได้ โดยปกติการส่งจดหมายผ่านนกพิราบจะไม่ส่งแบบ 1 ฉบับ ต่อ 1 ตัว เพราะมีโอกาสที่นกจะไปไม่ถึงจุดหมาย ทั้งจากฝีมือมนุษย์ ศัตรูทางธรรมชาติของนกพิราบอย่างนกเหยี่ยว ผู้ส่งจดหมายจึงนิยมจึงส่งจดหมายเรื่องเดียวกันหลาย ๆ ฉบับ ไปกับนกพิราบทีละหลาย ๆ ตัว เพื่อให้มั่นใจว่า ต้องมีนกพิราบตัวใดตัวหนึ่งนำจดหมายไปถึงมือผู้รับอย่างแน่นอน

นี่คือวิธีพื้นฐานในการกระบวนการส่งจดหมายด้วยนกพิราบ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณจนถึงสมัยใหม่ ซึ่งถือว่ายาวนานอย่างมาก

ค.ศ. 1800 มีบริการนกพิราบสื่อสารโดยรัฐอย่างเป็นทางการทั่วประเทศฝรั่งเศส ช่วงทศวรรษ 1870 ยังมีบริการนกพิราบสื่อสารระหว่างกรุงปารีสกับกรุงลอนดอนด้วย ช่วงเวลาเดียวกันนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสมีการการส่งเอกสารทางราชการจำนวนมหาศาล ซึ่งจำนวนเกินครึ่งคือเอกสารลับ พวกเขาจำเป็นต้องใช้วิธีที่มีคุณภาพมากกว่าการใช้นกพิราบ จึงเกิดเป็นธุรกิจไปรษณีย์ขึ้นพร้อมการว่าจ้างบุรุษไปรษณีย์จำนวนมาก การใช้นกพิราบส่งจดหมายในยุโรปจึงค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง

อย่างไรก็ตาม นกพิราบสื่อสารมีบทบาทอย่างมากในสมัยสงครามโลก มีการใช้นกพิราบอย่างแพร่หลายในช่วงสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ระหว่าง ค.ศ. 1939-1945 นกพิราบเป็นส่วนสำคัญในภารกิจของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามต่อต้านการยึดครองของเยอรมนี พวกมันช่วยนักบินจำนวนมากให้รอดพ้นอันตราย เพราะพวกเขาจะนำนกพิราบติดตัวไปด้วย เพื่อใช้นำข่าวสาร รวมถึงการขอความช่วยเหลือกลับมายังหน่วยกู้ภัย ในกรณีที่เครื่องบินประสบอุบัติเหตุพุ่งตกลงในทะเล ช่วงสงครามโลกจึงมีทหารจำนวนมากรู้สึกเป็นหนี้ชีวิตนกพิราบ และเห็นความสำคัญของการใช้นกพิราบสื่อสาร

ารใช้ นกพิราบสื่อสาร ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงอีกครั้งหลังการเกิด โทรเลข โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต กระนั้น เมื่อ ค.ศ. 1970 มีข้อมูลว่า CIA หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ยังคงใช้นักพิราบสื่อสารสำหรับภารกิจลับทางราชการบางอย่างอยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Epsom & Ewell History Explorer : Pigeon Post

Mary Mcmahon, HistoricalIndex : What is Pigeon Post?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2565